มุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ไม่ได้มีแค่ทะเล วันนี้แอดจะชวนเพื่อน ๆ เปลี่ยนบรรยากาศเข้าป่ามาส่องสัตว์กันค่ะ “อุทยานแห่งชาติกุยบุรี” เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า มีพรรณไม้หายาก และยังเป็นสวรรค์ของสายเที่ยว Wildlife เลยล่ะ เพราะเราจะได้เห็นสัตว์ป่าจำนวนมากท่ามกลางธรรมชาติแบบใกล้ชิด ที่สำคัญอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อีกด้วย ยิ่งในสถานการณ์ช่วงนี้ นั่งทำงานกันอยู่บ้านกันนาน ๆ คงจะเบื่อกันใช่มั้ย แต่เราคงต้องชะลอการเดินทางท่องเที่ยวไว้ก่อน แหล่งท่องเที่ยวหลายพื้นที่ก็ยังไม่เปิดให้บริการ แต่เพื่อน ๆ เก็บข้อมูลเส้นทางเหล่านี้ไว้ได้นะคะ รอให้สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้กลับมาเปิดต้อนรับเราอีกครั้ง ออกไปเปิดหูเปิดตากับธรรมชาติเขียว ๆ กันนะ หากใครยังไม่เคยมา ต้องลองไปเห็นกับตาดูสักครั้งบอกเลยว่า feel good มาก ๆ : ) สำหรับทริปนี้ เพื่อความสะดวก เพื่อน ๆ สามารถเริ่มต้นจากอำเภอหัวหิน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็จะถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีแล้วค่ะ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีค่าบริการเข้าอุทยานฯ: ผู้ใหญ่ 200 บาท อุทยานแห่งชาติกุยบุรี บ้านย่านซื่อ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร. 08 1776 2410, 0 3251 0453https://goo.gl/maps/e6V5B3n6zgrJiHuy7 ในอดีตพื้นที่ป่ากุยบุรี เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริว่า ควรฟื้นฟูป่า สร้างแหล่งอาหารแหล่งน้ำให้ช้างป่า เพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมาหาอาหารในเขตการเกษตรของชาวบ้าน “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงถือกำเนิดขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างดี ช้างป่าเพิ่มจำนวน พืชไร่ของชาวบ้านปลอดภัย และผืนป่าก็กลับมาสมบูรณ์ กิจกรรมที่ห้ามพลาดคือ กิจกรรมชมช้างป่าและชมกระทิง ที่จะออกมาหากินเป็นฝูงแบบนี้ หากโชคดีอาจได้เห็น วัวแดง ที่อาศัยรวมอยู่ในฝูงกระทิงอีกด้วย แอดบอกเลยว่า หากใครเป็นสายถ่ายรูป Wildlife ต้องไม่พลาดที่นี่ คือดีงามสุด ๆ ขอบคุณรูปภาพจากเพจ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – Kui Buri National Park กิจกรรมชมสัตว์ป่าที่นี่จะอยู่ภายใต้การควบคุมความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สำหรับการเดินทางเข้าไปชมสัตว์ ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปเอง เนื่องจากสัตว์ป่าภายในอุทยานฯ มีจำนวนมากและออกหากินกระจายในพื้นที่ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากไม่ชำนาญเส้นทาง นักท่องเที่ยวสามารถเหมารถของชมรมท่องเที่ยวอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ผ่านการอบรมและทำหน้าที่ร่วมกับอุทยานฯ พานักท่องเที่ยวเข้าไปชมสัตว์ตามจุดต่าง ๆ ขอบคุณรูปภาพจากเพจ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – Kui Buri National Park ข้อปฏิบัติในการเข้าชมสัตว์ป่า หากเจอสัตว์ป่าระหว่างทาง นักท่องเที่ยวต้องอยู่บนรถ ไม่ควรเข้าไปใกล้กับช้างป่าหรือสัตว์ป่าทุกชนิด ไม่ส่งเสียงดัง ใช้กล้องไม่เปิดแฟลช และไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่า เนื่องจากทางอุทยานฯ จะทำแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่าอยู่แล้ว เช่น โป่งเทียม หรือการทำแปลงหญ้า ช่วงเวลาที่อนุญาตให้เข้าชมสัตว์ป่า คือ 14.00-17.00 น. ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงในการชม (ขึ้นอยู่กับการตกลงกันว่าจะชมนานแค่ไหน) กิจกรรมชมสัตว์ป่า นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ภายใน 1 วัน หรือหากอยากจะพักค้างคืนก็มีที่พักโฮมสเตย์ให้บริการ ขอบคุณรูปภาพจากเพจ ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ค่าบริการรถเข้าชมรวมไกด์นำเที่ยว-คันละ 850 บาท นั่งไม่เกิน 8 คน ขอบคุณรูปภาพจากเพจ ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถชื่นชมธรรมชาติไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่าง ๆ ภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระยะทางประมาณ 800 เมตร ถึง 3,000 เมตร หนึ่งในเส้นทางที่น่าสนใจก็คือ การไปชมตอไม้จันทน์หอม ที่ใช้สร้างพระบรมโกศของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม้จันทน์หอม จัดเป็นไม้มีค่าและหายาก มีกลิ่นหอมทุกส่วนของลำต้น ตั้งแต่ แก่น เปลือก กระพี้ พบมากที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีนี่เอง อีกจุดที่แนะนำก็คือ น้ำตกแพรกตะคร้อ น้ำตกขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำปราณบุรี แตกแขนงเป็นลำธารไหลคดเคี้ยวไปทั่ว ทิวทัศน์สวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทำให้น้ำตกแพรกตะคร้อมีน้ำใส ไหลเย็นตลอดทั้งปี แต่ถ้ามาเที่ยวช่วงฤดูฝน แนะนำให้ใช้รถ 4WD ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี บ้านรวมไทยมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์หลายอย่าง หากสนใจลองติดต่อได้ค่ะโทร. 08 5266 1601 (พี่บัว) ช้างป่าโฮมสเตย์ค่าที่พัก คนละ 200 บาท ไม่รวมอาหารค่าที่พัก คนละ 750 บาท รวมอาหาร 2 มื้อ (พาขึ้นไปชมพระอาทิตย์ยามเช้า บริการชา กาแฟ) ขอบคุณรูปภาพจากเพจ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – Kui Buri National Park