สถานที่ท่องเที่ยว

🔸 เขามัทรี : ชุมพร🔸

จุดชมทิวทัศน์ที่ตั้งบนยอดเขาไม่ไกลจากตัวเมืองชุมพร สามารถชมทัศนียภาพได้โดยรอบ 360 องศา ทั้งชมพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ซึ่งมองเห็นชายทะเลปากน้ำชุมพรและหาดภราดรภาพ ชมพระอาทิตย์ตกลับหลังทิวเขาจากฝั่งตะวันตก ซึ่งมองเห็นตัวเมืองชุมพร ท่าเทียบเรือประมง ชุมชนปากน้ำชุมพร และทางทิศเหนือมองเห็นปากน้ำชุมพร ซึ่งเป็นจุดที่คลองท่าตะเภาไหลออกสู่ทะเล นอกจากนี้บนเขามัทรียังมีรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางมหาราชลีลาตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของลานชมทิวทัศน์ มีร้านจำหน่ายของว่าง ร้านกาแฟ และห้องน้ำให้บริการนักท่องเที่ยว ⏰ เขามัทรีเปิดให้ท่องเที่ยวทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-19.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม ช่วงเวลาที่แนะนำในการท่องเที่ยว คือ ช่วงเวลาเย็นจนถึงพลบค่ำ เพราะนอกจากจะได้ชมพระอาทิตย์ตกลับทิวเขาแล้ว หลังจากท้องฟ้าเริ่มมืดจะได้เห็นแสงไฟจากชุมชนที่อยู่เบื้องล่าง รวมทั้งแสงไฟจากเรือประมงขนาดเล็กจำนวนมากที่ออกหาปลาและลอยลำอยู่ในทะเลแถบปากน้ำชุมพร เป็นทัศนียภาพที่สวยงามทีเดียว 🚙 การเดินทาง : จากตัวเมืองชุมพร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4001 (ชุมพร-ปากน้ำ) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4119 จนถึงสามแยกตำบลปากน้ำ ให้เลี้ยวขวาเข้าใช้ทางหลวงหมายเลข 4098 ตรงไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบทางขึ้นเขามัทรีอยู่ริมถนนทางซ้ายมือ รถยนต์เล็กทุกชนิดสามารถขับขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ เส้นทางค่อนข้างชันและโค้งหักศอกในบางช่วง ควรใช้ความระมัดระวัง พิกัด : https://goo.gl/maps/jZmgM4f4L4paDpbu8

🔸 เขามัทรี : ชุมพร🔸 อ่านเพิ่มเติม

จุดชมวิวผาช้างน้อย จ.พะเยา

หากเพื่อน ๆ คนไหนกำลังหาที่เที่ยวที่จังหวัด #พะเยา อยู่ วันนี้แอดมีอีกหนึ่งสถานที่ที่พลาดไม่ได้ถ้าได้ไปจังหวัดพะเยามาฝากกันค่ะ นั่นก็คือ #จุดชมวิวผาช้างน้อย นั่นเอง จุดชมวิว #ผาช้างน้อย มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบคล้ายลานกว้าง จะเห็นภูเขาหินลูกหนึ่งโผล่ขึ้นมาโดยรอบ ๆ มีภูเขาโอบล้อมอยู่ จากจุดชมวิวจะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่ลอยปกคลุมไปทั่วบริเวณ แม้ในตอนที่ไม่มีหมอกผาช้างน้อยก็ดูสวยงามไปอีกแบบ บริเวณจุดชมวิวผาช้างน้อยมีที่พักเปิดให้บริการหลายแห่ง หรือหากขับรถผ่านอยากแวะจิบกาแฟชมวิวไปด้วยก็มีร้านกาแฟให้บริการด้วยเช่นกัน

จุดชมวิวผาช้างน้อย จ.พะเยา อ่านเพิ่มเติม

✨เที่ยวเมืองเหนือก่อนสิ้นปี ที่เชียงราย-พะเยา✨

ช่วงนี้หลายคนเริ่มมองหาที่เที่ยวทางภาคเหนือกันแล้ว ภาคเหนือมีทั้งเมืองหลักเมืองรอง น่าเที่ยวไปหมด สำหรับคนที่เที่ยวเมืองหลักปรุโปร่งแล้ว ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวเมืองรองกับแอดได้นะ แอดมีเส้นทางเชียงราย-พะเยา 2 วัน 1 คืนมาเสนอ เที่ยวสนุก ผู้คนน่ารัก แหล่งท่องเที่ยวหลากหลายน่าสนใจ ทั้งศิลปะ ธรรมชาติป่าเขา และวัดวาอาราม ทริปนี้แอดขอแนะนำให้บินมาลงที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แล้วเช่ารถขับไปเที่ยวกัน วันที่ 1 ขัวศิลปะ Art Gallery จุดหมายแรกของเราอยู่ไม่ไกลจากสนามบิน ขับรถไปเพียง 6.5 กิโลเมตรเท่านั้น แอดจะพาเพื่อน ๆ เดินข้ามสะพานแห่งศิลปะ แต่อย่าจินตนาการถึงสะพานข้ามน้ำอะไรทำนองนั้นนะ เพราะจริง ๆ ที่นี่เป็น Art Gallery โดย “ขัว” แปลว่า “สะพาน” ในภาษาเหนือนั่นเอง ขัวศิลปะ เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของเหล่าศิลปินจังหวัดเชียงราย ที่ต้องการเชื่อมโยงศิลปะกับสังคม สร้างบรรยากาศศิลปะที่เรียบง่ายและกลมกลืนกับชุมชนให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ภายในขัวศิลปะ แบ่งเป็นโซนแสดงภาพศิลปะ โซนขายของที่ระลึก โซนสอนศิลปะและโซนร้านอาหาร-ร้านกาแฟ โซนศิลปะ เป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะหมุนเวียน โดยจะนำผลงานของศิลปินเชียงรายทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ รวมถึงศิลปินไทยและนานาชาติเวียนกันมาจัดแสดง หากเพื่อน ๆ ชอบผลงานที่จัดแสดง ก็สามารถติดต่อขอซื้อเพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินได้เลย ตรงชั้น 1 ใกล้ ๆ ประตูทางเข้า จะมีโซนร้านอาหารชื่อ “มาลองเต๊อะ” แปลว่ามาลองกันเถอะ เป็นอาหารเหนือฟิวชั่น รสชาติอร่อย เพื่อน ๆ สามารถชมวิวริมน้ำระหว่างรับประทานอาหารได้ด้วย ทางร้านจะนำข้าวออร์แกนิคและผักปลอดสารพิษจากชาวบ้านในพื้นที่มาปรุงอาหารในร้าน หากอยากลองกินอาหารเหนือที่ทำจากวัตถุดิบคุณภาพดี แอดแนะนำที่นี่เลย บ้านดอยดินแดง ถ้าเพื่อน ๆ สนใจงานปั้นเซรามิก ไม่ควรพลาดบ้านดอยดินแดง จากขัวศิลปะ ขับรถไปทางอำเภอนางแล ประมาณ 6 กิโลเมตร จนถึงบ้านป่าอ้อ สังเกตปากซอยที่เขียนว่า ทางเข้าหมู่บ้านกะเหรี่ยง ขับตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรก็ถึงที่หมาย บ้านดอยดินแดง หรือที่คนเหนือเรียก ‘คุ้มดอยดินแดง’ เป็นทั้งบ้าน สตูดิโอและโรงงาน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดย อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงราย ที่ไปเรียนวิชางานปั้นจากศิลปินเซรามิกที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่นมากว่า 5 ปี ภายในบริเวณบ้านดอยดินแดง เราจะได้เห็นกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทั้งการปั้น การแต่งทรง การตาก การลงสี ฯลฯ รวมถึงได้เห็นเครื่องปั้นสวย ๆ ที่จัดวางอยู่ทั้งในและนอกอาคาร จากการเดินดู แอดรู้สึกได้เลยว่างานแต่ละชิ้นมีความงามในแบบของตัวเอง เป็นความงดงามในความสามัญ กลมกลืนกับบรรยากาศรอบข้าง สวยด้วยตัวของชิ้นงานเอง ไม่ได้ประกาศตัวให้ใครมาชมความงามของตน นอกจากงานปั้นสวย ๆ แล้ว บรรยากาศที่นี่ก็ร่มรื่นมาก มีร้านกาแฟเล็กให้นั่งพัก สามารถจิบกาแฟไปพร้อม ๆ กับชื่นชมงานเซรามิกที่ทางร้านนำมาใส่เครื่องดื่มเสิร์ฟพวกเราได้เลย ติดกับร้านกาแฟเป็นอาคารขายของ มีงานสวย ๆ มากมายให้เลือกซื้อ ไฮไลท์คือห้อง Discount แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า งานที่นี่เป็นงานแฮนด์เมดที่ทำขึ้นอย่างประณีต ราคาจึงจะสูงกว่างานที่ทำจากระบบโรงงาน แต่การันตีคุณภาพได้เลย เพราะโรงแรมใหญ่หลายแห่งก็สั่งของจากที่นี่ไปใช้อยู่ประจำ วัดนันตาราม จุดหมายต่อไป เราต้องเดินทางข้ามจังหวัดไปที่วัดนันตาราม จังหวัดพะเยา ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบ ๆ 2 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงราย วัดนันตาราม เป็นวัดที่มีวิหารขนาดใหญ่ สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง มีหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกันสวยงาม ตกแต่งประดับประดาด้วยกระจกสี เป็นการออกแบบและก่อสร้างโดยนายช่างชาวพม่าจากลำปาง ซึ่งพ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ต่องสู้) ผู้บูรณะวัดในขณะนั้นเป็นผู้ว่าจ้างมา ภายในวิหารมีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่งดงามหลายองค์ แถมมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณอีกด้วย พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักจากไม้สักทองและลงรักปิดทอง มีความงดงามมาก นอกจากนี้ ในวิหารยังมีจุดน่าสนใจมาก ๆ อีกจุดก็คือ มีการประดับ “คิวปิด” หรือกามเทพตัวน้อยด้วย แต่จะอยู่ตรงไหน ลองหากันดู เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ การแกะสลักรูปคิวปิดนั้น คาดว่าเกิดจากการรับอิทธิพลจากตะวันตกมาผสมกับตะวันออกนั่นเอง วันที่ 2 กว๊านพะเยา ที่นี่เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เกิดจากการที่กรมประมงทำประตูกั้นน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ในหน้าแล้งและช่วยป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน บริเวณรอบกว๊านพะเยามีที่พักหลากหลาย ราคาไม่แพงสำหรับนักท่องที่ยว เป็นแหล่งรวมร้านอาหารอร่อย มีคาเฟ่น่านั่ง และยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนในท้องที่อีกด้วย กิจกรรมหนึ่งที่แอดอยากแนะนำคือ นั่งเรือไปไหว้หลวงพ่อศิลาที่วัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา วัดติโลกอารามนี้เป็นวัดโบราณที่จมอยู่ใต้น้ำ มีเพียงส่วนยอดพระธาตุที่โผล่พ้นน้ำ จากการสำรวจใน พ.ศ. 2550 ได้ค้นพบจารึกหินทรายที่บอกประวัติการสร้างวัด ทำให้ทราบชื่อวัด และทราบว่าวัดนี้เป็นวัดหลวงสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งแผ่นดินล้านนา หากเพื่อน ๆ มาในช่วงวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา จะพบกับการล่องเรือเวียนเทียน ณ วัดติโลกอารามด้วยนะ นั่งเรือแจวไปถึงวัดติโลกอาราม ใช้เวลาประมาณ 20 นาที *อย่าลืมสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือนะเพื่อน ๆ วัดศรีโคมคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2034-2067 นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และงานจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ อ.อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติอีกด้วย อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ตรงข้ามกับวัดศรีโคมคำ คือ “อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง” กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว หรือเมืองพะเยาในปัจจุบัน โดยในรัชสมัยของพ่อขุนงำเมือง (พ.ศ. 1801-1841) นับเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก สามารถมาไหว้ขอพร ขอกำลังใจได้

✨เที่ยวเมืองเหนือก่อนสิ้นปี ที่เชียงราย-พะเยา✨ อ่านเพิ่มเติม

ขนมควยลิง ✨🍡 ชุมชนขนมแปลกเมืองจันทบุรี

ชุมชมขนมแปลกริมคลองหนองบัว เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่รวบรวมขนมแปลกท้องถิ่นแต่ละที่ของจังหวัด #จันทบุรี ไว้ที่นี่ เดิมเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ ที่มีอายุนับร้อยปี เกือบทุกบ้านริมคลองหนองบัวจะทำเมนูขนมแปลก ๆ มาให้นักท่องเที่ยวได้ชิมความอร่อยและความแปลกของขนม วันนี้เพื่อน ๆ จะได้รู้จักกับ “ขนมควยลิง” อย่าเพิ่งตื่นเต้นกับชื่อที่ได้ยินกันนะคะ ถึงแม้ว่าชื่อจะแปลกแต่ความอร่อยก็ปังไม่น้อยหน้าเลยทีเดียว ขนมควยลิง มีที่มาจาก เมื่อสมัยก่อนที่ชุมชนหนองบัวมีลิงแสมเป็นจำนวนมาก เวลาชาวบ้านทำขนมเจ้าลิงพวกนี้ก็จะมานั่งเฝ้า พร้อมกับโชว์ของดีให้ดูอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อขนมที่ทำว่า “ขนมควยลิง” นั่นเอง ขนมควยลิงนั้นทำมาจากแป้งข้าวเหนียว นำมาปั้นเป็นแท่งเล็ก ๆ รี ๆ และนำไปต้มในน้ำเดือด จากนั้นคลุกกับมะพร้าวขูด ทานคู่กับน้ำตาล จะได้รสชาติหวาน ๆ มัน ๆ 🍢 หากใครอยากลองชิม ปัจจุบันสามารถหาทานได้ แต่สูตรดั้งเดิมของชุมชนที่มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นแล้วละก็ ต้องมารับประทานได้ที่ “บ้านยายลิและป้าตุ่ม” พูดขนาดนี้แล้ว ต้องไปลองชิมกันแล้วนะ 🥰

ขนมควยลิง ✨🍡 ชุมชนขนมแปลกเมืองจันทบุรี อ่านเพิ่มเติม

🏠 คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ จังหวัดสกลนคร ✨

หากเพื่อน ๆ ท่านไหนเคยไปที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร น่าจะเคยเห็นตึกโบราณที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) เด่นตระหง่านสวยงามน่าชม คฤหาสน์แห่งนี้สร้างโดยช่างเวียดนามที่อพยพมาอยู่บ้านท่าแร่เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยเจ้าของคฤหาสน์คือ นายคำสิงห์ อุดมเดช ลักษณะจะเป็นอาคาร 2 ชั้น ในอดีต ชั้น 1 เปิดเป็นร้านค้า ชั้น 2 เป็นที่พักอาศัย สร้างโดยใช้ปูน ทราย อิฐ ผสมกันยึดติดกับเสาไม้ได้อย่างลงตัว เนื่องด้วยใช้เทคนิคโบราณในการก่อสร้างนี่เองทำให้ผนังและหลังคามีความแข็งแรง ลักษณะเด่นของคฤหาสน์แห่งนี้คือ ซุ้มวงโค้งด้านหน้าอาคาร เพราะมีการใช้เสาจริงประดับแทนเสาหลอกและมีลวดลายปูนปั้นประแจจีนแสดงถึงความเป็นสิริมงคล ปัจจุบันคฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ อยู่ในการดูแลของผู้รับมรดก นั่นคือ นางเทเรซารสศรี สกนธวัฒน์ เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยจึงทำให้คฤหาสน์แห่งนี้ดูทรุดโทรมลงไปบ้าง แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไปแล้วกว่า 90 ปี แต่ความสวยงามของสถาปัตยกรรมยังคงแสดงให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน หากมีโอกาสไปบ้านท่าแร่ แวะเข้าไปถ่ายรูปรอบ ๆ #คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ ได้นะ เข้าไปชมข้างในไม่ได้ แต่ข้างนอกก็สวยคลาสสิกสุด ๆ ไปเลยค่ะ

🏠 คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ จังหวัดสกลนคร ✨ อ่านเพิ่มเติม

🔸ย่านเมืองเก่าสงขลา 🔸

ย่านนี้มีถนนสายสำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ในเขตเทศบาลนครสงขลา เป็นถนนที่เต็มไปด้วยอาคารซึ่งมีสถาปัตยกรรมงดงามและยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ทั้งตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส และตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ จุดเริ่มต้นของการเดินชมย่านเมืองเก่าสงขลา เริ่มต้นจากประตูเมืองสงขลาไปตามถนนนครนอก ซึ่งเป็นถนนเลียบริมทะเลสาบสงขลา สุดปลายถนนมีโรงสีเก่าทาสีแดงทั้งหลัง เรียกว่า “หับ โห้ หิ้น” ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่องราวเมืองเก่าสงขลา ถัดมาคือ ถนนนครในและถนนนางงาม เป็นแหล่งรวมของร้านอาหารคาวหวานท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงหลายสิบปี ทั้งร้านขายขนมไทยที่หารับประทานได้ยาก เช่น ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมกระบอก ขนมบูตู สำปันนี อีกทั้งยังมีร้านไอศกรีม ร้านข้าวสตู และร้านกาแฟโบราณ ฯลฯ นอกจากนี้สามารถเดินชมภาพวาดสตรีทอาร์ตตามผนังบ้านเรือนบนถนนเส้นต่าง ๆ โดยแต่ละภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

🔸ย่านเมืองเก่าสงขลา 🔸 อ่านเพิ่มเติม

✨ ลานหินสีชมพู จ.จันทบุรี ✨

สวัสดีเพื่อน ๆ วันนี้แอดจะพาทุกคนมาที่หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งของ จ.จันทบุรี ที่มีความสวยแปลกตาและไม่เหมือนใคร ยิ่งใครชอบถ่ายรูปลงโซเชียลรับรองเลยว่าต้องได้รูปสวยถูกใจแน่ ๆ ตามมาดูกัน ลานหินสีชมพู ตั้งอยู่ภายในบริเวณ เขตห้ามล่าสัตว์คุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นหินสีชมพูอมน้ำตาลแดง อยู่ตามริมชายหาดทอดยาว แถมยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเกาะที่อยู่รอบ ๆ อย่าง เกาะสะบ้า เกาะนมสาว เขาแหลมสิงห์ ได้อีกด้วย ที่เพื่อน ๆ เห็นหินเป็นสีชมพูแบบนี้ เพราะหินที่นี่ มีส่วนผสมของธาตุเหล็กอยู่เยอะ ยิ่งช่วงไหนมีแสงแดดส่องกระทบ เพื่อน ๆ จะเห็นเลยว่ามีทั้งก้อนหินสีแดงอมชมพู สีชมพูอมม่วง ไปจนถึงสีม่วงอมน้ำตาลแดง ปกติจะพบหินแบบนี้ได้ตามบริเวณที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขัง ป่าชายเลน ซึ่งหินชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า หินทรายอาร์โคส (Arkosic Sandstone) สำหรับการเดินไป ลานหินสีชมพู เพื่อน ๆ จะต้องเดินเท้าตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเป็นการเดินขึ้นเขา แอดใช้เส้นทางนี้ (ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาที) ส่วนอีกเส้นทางเป็นการเดินเลียบชายหาด ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง (ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กุมภาพันธ์ น้ำจะขึ้นตอนกลางวันไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้) จุดชมวิวบ่อเตย หากมาทางขึ้นเขาจะอยู่ก่อนถึงลานหินสีชมพู มีจุดนั่งพักชมวิว รับลมเย็น ๆ ในการเดินทางไปลานหินชมพู แอดแนะนำให้ใส่รองเท้าผ้าใบ ควรมาช่วงเช้าตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึง 9 โมงเช้า หรือ ช่วง 4 โมงเย็นไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ที่สำคัญต้องช่วยกันรักษาความสะอาดด้วย ไม่ทิ้งเศษขยะหรือเศษอาหารภายในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวกันด้วยล่ะ

✨ ลานหินสีชมพู จ.จันทบุรี ✨ อ่านเพิ่มเติม

✨เที่ยวเมียงไม่ไกลเมือง…เชียงใหม่🌿

หากมีวันหยุดสั้น ๆ แล้วอยากไปเที่ยวพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศ แถบภาคเหนือ แอดเชื่อว่า #เชียงใหม่ เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่ไปบ่อยเสียจนไม่รู้จะไปเที่ยวมุมไหนอีก วันนี้แอดขอชวนเพื่อน ๆ ไปเที่ยวแบบเมียง ๆ กันค่ะ อ๊ะ… เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งแย้งว่าแอดเขียนผิดนะ คำว่า “เมียง” ในภาษาเหนือ แปลว่า “เมือง” นั่นแหละ แต่แอดจะพาไปเที่ยวแบบเมียง ๆ หรือ เมือง ๆ ยังไง ตามไปดูกัน 🥰 วันแรก เราเริ่มกันที่ “ชุมชนบ้านลวงเหนือ ชุมชนไทลื้อ” หมู่บ้านของชาวไทลื้อที่ยังรักษาวิถีชีวิตของตัวเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ชุมชนนี้อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่เพียงแค่ขับรถไป 30 นาทีเท่านั้นเอง เพื่อน ๆ ที่สนใจจะมาเที่ยวที่นี่ แอดแนะนำให้ซื้อแพ็คเกจล่วงหน้านะ เพื่อที่เราจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทลื้อที่ทางชุมชนจัดให้อย่างเต็มที่ ทันทีที่มาถึง ไกด์ชุมชนก็ออกมาต้อนรับและพาไปที่ “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ” โดยจะมีแม่ ๆ ย่า ๆ มาคอยฮับต้อนย้อนวิถี ผูกข้อไม้ข้อมืออวยพร พรมน้ำขมิ้นส้มป่อย และเสิร์ฟเวลคัมดริงค์ที่เป็นสมุนไพรอย่างใบเตย กระเจี๊ยบให้พวกเรา https://goo.gl/maps/swjrX87Hab6ZrRtE6 จากนั้นจะเป็นการเล่าประวัติความเป็นมา ผ่านบทซอของชาวไทลื้อ มีการสอนให้ร้องตามพอสนุก ๆ ด้วยนะ ซึ่งภาษาเหนือสำเนียงไทลื้อ ก็จะต่างจากสำเนียงเชียงใหม่ แบบที่ฟังแล้วคนไทลื้อด้วยกันจะรู้เลยล่ะ หลังจากหัดซอขับซอกันพอสมควร ก็ไปแอ่วเฮือนเยือนผญา ที่นี่จะมีการสาธิตปั่นฝ้าย ทอผ้าแบบไทลื้อ และจัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอย รวมทั้งเครื่องมือทำมาหากินในอดีตของชาวไทลื้อ ให้นักท่องเที่ยวได้พอเห็นภาพการใช้ชีวิตของชาวไทลื้อ แป๊บเดียวก็เที่ยงแล้ว แน่นอนว่ามื้อเที่ยงวันนี้เป็นอาหารไทลื้อ สำรับของเราประกอบไปด้วย ผัดไทไตลื้อ โสะบ่าก้วยเต้ด (ตำมะละกอใส่ขิงแบบไตลื้อ) น้ำสมุนไพร ขนมวง ข้าวจี่ ไข่ป่าม ข้าวแคบ อร่อยดีทีเดียว จากนั้น ไกด์ก็พาไปต่อที่ “บ้านสวนพอเพียงทรัพย์ทองศรี” ที่เน้นวิถีความพอเพียงของคนไตลื้อ มีกิจกรรมปลูกผักผลไม้ เลี้ยงไก่ บรรยากาศดีมาก เหมาะกับทั้งเรียนรู้และเดินเล่นเพลิน ๆ เลยล่ะ จุดต่อไปคือ “วัดศรีมุงเมือง” ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน วัดศรีมุงเมือง สร้างโดยพระเจ้าสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. 1954 เป็นวัดเก่าแก่ที่งดงาม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทลื้อ ภายในวัดมีเจดีย์เก่าแก่ และมีวิหารไทลื้อที่ได้ชื่อว่างามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ในหมู่บ้านลวงเหนือ นอกจากวัดศรีมุงเมืองแล้วยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมชนอีกแห่ง นั่นคือหลักใจกลางหมู่บ้าน (เสื้อบ้าน) ที่จารึกวันเดือนปีที่สร้างหมู่บ้านไว้ว่าคือ วันเสาร์ที่ 3 เม.ย. พ.ศ. 1932 เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า มีหมู่บ้านและชุมชน ณ ที่นี้มามากกว่า 600 ปีแล้ว ต่อไปเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ที่คนชอบงานฝีมือน่าจะชอบ ไกด์พาเราไปที่ “สวนตุ๊กตาไม้นายโถ” ซึ่งอยู่ห่างจากวัดศรีมุงเมืองประมาณ 500 เมตร มีตุ๊กตาไม้แบบไทลื้อหน้าตาน่ารักเต็มไปหมด นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสนุกกับการระบายสีบนตุ๊กตาและนำกลับไปเป็นที่ระลึกได้ หลังจากเดินชมหมู่บ้านและแวะเวียนทำกิจกรรมมามาเกือบทั้งวัน เหมือนไกด์จะรู้ใจว่าต้องมีเหนื่อยกันบ้าง จุดหมายต่อไปจึงเป็น “เฮือนหอมยาท้องนางาม” เรือนนี้ให้บริการอบสมุนไพรและทำสปาเท้า แค่เดินเข้ามาก็รู้สึกผ่อนคลายแล้ว เราสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ได้เลยว่า ควรใช้สมุนไพรอะไรดี สำหรับแอด แอดเลือกสปาเท้าด้วยเกลือสมุนไพร ผ่อนคลายดีจริง ๆ https://goo.gl/maps/xx4f7QF1sT39UwG67 ปิดท้ายวันด้วยมื้อเย็นที่ “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ” มื้อนี้เป็นการกินแบบ “กาดมั่วคัวลื้อ” โดยแม่ครัวแต่ละคนจะทำอาหารเมนูเด็ดของตัวเองกันมา ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกตักรับประทานแบบบุฟเฟต์ ทั้งยำมะเขือยาวออร์แกนิกใส่กุ้ง แกงผักปลังจิ้นส้ม ข้าวเงี้ยว ข้าวจี่ ไข่ป่าม และเครื่องดื่มสมุนไพร แต่หากกลุ่มนักท่องเที่ยวมีไม่ถึง 10 คน ทางชุมชนจะจัดเป็นขันโตกมาให้แทน นอกจากจะเป็นมื้อเย็นที่เอร็ดอร่อยแล้ว ยังมีโฟล์คซองเพลงลื้อและการขับร้องฟ้อนรำขับกล่อมพวกเราไปจน 20.30 น. เลย https://goo.gl/maps/5wQiKasRVrTJut9k7 วันที่ 2 เริ่มวันใหม่ด้วยมื้อเช้าที่ “ทุ่งนาใต้ฟ้าเมืองลวง” (ทุ่งนาฟ้ากว้าง) ที่เน้นไปที่การตกปลา เก็บไข่เป็ด เก็บผัก เก็บหน่อไม้ มาทำเป็นอาหารเช้า ก่อนจะนำเศษอาหารกลับไปทำปุ๋ยอีกครั้ง เป็นวิถีธรรมชาติที่น่าประทับใจมาก เรียกว่าประทับใจจนนาทีสุดท้าย ก่อนจะบอกลาเมืองลวงเหนือกลับเข้าเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว https://g.page/Fakwangfield?share กิจกรรมฐานการเรียนรู้ทุ่งนาฟ้ากว้าง รายละเอียดกิจกรรม หากสนใจเที่ยวแบบแพคเกจ รวมที่พัก อาหาร และบริการต่าง ๆ ราคาเริ่มต้นที่ประมาณคนละ 1,500 บาท (แนะนำให้ติดต่อล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์) หากเข้ามาเที่ยวแบบ Walk in ก็สามารถเข้ามาได้ เพียงแต่จะไม่เห็นชาวชุมชนใส่ชุดไทลื้อ แต่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกกิจกรรมตามความสนใจได้ โดยมีค่าบริการแต่ละกิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมต้อนรับ แอ่วเฮือนเยือนผญา กลุ่มละ 500 บาท ค่าวิทยากรเรียนรู้ ฐานละ 400 บาท ค่าเรียนการทำอาหารเช้า คนละ 100 บาท เป็นต้น หลังจากเที่ยวแบบเมียง ๆ มาแล้ว เราไปเที่ยวแบบเมือง ๆ กันบ้างดีกว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีร้านของว่าง ร้านขนมหวาน ร้านกาแฟใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แวะชิมกันสนุกสนานเลยล่ะ คราวนี้แอดเองก็มีร้านมาแนะนำอยู่ 3-4 ร้าน มีทั้งร้านใหม่ที่อยากให้ลอง และร้านเด็ดที่ไม่อยากให้พลาด ลองเลือกดูตามสไตล์ใครสไตล์มันได้เลย MOOHomeMade Cafe ร้าน MOOH (อ่านว่า หมู) เป็นร้านเบเกอรีที่ขายโดนัทแบบบอมโบโลนี มีไส้ต่าง ๆ ให้เลือกหลายไส้ เป็นร้านเล็ก ๆ น่ารัก อยู่ในนิมมานเหมินทร์ ซอย

✨เที่ยวเมียงไม่ไกลเมือง…เชียงใหม่🌿 อ่านเพิ่มเติม

📍ย่านเมืองเก่าภูเก็ต📍

ครอบคลุมบริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ และซอยรมณีย์ เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในอดีตจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ยุโรป มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพค้าขายและได้สร้างบ้านเป็นตึกแถวมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portuguese) ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่ดีบุกเริ่มเจริญรุ่งเรือง ปัจจุบันบางอาคารได้รับการอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ บางอาคารดัดแปลงเป็นที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก นอกจากนี้ยังมี “ถนนคนเดินหลาดใหญ่” จัดขึ้นในทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. บนถนนถลางในย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นถนนคนเดินที่สามารถสัมผัสกลิ่นอายความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

📍ย่านเมืองเก่าภูเก็ต📍 อ่านเพิ่มเติม

✨ น้ำชุบหยำ น้ำพริกพื้นเมืองกับเรื่องเล่าพื้นบ้าน ✨

“น้ำชุบหยำ” ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “น้ำพริกขยำ” หรือ “น้ำพริกโจร” ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะเคยได้ยินหรือเรียกไม่เหมือนกัน แต่ที่เห็นอยู่นี้ คือน้ำพริกพื้นเมืองที่นิยมรับประทานกันในภาคใต้ วัตถุดิบมีลักษณะคล้ายกับน้ำพริกกะปิของภาคกลาง แต่มีส่วนผสมเพิ่มเติม ได้แก่ กุ้ง กับน้ำกุ้งต้มเพื่อเพิ่มรสหวาน และจะทำน้ำพริกโดยวิธีการขยำ ๆ จนเข้ากัน น้ำชุบหยำ เป็นอาหารที่มีเรื่องเล่ากันว่า “ครั้งหนึ่ง โจรกำลังปล้นบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งในขณะที่กำลังปล้นก็เริ่มรู้สึกหิว จึงหาอะไรกิน และเห็นว่ามีเครื่องทำน้ำพริกอยู่ แต่ถ้าเกิดตำน้ำพริกโดยใช้ครก ก็กลัวว่าเจ้าของบ้านจะตื่น จึงใช้มือขยำ ๆ วัตถุดิบต่าง ๆ แทน” ซึ่งกลายเป็นที่มาของน้ำชุบหยำนั่นเอง ในปัจจุบัน มีสูตรและวิธีทำมากมายตามสื่อออนไลน์ ซึ่งถ้าหากใครที่อยากลองทำดู ก็สามารถทำได้ไม่ยาก หรือถ้าใครที่มีโอกาสเดินทาไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หรือพังงา แนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหารับประทานดูสักครั้งแล้วจะติดใจ

✨ น้ำชุบหยำ น้ำพริกพื้นเมืองกับเรื่องเล่าพื้นบ้าน ✨ อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top