เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ของชาวจีนกับเทศกาลตรุษจีนที่ถือเป็นการเริ่มต้นปีและงานฉลองรวมญาติครั้งใหญ่ สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คือธรรมเนียมการแก้ชงเสริมดวงให้ปีนี้เป็นปีที่ดี เพื่อปัดเป่าเรื่องเลวร้ายที่อาจเข้ามาและเกิดขึ้นในชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าปีชงและการไหว้แก้ชงมาช้านาน แต่บางคนอาจไม่ทราบว่าปีชงมีที่มาอย่างไร ทำไมดวงชะตาของคนเราจึงไปตกอยู่บนปีชงได้ แล้วมีวิธีแก้ชงอย่างไรจะช่วยเสริมดวง ให้แคล้วคลาด โชคดี ดวงเฮงตลอดปี และจะแก้ชงที่ไหนดี วันนี้เราได้รวบรวม 5 สถานที่แก้ชงในกรุงเทพฯ ให้ใครที่ชงในปีนี้รีบไปไหว้ขอพร สะเดาะเคราะห์แก้ชง เสริมดวงปีนี้ จะมีที่ไหนบ้าง ตามไปดูกันเลย ปีชงคืออะไร ปีชง เป็นเรื่องความเชื่อทางโหราศาสตร์จีน ที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของชาวจีนมานับพันปี คำว่า “ชง” ในภาษาจีนหมายถึง “การปะทะ” หรือ “ชน” ดังนั้นคำว่า “ปีชง” จึงหมายถึงปีที่อาจมีการปะทะเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเข้ามามากขึ้น อธิบายง่าย ๆ คือ ปีชง ก็เหมือนกับปีที่เราดวงตก หากปีนี้เป็นปีชงของปีนักษัตรไหน ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเกิดอุปสรรค เกิดปัญหาติดขัด ไม่ราบรื่น อาจทำให้เกิดสิ่งไม่ดีกับบุคคลนั้น ดังนั้นจึงมีการเสริมดวงชะตาด้วยการ “แก้ชง” เพื่อปัดเป่าเคราะห์กรรม เสริมดวง ให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และให้เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ทั้งหลายนั้นคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งความเชื่อเรื่องปีชงนี้ เกี่ยวข้องกับ “องค์เทพไท้ส่วยเอี๊ย” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา” ของมนุษย์ ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นเทพที่ทรงอิทธิฤทธิ์และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมากในแต่ละปี โดยหากในปีนั้น เทพไท้ส่วยเอี๊ยเคลื่อนเข้าทับดวงดาวของปีนักษัตรใด จะทำให้ปีนั้นเป็นปีที่ได้รับผลไม่ดี หรือที่เราเรียกว่า “ปีชง” และจะส่งผลต่อดวงชะตาของผู้ที่เกิดในปีดังกล่าว ดังนั้น จึงมีการบูชาเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยเมื่อเริ่มขึ้นปีใหม่ของชาวจีน โดยการไหว้ขอพรเพื่อให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ เคราะห์กรรมของเจ้าชะตาในปีนั้น ๆ และคุ้มครองผู้กราบไหว้ให้มีความสุข แคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงตลอดทั้งปี ควบคู่กับธรรมเนียมการไปแก้ชงคือการฝากดวงชะตาไว้กับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย เพื่อบรรเทาเคราะห์กรรมหรือผลกระทบต่าง ๆ ให้เบาบางลง เป็นการนำสิ่งเลวร้ายออกไปและเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต ปีชง 2566 มีปีไหนชงบ้าง สำหรับปีชงในปี 2566 ได้แก่ ปีนักษัตรระกา ซึ่งถือเป็นปีชงตรง หรือชง 100% คือ ปีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. 2476, 2488, 2500, 2512, 2524, 2536, 2548, 2560 ซึ่งปีระกาจะเจอแรงปะทะจากปีชงไปเต็ม ๆ คือ จะต้องระมัดระวังมากที่สุด อาจมีเรื่องอะไรที่ทำให้มีอุปสรรค หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันครั้งใหญ่ในด้านลบ นอกจากนี้ยังมี ปีชงร่วม ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เหมือนเป็นปีที่อยู่ในองศาที่ถือว่า โดนลูกหลง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ปีคัก คือ ปีนักษัตรที่ชงกับตัวเอง หมายถึงปีนักษัตรเดียวกับปีนั้น ๆ จะทำอะไรอาจมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ เข้ามา มีปัญหาติดขัด ไม่ราบรื่น สำหรับปี 2566 นี้ ได้แก่ ปีเถาะ หรือคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. 2482, 2494, 2506, 2518, 2530, 2542 และ 2554 ปีเฮ้ง คือ ปีนักษัตรที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเคราะห์กรรม ปัญหาอุปสรรค คดีความต่าง ๆ สำหรับปี 2566 นี้ ได้แก่ ปีชวด หรือคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. 2479, 2491, 2503, 2515, 2527, 2539 และ 2551 ปีผั่ว คือ ปีนักษัตรที่ได้รับผลกระทบในเรื่องสุขภาพ การงาน ความรัก ครอบครัว อาจมีเรื่องขัดแย้ง ไม่ราบรื่น สำหรับปี 2566 นี้ ได้แก่ ปีมะเมีย หรือคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. 2485, 2497, 2509, 2521, 2533, 2545 และ 2557 มาถึงตรงนี้ก็คงทราบกันแล้วว่าปีเกิดของตัวเองนั้นเป็น ปีชง ในปี 2566 หรือไม่ และคงอยากจะไปแก้ปีชงกันแล้ว ซึ่งจังหวะเวลาการแก้ชงจะนิยมกระทำในช่วงหลังตรุษจีนเพราะถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปี ในวันนี้ จะขอแนะนำสถานที่แก้ปีชงที่ได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ศรัทธาเดินทางกันไปเป็นจำนวนมาก จะมีสถานที่ไหนบ้าง เรามีตัวอย่างมาฝากกัน แก้ปีชงที่ไหนดี 2566 1.วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่เมื่อพูดถึงการ “แก้ชง” สถานที่ที่คนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชื่อดังอายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ย่านเยาวราชและเป็นวัดยอดนิยมของคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยส่วนใหญ่นิยมมาแก้ชงกันที่วัดแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนที่วัดแห่งนี้จะมีความคึกคักเป็นพิเศษ คนส่วนใหญ่จะนิยมมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สะเดาะเคราะห์ ขอพรเสริมดวงชะตา โชคลาภ และแก้ปีชงกันเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวัดที่ต้องห้ามพลาดกันเลยทีเดียว ภายในวัดมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง” ส่วนข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์ ตลอดจนเทพเจ้ารวมทั้งหมด 58 องค์ ไม่ว่าจะเป็น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ไท้ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าแห่งยา หรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง” เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไปไหว้