15 สิ่งต้องห้ามพลาด…ปัตตานี
“เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้” ในอดีตปัตตานีเคยเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เคยเป็นที่แวะจอดเรือเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างพ่อค้าชาวอินเดียกับชาวจีนมาก่อน แต่เดิมชาวเมืองปัตตานีนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เมืองชายแดนใต้แห่งนี้นับว่ามีเสน่ห์น่าสนใจ ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ภาษา และอาหาร จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลงเหลือให้ได้ศึกษาเรียนรู้ รวมถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีพื้นที่เป็นป่าเขาและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวกว่า 170 กิโลเมตร จึงมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ตามมาทำความรู้จัก 15 จุดเช็กอิน ที่ต้องห้ามพลาดของจังหวัดนี้กันในรีวิวค่ะ 1. มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี สร้างในปี พ.ศ. 2497 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ จากทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเดินทอดยาวสู่อาคารมัสยิด สองข้างทางเดินมีการปลูกต้นปาล์มเพิ่มความร่มรื่น ตรงกลางด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำพุขนาดใหญ่ช่วยเสริมภูมิทัศน์ภายนอกของมัสยิดให้งดงามยิ่งขึ้น อาคารมัสยิดมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของประเทศอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวารล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ถัดออกไปด้านข้างอาคารมีหออะซานอยู่ทั้งสองข้าง (หออะซาน คือ หอคอยที่ใช้สำหรับแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาละหมาด) ภายในมัสยิดสร้างเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ด้านในห้องโถงมีมิมบัรทรงสูงและแคบตั้งอยู่ (มิมบัร คือ สถานที่สูงในมัสยิดลักษณะเป็นบันไดหลาย ๆ ขั้นให้เดินขึ้นสู่บัลลังก์สำหรับให้ผู้นำอ่านพระคัมภีร์) มัสยิดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย (การเที่ยวชมมัสยิด ควรสำรวมและแต่งกายสุภาพ) ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีhttps://goo.gl/maps/if5sZpkjQ7MVWReB9 2. ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ศาลเจ้าเล่งจูเกียง) ที่นี่เป็นศาลเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี มีต้นตระกูลคณานุรักษ์เป็นผู้สร้างและดูแล ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวแบบจีน แบ่งเป็นโถงกลาง ปีกซ้ายและปีกขวา ภายในศาลเจ้าประดิษฐานรูปแกะสลักของ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” จากกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ และ “โจวซือกง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย และเป็นองค์เทพประธานประจำศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าจีนอีกหลายองค์อยู่ภายในศาลด้วย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในตัวเมืองปัตตานี มีพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้า และว่ายน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น. อยู่ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีhttps://goo.gl/maps/oQQ8GH8mFhQeWYo87 3. มัสยิดกรือเซะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนกรือเซะเคยเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานี และเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการค้าขาย สำหรับมัสยิดกรือเซะ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน มีอายุเก่าแก่มากกว่า 200 ปี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478 และมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยมา เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี ลักษณะอาคารมัสยิดสร้างด้วยอิฐ เสาทรงกลม ประตูรูปโค้งแหลม ก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ผู้ออกแบบสร้างมัสยิด คือ ซัยคซอฟียุดดีน อัลอิสมอิมาส อูละมะอะ แห่งปอเนาะ มัสยิดกรือเซะยังคงเปิดใช้งานในการปฏิบัติศาสนกิจจนถึงปัจจุบัน (การเที่ยวชมมัสยิด ควรสำรวมและแต่งกายสุภาพ) ริมทางหลวงหมายเลข 42 (ถนนสายปัตตานี-นราธิวาส) บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตรhttps://maps.app.goo.gl/KigzHfJT26ECBFJKA 4. ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นป่าชายเลนบริเวณปากอ่าวปัตตานี และมีลำคลองที่ไหลออกสู่อ่าวปัตตานี ได้แก่ คลองกอและ คลองกือเงาะ และคลองบางปู เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น โกงกาง แสมดำ ลำภูทะเล และโพธิ์ทะเล เป็นต้น กิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชน ได้แก่ การล่องเรือชมป่าชายเลนและป่าโกงกาง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี บางช่วงของเส้นทางล่องเรือจะพบต้นโกงกางจากสองฝั่งคลองทอดตัวโค้งเข้าหากันเป็นอุโมงค์โกงกาง มีความยาวประมาณ 700 เมตร ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และยังมีนกน้ำนานาชนิดให้ได้พบเจอตลอดเส้นทาง รวมทั้งทัศนียภาพที่สวยงามของอ่าวปัตตานี สอบถามข้อมูล โทร. 08 1805 8761, 08 6491 2556 การเดินทาง : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 8 กิโลเมตร และเลี้ยวเข้าซอยทางซ้ายมือก่อนถึงโรงเรียนบ้านบือเจาะ ตรงไปจนพบทางแยก ให้เลี้ยวขวาและตรงไปจนถึงโรงเรียนบ้านบางปู จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยแรกถัดจากหน้าโรงเรียน ตรงไปจนสุดทางจะพบท่าเรือของชุมชนท่องเที่ยวบางปู ระยะทางรวมจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 11 กิโลเมตร ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีhttps://goo.gl/maps/s1HNFrxkDsRwwFEm6 5. แหลมตาชีและหาดตะโละกาโปร์ “แหลมตาซี” ลักษณะเป็นชายหาดที่มีปลายแหลมโค้งคล้ายรูปตัว C เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอนจะงอย โดยปลายแหลมจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นแหลมกั้นอ่าวปัตตานี (ทะเลใน) และอ่าวไทย (ทะเลนอก) บริเวณด้านในของแหลมฝั่งที่หันหน้าเข้าหาแผ่นดินใหญ่ เป็นที่ตั้งของชุมชนมากมาย เช่น บ้านดาโต๊ะ บ้านตะโละสะมิแล บ้านบูดี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก และมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากะพง หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นต้น และบริเวณด้านนอกของแหลมฝั่งที่หันหน้าออกทะเลกว้าง มีที่พักเอกชนให้บริการหลายแห่ง ปลายสุดของแหลมตาซีสามารถชมทัศนียภาพของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ในจุดเดียวกัน “หาดตะโละกาโปร์” อยู่ทางใต้ของแหลมตาซี ลักษณะชายหาดทอดยาว มีต้นสนทะเลและต้นมะพร้าวขึ้นขนานไปตามแนวชายหาดและถนน มีเรือกอและของชาวบ้านในพื้นที่จอดเรียงราย ทั้งยังมีที่พักและร้านอาหารตั้งกระจายอยู่ตลอดแนวหาด เหมาะแก่การเดินเล่น ปั่นจักรยาน พักผ่อนชมธรรมชาติ การเดินทางไปแหลมตาชีไปได้ 2 ทาง คือ ทางน้ำ : นั่งเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชี หรือใช้บริการเรือจากชุมชนท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอ่าวปัตตานี เช่น ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา ไปยังแหลมตาชี ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทางบก : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ปน.2062 […]
15 สิ่งต้องห้ามพลาด…ปัตตานี อ่านเพิ่มเติม