วันนี้จะเป็นการนำเสนอนิทรรศการศิลปะจากศิลปินชื่อดังระดับโลก “ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค” หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “วินเซนต์ แวนโกะห์” ศิลปินชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะ พร้อมกับสไตล์งานที่โดดเด่นในยุคนั้น ทั้งการใช้สีสันและฝีแปรงที่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนวาดลงไปอย่างเต็มที่ จนหลายคนมองว่าเขาเป็นคนสติเฟื่อนและมีภาพจำว่าเขาเป็นเพียงศิลปินที่มีปัญหาทางอารมณ์ที่เกินควบคุมจนถึงขนาดกล้าตัดหูตัวเอง คอนเทนต์ในวันนี้ จะเป็นการนำเสนอประวัติของ แวนโกะห์ ผ่านนิทรรศการภาพวาดของตัวเขาเอง ที่ไม่อยากให้ใครหลายคนพลาด ตามมาดูเรื่องราวของความมหัศจรรย์บนผืนผ้าใบยุคก่อนบนจอสกรีนขนาดใหญ่ในยุคนี้ไปพร้อมกัน ว่าจะพาเราให้รู้จักเรื่องราวของศิลปินคนนี้ได้อย่างไรบ้าง เอาล่ะ มาเริ่มเดินทางเข้าสู่นิทรรศการนี้ไปพร้อมกัน เพื่อน ๆ สามารถซื้อบัตรเข้างานออนไลน์ได้ที่ https://www.thaiticketmajor.com/van-gogh-alive/…หรือหากใครไม่สะดวก ก็เดินไปซื้อที่งานได้เลย งานจัดอยู่ที่ Attraction Hall ชั้น 6 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (นิทรรศการจัดใกล้ ๆ โรงหนัง SF) เมื่อเข้ามาแล้ว ในโซนแรกจะเป็นห้องที่บอกเล่าประวัติของ แวนโกะห์ คร่าว ๆ เผื่อใครเพิ่งเริ่มติดตามจะได้ทราบประวัติของเขาแบบย่อ ๆ ซึ่งการได้รู้ประวัติของตัวศิลปินก่อนเข้าชมนิทรรศการ สามารถเพิ่มอรรถรสในการชมห้องต่อไปได้มากทีเดียว โดย แวนโกะห์ มีประวัติย่อ ๆ ดังนี้ แวนโกะห์ เกิดวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 ที่เมืองซึนเดิร์ต (Zundert) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีพ่อเป็นนักบวชหลวงนิกายโปรแตสแตนท์ แม่และครอบครัวฝั่งแม่ทำงานด้านศิลปะ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน โดยมีน้องชายที่เขาสนิทชื่อ ธีโอ ตลอดชีวิตในวัยเด็ก เขาคลุกคลีและได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ระหว่างชนชั้นกลางของทางบ้านเขาและเหล่าเกษตรกร กรรมกร ว่าต่างกันขนาดไหน ซึ่งประสบการณ์ในช่วงนี้จะเป็น 1 ในอิทธิพลที่ส่งผลต่อผลงานการวาดภาพช่วงแรก ๆ ของเขา หลังจากเรียนจบ เขาได้ทำงานที่ Goupil & Cie ห้องภาพแห่งหนึ่งที่ญาติเขาเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่อายุ 16 ปี และเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี เขาถูกส่งตัวไปยังห้องภาพสาขาปารีส ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อและพูดตรง เขาจะบอกลูกค้าไม่ให้ซื้อภาพนั้นหากเป็นภาพที่ไม่คุ้มค่ากับราคา จนสร้างความไม่พอใจให้ทางร้านและไล่เขาออกในที่สุด ในช่วงอายุ 20 เป็นช่วงที่เขาทั้งผิดหวังจากความรักและมีภาวะซึมเศร้า เขาจึงเริ่มมองหาเส้นทางใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง อย่างการลองศึกษาศาสนาและเป็นผู้เผยแพร่ แต่ก็ไปไม่รอดเพราะเขาเป็นคนที่พูดจูงใจคนไม่เก่ง แถมยังอุทิศเงินส่วนตัวให้กับคนทุกข์ยากจนตัวเองลำบาก ต้องกินแค่เศษขนมปัง ทำให้ร่างกายผอมลงและเป็นพิษไข้ สุดท้ายเขาก็ถูกไล่ออกจากการเป็นผู้เผยแพร่ศาสนา จนกระทั่งเขาอายุได้ 27 ปี เป็นช่วงที่เขาได้พบกับเส้นทางที่เขาตามหา เขาเริ่มหันมาสนใจในศิลปะอีกครั้ง จากการพบเห็นผลงานศิลปะแบบ Impression ในยุคนั้น เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะวาดและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเขาลงไปในภาพวาด โดยมีน้องชายของเขา ธีโอ เป็นนายหน้าขายภาพให้ หากเทียบกับศิลปินคนอื่น ถือว่าเขาเริ่มต้นวาดภาพช้าและมีเวลาในการวาดรูปเพียง 10 ปีเท่านั้น เพราะในช่วงวัย 37 ปี เขาได้เสียชีวิตลงจากสาเหตุยิงตัวเองเข้าที่กลางลำตัว หลายคนก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเขาน่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพราะมีปากเสียงกับเด็กหนุ่มวัยคึกคะนองในละแวกนั้นมากกว่า แต่ใน 10 ปีนี้ เขามีผลงานศิลปะราว 2,100 ชิ้น เป็นภาพวาดสีน้ำมันกว่า 900 ชิ้น และภาพวาดลายเส้นอีกประมาณ 1,100 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เขาวาดในช่วงเวลาสองปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว 6 เดือนต่อมา ธีโอ น้องชายผู้สนับสนุนและคอยผลักดันเส้นทางการเป็นศิลปินของแวนโกะห์ ก็เสียชีวิตจากโรคทางสมอง โจฮันนา ภรรยาหม้ายของธีโอ ที่ยังเชื่อมั่นในตัวของแวนโกะห์ ก็ต่อสู้ผลักดันผลงานของเขาต่อไป จนผลงานของเขาเป็นที่นิยมขึ้นมา และกลายเป็นของล้ำค่าราคาสูงจนถึงปัจจุบัน ในห้องเดียวกันมีประวัติของภาพวาดอย่าง The Starry Night, Café Terrace At Night, Sunflowers, Almod Blossom, Portrait Of Dr.Garchet, Wheat Field With Crow ให้อ่านด้วยนะ นอกจากนี้ ภายในโซนแรก เพื่อน ๆ จะพบกับห้องนอนจำลอง ที่มีต้นแบบมาจากภาพวาด Bedroom in Arles ภาพห้องนอนของ แวนโกะห์ ในบ้านหลังสีเหลือง ที่เขาอาศัยร่วมอยู่กับเพื่อนศิลปิน พอล โกแกง (Paul Gauguin) ที่ทำให้ต่อมามีรูปที่มีชื่อเสียงมาก ๆ อีกรูปก็คือ “ดอกทานตะวัน” นั่นเอง จากนั้นจะเป็นการเดินทางเข้าสู่โซนที่ 2 ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้ ซึ่งจะมีป้ายแจ้งข้อมูลก่อนเดินเข้าไป ว่าทางนิทรรศการแนะนำให้ผู้เข้าชมใช้เวลาอย่างน้อย 40 นาทีในการชมโซนที่ 2 นี้ การเล่าเรื่องของโซนนี้ จะเป็นการนำเสนอประวัติของ แวนโกะห์ ที่เราอ่านกันในโซนที่ 1 ผ่านภาพวาดของเขาตามช่วงอายุ ด้วย Immersive Multi-Sensory Experience ที่จะเริ่มฉายภาพไปทั่วกำแพงและพื้น มีตั้งแต่ภาพที่เขาเริ่มวาดด้วยสีทึมทะมึน อย่างภาพ The potato eaters ที่บอกเล่าเรื่องราวที่เขาพบเจอมาในช่วงเด็ก ที่นำเสนอภาพชีวิตของครอบครัวชาวนาล้อมวงกินอาหารมื้อค่ำอย่างสมถะ ซึ่งภาพนี้เป็นอีกภาพที่ทำให้คนเริ่มหันมามองเขาในฐานะศิลปิน ไปจนถึงภาพที่เขาหัดวาดดอกไม้ และวาดภาพเหมือนของตัวเอง บรรยากาศรอบตัวจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากภาพวาดของเขาที่มีอยู่หลายพันภาพ ให้ความรู้สึกเหมือนตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาด ที่สำคัญในบางช่วงจะมี “กลิ่น” ที่ทางงานปล่อยออกมา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ในการชมที่มากขึ้นอีกด้วย ภาพที่ฉายออกมา หากไปดูใกล้ ๆ จะเห็นรายละเอียดของฝีแปรงจากตัวศิลปินได้อย่างชัดเจน อย่างภาพ Starry Night Over the Rhône ก็เห็นรายละเอียดนี้ชัดมาก ต้องชมความเก่งและความทันสมัยของเทคโนโลยีและผู้จัดงานนี้จริง ๆ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ มาให้ผู้ชมงานได้มากขนาดนี้ โซนต่อมา เป็น Installation Art ที่จะจำลองภาพวาดของเขาออกมาเป็นพื้นที่จริง ให้ผู้เข้าชมได้ไปถ่ายรูปอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ห้องนี้ เพื่อน ๆ จะเจอกับภาพ Noon, Rest