เกร็ดความรู้ท่องเที่ยว

📝 ทำความรู้จัก ไม้กลายเป็นหิน 📝

“ไม้กลายเป็นหิน” (Petrified Wood) คืออะไร เพื่อน ๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้าอยากรู้ ตามมาอ่านเกร็ดความรู้เรื่องนี้กัน แอดไปค้นมาให้อ่านกันเพลิน ๆ ค่ะ  ไม้กลายเป็นหิน เกิดจากการที่ท่อนไม้ถูกฝังกลบใต้ผิวดินในสภาพขาดออกซิเจน ทำให้เนื้อไม้ไม่เน่าเปื่อย บวกกับถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิกาเข้มข้นสูง ทำให้สารละลายซิลิกาตกตะกอน สะสมตัวเข้าไปแทนที่เนื้อไม้ ทำให้ท่อนไม้เปลี่ยนเป็นเนื้อหินซิลิกา ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาโครงสร้างเนื้อไม้เดิมอยู่ ไม้กลายเป็นหิน มีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย แต่ที่แอดกำลังจะพูดถึงนี้ อยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จังหวัดตาก เป็นไม้จากต้นทองบึ้ง อายุราว 120,000 ปี พบเมื่อปี พ.ศ. 2546 กว้าง 1.80 เมตร มีความยาวถึง 72.20 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 20 ชั้นทีเดียว  อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย แจ้งเปิดแหล่งท่องเที่ยวฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 แล้วน้า  อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย  ที่ตั้ง : ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก  โทร. 09 6402 9013  พิกัด : https://goo.gl/maps/Z1Jvmega62Ry485j8

📝 ทำความรู้จัก ไม้กลายเป็นหิน 📝 อ่านเพิ่มเติม

✨ ขนมสายบัว ✨

“ขนมสายบัว หน้าตาเป็นอย่างไร? ไม่เคยกิน? ชื่อแปลกจัง” ถ้าเพื่อน ๆ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดแบบนี้ มาค่ะ วันนี้แอดจะแนะนำขนมสายบัวให้ได้รู้จักกัน “ขนมสายบัว” เป็นขนมโบราณที่หารับประทานได้ยาก ไม่ค่อยมีขาย ส่วนมากเป็นการทำรับประทานกันเอง ขนมสายบัวมีหน้าตาและวิธีทำคล้ายกับขนมกล้วย ขนมฟักทอง เพียงแค่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักเป็นสายบัวนั่นเอง ที่หารับประทานได้ยากก็เพราะ “สายบัว” ที่ใช้ เป็น “บัวสาย” ที่ขึ้นตามแหล่งน้ำดินเลนเป็นส่วนใหญ่ ขนมสายบัวไม่มีสูตรตายตัว สามารถปรับรสชาติได้ตามความชอบ บ้างก็ใช้บัวแดง บ้างก็ใช้บัวขาว บ้างก็นำมาผสมกัน ก็จะได้สีต่างกันไป รวมถึงวิธีการทำ บางคนจะนำสายบัวมาหั่น โขลกละเอียด ตากแห้งก่อนนำมาผสมเข้ากับวัตุดิบอื่น ๆ บ้างก็ตำเสร็จแล้วนำมาใช้ทันที ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่ต่างกัน แต่กลิ่นหอมและรสชาติอร่อยเหมือนกัน

✨ ขนมสายบัว ✨ อ่านเพิ่มเติม

🌿 รวมร้าน Refill 🌿

ช่วงนี้เทรนด์รักษ์โลกกำลังมาแรง มีร้านรวง สินค้าและบริการที่หันมาใช้หลักการ Reuse Reduce Recycle กันมากมาย แอดเห็นแล้วก็อยากสนับสนุนไปหมดทุกร้านเลย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสุด ๆ ร้านค้ากลุ่มที่แอดจะแนะนำคราวนี้เป็นร้าน Refill ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ โดยการนำบรรจุภัณฑ์เก่ามาเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถือเป็นการใช้ซ้ำ (Reuse) ที่ช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ไปได้เยอะเลย วันนี้แอดรวบรวมพิกัดร้านรีฟิลมาให้ ถ้าอยากอุดหนุนสินค้าที่ดีต่อโลกและดีต่อใจแบบนี้ ตามไปช้อปกันได้นะ ✨ 1. Zero Moment Refillery ✨ จากที่อยากให้ทุกคนคิดว่าการลดขยะไม่ใช่เรื่องยาก การซื้อของก็สามารถช่วยลดการเกิดขยะได้ จึงเกิดเป็นร้านนี้ขึ้น โดยที่นี่จะมีทั้งของกินและของใช้ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดร่างกาย อาหารแห้ง ข้าวสาร เส้นสปาเกตตี เครื่องเทศ ชา กาแฟ ผลไม้อบแห้ง ตลอดจนของขบเคี้ยว สินค้าที่ขายดีสุด ๆ ของที่นี่ก็คืออัลมอนต์เคลือบดาร์คช็อกโกแลตและข้าวโพดอบกรอบรสหัวหอมชีส อร่อยเพลินจริง ๆ แต่ถ้าใครเกิดลืมนำบรรจุภัณฑ์มาซื้อสินค้า ก็ไม่ต้องกังวล สามารถซื้อบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำจากที่นี่ได้เช่นกัน 📍 : ตึก @home residence ซอย 16 ถนนเสรี 2 กรุงเทพฯ (หลัง The Nine พระราม 9 จอดรถได้ที่อาคาร @home residence) ⏰ : เปิดทุกวัน 10.00 – 19.00 น. 📞 : 08 2465 9262 🌐 : https://www.facebook.com/zeromomentrefillery  2. Get Well Zone  เพราะอยากให้โลก Get well soon ร้าน Get Well Zone จึงเกิดขึ้น โดยร้านนี้จะเน้นสินค้าจากธรรมชาติ อย่างผงสครับถั่วเขียว เกลือจากธรรมชาติ ที่กรองชาทำจากไม้ไผ่ช่วยลดการใช้ถุงชา หรือแม้แต่ยาสีฟันอัดเม็ดจาก Cheww.co ที่สะดวก พกพาง่าย แถมช่วยลดขยะจากหลอดบรรจุยาสีฟันได้อีกด้วย  : 436 ซอยเอกมัย 26 ถนนสุขุมวิท 63 แขวง คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม 10110  : เปิดทุกวัน เวลา 09.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)  : 09 1942 2498  : https://www.facebook.com/getwellzone  3. Refill Station ปั๊มน้ำยา  ร้านนี้ตั้งอยู่ในร้าน Better Moon ที่เป็นทั้งเกสต์เฮาส์และคาฟ่ หลายคนอาจคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว ในร้านมีสบู่ แชมพูแบ่งขายหลายยี่ห้อ รวมทั้งโลชั่น ครีมทาผิว น้ำยาซักผ้า ฯลฯ มีทั้งแบรนด์แฮนด์เมด และแบรนด์ยอดนิยมที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อน ๆ เลือกได้เลย นอกจากนี้ยังมี ผลไม้อบแห้ง และถั่วนานาชนิดอีกด้วย พิเศษสำหรับคุณสุภาพสตรี ร้านนี้เขามีผ้าอนามัยแบบซักได้และถ้วยอนามัยให้เลือกซื้อด้วยนะ  : 2031 ซอย สุขุมวิท 77/1 แขวง พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 (BTS อ่อนนุช ทางออก 1)  : เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 20.00 น. (หยุดวันจันทร์)  : 08 6993 6566  : https://www.facebook.com/refillstationbkk  4. Less : Plastic : Able  ร้านนี้ตั้งอยู่ในร้าน Delipizza Bangkok ที่เป็น Hub ให้คนแถวฝั่งธนฯ ที่สนใจเรื่องลดขยะได้มีร้านทางเลือก โดยทางร้านมีผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน ของใช้ส่วนตัว อาหารแห้งต่าง ๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ซ้ำ อย่าง ขวดน้ำ ถุงผ้า มาขายด้วย เรียกว่าครบครอบคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยล่ะ.  : ร้าน Delipizza Bangkok เลขที่ 632 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ  : เปิดทุกวัน เวลา 07.30 – 18.30 น. (ปิดทุกวันจันทร์-อังคาร)  : 09 4596 2936  : https://www.facebook.com/lessplasticable

🌿 รวมร้าน Refill 🌿 อ่านเพิ่มเติม

✨ ย้อนรอยประตูเมืองเชียงใหม่ ✨

เวลาไปเที่ยวเชียงใหม่ เชื่อว่าเพื่อน ๆ ต้องเคยไปเดินเล่นหรือถ่ายรูปแถวประตูท่าแพกันอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในประตูเมืองที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ว่าแต่เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประตูเมืองเชียงใหม่มีกี่ประตู แต่ละประตูเอาไว้ทำอะไรบ้าง ถ้ายังไม่รู้ แอดจะพาไปหาคำตอบกัน กำแพงเมืองเชียงใหม่ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นกำแพงเมืองชั้นใน คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย กำแพงเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง แต่ประตูเมืองมีทั้งหมด 5 ประตู ซึ่งแต่ละประตูมีหน้าที่และความสำคัญต่างกันออกไป ประตูช้างเผือก ถือเป็นประตูมงคล สมัยก่อนใช้ในพิธีราชาภิเษก กษัตริย์เมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้าเมืองทางประตูนี้ ประตูช้างเผือกอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น วัดโลกโมฬี วัดเชียงยืน อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ วัดหัวข่วง พิพิธภัณฑ์ถิ่นล้านนา เป็นต้น ประตูท่าแพ ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนบ้านเชียงเรือกซึ่งเป็นชุมชนโบราณ และอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำปิง ในสมัยก่อน ประตูท่าแพจึงเป็นเส้นทางสัญจรเพื่อไปยังท่าน้ำ จากประตูท่าแพเพื่อน ๆ สามารถเดินทางไปวัดเชตวัน วัดบุพพาราม วัดอุปคุต และไปช้อปของอร่อย ๆ ได้ที่ตลาดวโรรส ประตูสวนดอก ในอดีตเป็นประตูที่อยู่ใกล้กับพระราชอุทยานของพญามังราย ต่อมาในสมัยพญากือนา พระองค์ได้สร้างวัดขึ้นมาในพื้นที่อุทยาน และเรียกวัดนี้ว่าวัดสวนดอก จากประตูสวนดอก เพื่อน ๆ สามารถเดินทางไปยังท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ สวนสัตว์เชียงใหม่ และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ประตูเชียงใหม่ เดิมชื่อประตูท้ายเวียง ในอดีตเมืองเชียงใหม่ เมืองเวียงกุมกาม และลำพูนตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง จึงใช้ประตูเชียงใหม่ในการเดินทางไปมาระหว่างเมือง ปัจจุบันบริเวณประตูเชียงใหม่เป็นที่ตั้งของถนนวัวลาย ถนนคนเดินสุดฮิตที่มีสินค้าของฝากหลายประเภทให้เลือกซื้อ ประตูแสนปุง ตั้งอยู่ใกล้กับประตูเชียงใหม่ เป็นประตูที่สร้างขึ้นมาภายหลัง แต่ไม่ทราบช่วงเวลาการสร้างที่แน่นอน สมัยก่อนมีชุมชนช่างหลอมโลหะอยู่ใกล้กับประตูแห่งนี้ ซึ่งมีเตาปุง (เตาไฟ) อยู่จำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อแสนปุง นอกจากนี้ เวลามีคนเสียชีวิตจะนำศพออกจากเมืองผ่านประตูนี้เพื่อไปยังสุสาน จากประตูแสนปุง สามารถเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอย่าง วัดศรีสุพรรณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ คราวนี้ เพื่อน ๆ ก็ทราบเรื่องราวของประตูเมืองเชียงใหม่กันแล้ว ถ้าทริปหน้ามีแผนไปเชียงใหม่ อย่าลืมไปเที่ยวแถวประตูเมืองเชียงใหม่กันนะคะ

✨ ย้อนรอยประตูเมืองเชียงใหม่ ✨ อ่านเพิ่มเติม

บอกบุญ…รวมแหล่งส่งต่อของเหลือใช้ในบ้าน

เพื่อน ๆ มีข้าวของที่ไม่ค่อยได้ใช้ หรือเก็บไว้นานจนลืมไปแล้วว่ามีไหมคะ ถ้ามี และกำลังคิดจะโละข้าวของเหล่านั้น อยากให้ทุกคนได้ดูโพสต์นี้ของแอดก่อนนะคะ : )แอดรวบรวมสถานที่รับบริจาคของที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อส่งต่อให้กับผู้อื่นที่ต้องการมาเป็นไอเดียให้ทุกคนค่ะ มีทั้งสถานที่รับบริจาคเสื้อผ้า หนังสือ นิตยสารและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มีที่ไหนบ้างมาดูกันค่ะ ✨1.ร้านปันกัน ร้านปันกัน รับบริจาคหนังสือ สิ่งพิมพ์ ตุ๊กตาสภาพดี เพื่อนำไปเป็นสินค้าแบ่งปัน จำหน่าย และนำเงินที่ระดมได้ทั้งหมดมอบเป็นทุนการศึกษาแก่น้องๆ เยาวชนที่ขาดโอกาส สถานที่รับบริจาค : ส่งทางไปรษณีย์หรือบริจาคด้วยตัวเองที่ ร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เลขที่ 1 ซอยพรีเมียร์ 2 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250 หรือร้านปันกันทุกสาขา โทร. 0 2301 1096 และ 08 1903 6639 เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/pankansociety/ ✨2.StangDonation ศูนย์รับบริจาคหนังสือและวารสาร ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับบริจาคหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีสภาพดี ไม่ผ่านการขีดเขียน สะอาด พร้อมใช้งาน เพื่อส่งต่อให้เยาวชนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ สถานที่รับบริจาค : ศูนย์รับบริจาคหนังสือและวารสาร ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 272 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0 2201 5724 เว็บไซต์ : https://web.facebook.com/StangDonation/ 3.มูลนิธิบ้านนกขมิ้น มูลนิธิบ้านนกขมิ้นเป็นองค์กรที่อุปการะช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส คนชรา และบำบัดผู้เสพยาเสพติด เปิดรับบริจาคสิ่งของ หนังสือ หรือสมทบทุนค่าอาหารของเด็ก ๆ สถานที่รับบริจาค : 89 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240 โทร. 0 2375 6497, 0 2375 2455 เว็บไซต์ : https://web.facebook.com/baannokkamin1989/ 4.Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง โครงการ Paper Ranger ดำเนินการอยู่ภายใต้ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดรับบริจาคกระดาษเอสี่ใช้แล้วหน้าเดียวเพื่อมาทำเป็นสมุดเล่มใหม่ และนำไปส่งมอบต่อให้กับเด็กด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ ยังรับสมัครจิตอาสาประดิษฐ์สมุดทำมือเพื่อน้อง ๆ ด้วย สถานที่รับบริจาค : บริจาคด้วยตนเองหรือส่งไปรษณีย์ได้ที่ บ้านจิตอาสา 2044/21 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทร. 08 9670 4600 (คุณพี) เว็บไซต์ : http://paperranger.org/ , https://web.facebook.com/wearepaperranger 5.โครงการ วน สำหรับเพื่อน ๆ ที่เริ่มเป็นนักแยกขยะ แยกแล้ว กำลังมองหาที่ส่งต่อ แอดขอแนะนำโครงการ วน ค่ะ โครงการนี้รับแต่พลาสติกยืดเท่านั้น เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงใหม่และผลิตภัณฑ์อื่น ยังไม่รับขวด/พลาสติกแข็งอื่น ๆ นะคะ ซึ่งทางโครงการ วนก็ไม่ได้รับพลาสติกยืดแบบฟรี ๆ เพราะทุก 1 กิโลกรัม จะบริจาค 5 บาทให้มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณประโยชน์ด้วย สถานที่รับบริจาค : สามารถนำไปส่งตามจุดรับของโครงการ หรือส่งทางไปรษณีย์ได้ที่ “โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน) 42/174 หมู่ 5 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210 เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/wontogether/?ref=page_internal

บอกบุญ…รวมแหล่งส่งต่อของเหลือใช้ในบ้าน อ่านเพิ่มเติม

📲 คำแนะนำขั้นตอนการใช้งาน QueQ จองคิวก่อนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ

หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรน เปิดการท่องเที่ยวหลายแห่ง อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ก็เริ่มกลับมาเปิดให้ท่องเที่ยวแล้วเช่นกัน วันนี้ แอดมีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนจองคิวเพื่อเข้าไปเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติมาฝาก โดยทางอุทยานฯ กำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ ล่วงหน้า เพื่อลดความแออัดในสถานที่ท่องเที่ยว 1. ติดตั้งแอป QueQ โดยการดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้ทั้งในระบบ iOS และ Android iOS https://apps.apple.com/…/queq-no-more…/id876343584… Android https://play.google.com/store/apps/details… 2. หลังติดตั้งแอปพลิเคชั่นและรับทราบเงื่อนไขการใช้งานแอปฯ แล้ว เปิดแอปฯ QueQ กดเลือกหมวด “อุทยานแห่งชาติ” 3. ค้นหารายชื่ออุทยานแห่งชาติที่ต้องการ 4. กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มบนหน้าแอปพลิเคชั่น ได้แก่ เลือกวันที่เข้าพื้นที่ / เบอร์โทรศัพท์ / ประเภทรถโดยสารที่เข้าพื้นที่ / จำนวนผู้เดินทาง / ประเภทและชื่อผู้เดินทางแต่ละคน 5. เลือกช่วงเวลาที่จะไป จากนั้นกดจอง (หากกดจองไม่ได้ หมายถึงในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้จองเต็มจำนวนแล้ว และหากจองแล้ว แต่ไม่สะดวกเดินทางในวันที่จอง สามารถกดยกเลิกภายหลังได้) 6. ในวันเดินทาง ควรไปถึงอุทยาน ฯ ก่อนเวลาอย่างน้อย 10 นาที หากไม่แสดงข้อมูลการจองในเวลาที่กำหนด ทางอุทยานฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า 7. เมื่อไปถึงอุทยาน ฯ นำข้อมูลการจองแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช็ครายละเอียด 8. ในการผ่านด่านจัดเก็บค่าบริการ จะมีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจรหัสการจอง 9. ก่อนเข้าพื้นที่ เช็คอินผ่านระบบ “ไทยชนะ” 10. เข้าตรวจวัดอุณหูมิ และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ที่จุดคัดกรอง การเข้าชมภายในอุทยานแห่งชาติแต่ละจุดจะมีการจำกัดจำนวนตามที่อุทยานฯ กำหนด ให้เพื่อน ๆ ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ท่องเที่ยวแบบรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และอย่าลืมเช็คเอาท์ผ่านระบบ “ไทยชนะ” ก่อนเดินทางกลับกันด้วยนะคะ  อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ

📲 คำแนะนำขั้นตอนการใช้งาน QueQ จองคิวก่อนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ อ่านเพิ่มเติม

กระทงรักษ์โลกรูปแบบต่าง ๆ จากวัสดุธรรมชาติ

เดือนแห่งประเพณีลอยกระทงมาถึงแล้ว เพื่อน ๆ มีแพลนเที่ยวที่ไหนกันหรือยัง แต่แน่นอนว่า เที่ยววันลอยกระทงเราก็ต้องหากระทงไปลอยกันใช่มั้ยล่ะ วันนี้แอดมีตัวอย่างกระทงหลากหลายไอเดียมาแชร์ให้อ่านกันเพลิน ๆ เป็นกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ทำเองได้ง่าย ๆ แถมยังรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 1.กระทงใบตอง กระทงที่เราเห็นได้ทั่ว ๆ ไป เป็นกระทงที่ทำง่าย วัสดุหลักคือใบตอง ประดับด้วยดอกไม้ตามชอบ เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ทำให้กระทงใบตองเป็นที่นิยม 2.กระทงกะลามะพร้าว เป็นกระทงที่นำกะลามะพร้าวมาทำเป็นฐาน ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ ซึ่งกระทงแบบนี้จะเป็นกระทงแบบเดียวกับกระทงสาย ในประเพณีลอยกระทงของจังหวัดตากนั่นเอง 3.กระทงกาบกล้วย/ กาบมะพร้าว เป็นกระทงที่ใช้กาบกล้วยหรือกาบมะพร้าวมาเป็นฐาน และนำดอกไม้ต่าง ๆ มาประดับตกแต่งให้สวยงาม กาบกล้วยและกาบมะพร้าว มีลักษณะเป็นเส้นใย น้ำหนักเบาและยังย่อยสลายได้อีกด้วย 4.กระทงฟักทอง เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบกระทงได้เก๋สุด ๆ เพราะเราสามารถตัดแต่งรูปร่างหน้าตาของฟักทองออกมาได้ตามที่ต้องการ และด้วยสีของฟักทองสีส้ม จากฟักทองธรรมดาก็กลายเป็นกระทงฟักทองในธีม “ฮาโลวีน” ได้เลยล่ะ 5.กระทงน้ำแข็ง สำหรับกระทงน้ำแข็ง นับเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมเอามาก ๆ เช่นกัน เพียงมีแค่น้ำเปล่ากับภาชนะเพื่อทำน้ำแข็ง ใส่ดอกไม้ประดับลงไปให้สวยงาม นำไปแช่แข็งทิ้งไว้ เมื่อกลายเป็นน้ำแข็งก็เอาออกจากภาชนะไปลอยน้ำได้แล้วล่ะ ถ้าเพื่อน ๆ ไปลอยกระทงด้วยกันหลายคน แอดแนะนำให้ลอยกระทงอันเดียวกัน ถือเป็นการลอยกระทงแบบรักษ์โลก ช่วยลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ

กระทงรักษ์โลกรูปแบบต่าง ๆ จากวัสดุธรรมชาติ อ่านเพิ่มเติม

6 ข้อแนะนำลอยกระทงให้ปลอดภัย

ใกล้จะถึงเทศกาลวันลอยกระทงแล้ว เพื่อน ๆ วางแผนไปลอยกระทงกันที่ไหนรึเปล่า ยังไงก็อย่าลืมระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุกันด้วยนะ วันนี้แอดมีคำแนะนำการลอยกระทงให้ปลอดภัยมาฝาก จะได้ลอยกระทงกันอย่างมีความสุขค่ะ  ลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหรือโป๊ะเรือที่มั่นคงแข็งแรง และระยะท่าน้ำกับแม่น้ำต้องไม่สูงชันจนเอื้อมไม่ถึง ไม่เช่นนั้นอาจทำให้พลัดตกน้ำได้  ผู้ปกครองควรดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงหรือเล่นที่ท่าน้ำตามลำพัง  ไม่จุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน  ไม่ปล่อยโคมลอยในเขตชุมชนและบริเวณโดยรอบสนามบิน  หากพบอุบัติเหตุทางน้ำ โทรเบอร์ 1196 สายด่วนกรมเจ้าท่าและเหตุด่วนทางน้ำ  หากไปลอยกระทงตามสถานที่ที่มีการจัดงานลอยกระทง ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผู้จัดงานกำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ถ้าไปลอยกระทงด้วยกันหลายคน แอดแนะนำให้ลอยกระทงเดียวกัน ถือเป็นการลอยกระทงแบบรักษ์โลก ช่วยลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม 

6 ข้อแนะนำลอยกระทงให้ปลอดภัย อ่านเพิ่มเติม

✨ ล่องสะเปา จาวละกอน ✨

เข้าสู่เดือนของสีสันแห่งสายน้ำอย่าง “วันลอยกระทง” หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ในแต่ละท้องถิ่นก็มีประเพณีแตกต่างกันออกไป ซึ่งจังหวัดลำปางเองก็มีงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในไทย นั่นคือ “ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน” คำว่า “สะเปา” เป็นภาษาถิ่น แปลว่า “เรือสำเภา” ส่วนคำว่า “จาวละกอน” แปลว่า “ชาวลำปาง” นั่นเอง ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมานาน โดยชาวบ้านจะนำเรือสำเภาน้อย ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้น ใส่สิ่งของลงไปและนำไปลอยน้ำ เพื่อเป็นการทำทานให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือให้ทานกับผู้อื่นที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งการใส่สิ่งของลงไปนี้ บ้างก็เชื่อว่าทำเพื่อเป็นการเตรียมไว้ใช้สำหรับภพหน้า นอกจากนี้ ยังถือเป็นการลอยทุกข์ สักการะ และขอขมาแม่น้ำ คล้าย ๆ กับการลอยกระทงนั่นเอง เรือสะเปานี้จะประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ทั่วไป ได้แก่ ไม้ไผ่ผ่าซีกบาง กาบกล้วย ต้นมะละกอ กระดาษแก้ว นำมาประดิษฐ์เป็นตัวเรือ ตกแต่งด้วยดอกไม้หลากสีสัน ปักธูป เทียน ส่วนสิ่งของที่นำมาใส่ตามคติความเชื่อนั้น นิยมใส่เป็นอาหาร เช่น ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น น้ำตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู เพื่อเป็นกุศลแก่ผู้รับ ปีนี้ ทางจังหวัดลำปางมีการจัดงานประเพณีล่องสะเปาจาวละกอนตามปกติ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีอันเก่าแก่ โดยจะมีการประดับไฟสวยงาม มีแสงสว่างเพียงพอ และปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่ไปล่องสะเปา แต่เพื่อเป็นควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงงดจัดกิจกรรมรื่นเริงทุกประเภท 19-20 พฤศจิกายน 2564 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำวัง ได้แก่ ท่าน้ำบ้านดงไชย (เขื่อนยาง) ท่าน้ำบ้านสิงห์ชัย (หลังโรงพยาบาลแวนแซนต์วูร์ด) และท่าน้ำสะพานรัษฎาฝั่งกาดกองต้า

✨ ล่องสะเปา จาวละกอน ✨ อ่านเพิ่มเติม

หนังตะลุง เสน่ห์การละเล่นแห่งเมืองใต้

หนังตะลุงถือเป็นศิลปะการแสดงประจำภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ ต้องใช้ฝีมือและความเชี่ยวชาญในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่การทำตัวหนัง การเชิดหุ่น การพากย์เสียงและการเล่นดนตรีประกอบ สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับหนังตะลุง แอดจะพาไปทำความรู้จักการแสดงนี้ให้มากขึ้น หนังตะลุงเป็นมหรสพการแสดงเงาจำพวกหนึ่ง ซึ่งมหรสพการแสดงเงานั้นมีมานานหลายพันปี แพร่หลายในประเทศแถบยุโรปและเอเชีย ในประเทศอินเดียมีการแสดงเงาที่เรียกว่า ฉายานาฏกะ โดยหยิบเรื่องรามเกียรติ์มาทำการแสดง หลังจากนั้นวัฒนธรรมการแสดงนี้ก็แพร่หลายเข้ามาในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า กัมพูชาและไทย หนังตะลุงของภาคใต้คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหนังของชวา และเริ่มแพร่หลายในจังหวัดพัทลุงก่อน คนทั่วไปจะเรียกว่าหนังพัทลุง และเพี้ยนมาเป็น “หนังลุง” และ “หนังตะลุง” ตัวหนังตะลุงทำมาจากหนังวัว แกะลายให้เป็นรูปร่างตัวละครต่าง ๆ ตัวละครหลักในหนังตะลุง ได้แก่ ฤาษี พระอิศวร เจ้าเมือง นางเมือง พระเอก นางเอก นางเบียน (ตัวร้ายฝ่ายหญิง) ยักษ์ และตัวตลก ซึ่งหลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไอ้เท่ง หนูนุ้ย ยอดทอง และสะหม้อ เป็นต้น ปัจจุบันมีการทำตัวหนังตะลุงจากต้นแบบที่เป็นดาราคนดังเพื่อความทันสมัย ในการแสดงหนังตะลุง จะมี “นายหนัง” ทำหน้าที่เชิดหนังตะลุง พร้อมทั้งขับร้องและพากย์เสียงตัวละคร นายหนังจึงต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก เรื่องราวที่นำมาทำการแสดงมีทั้งเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดี นิทานพื้นบ้าน รวมไปถึงละคร ภาพยนตร์ เพื่อให้ทันกับยุคสมัย ผู้ชมจะได้เข้าถึงเรื่องราวและมีอารมณ์ร่วมกับการแสดงมากยิ่งขึ้น หนังตะลุงจะทำการแสดงตามงานเฉลิมฉลองสำคัญเทศกาลงานวัด รวมไปถึงงานบุญและงานศพ ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวงานเทศกาลต่าง ๆ ของภาคใต้ก็สามารถไปชมการแสดงหนังตะลุงได้ ปัจจุบัน มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจในศาสตร์ขอหนังตะลุง และตั้งใจจะสืบทอดการแสดงนี้ให้คงอยู่ โดยมีชมรมหนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก จังหวัดนครศรีธรรมราชคอยฝึกฝนและให้การสนับสนุน ส่วนใครที่อยากเรียนรู้เรื่องราวของหนังตะลุงให้มากยิ่งขึ้น อยากเห็นตัวหนังตะลุงของจริง หรืออยากชมวิธีการแกะหนังตะลุง สามารถไปชมได้ที่บ้านหนังตะลุง ของคุณลุงสุชาติ ทรัพย์สิน  ถนนศรีธรรมโศก 3 อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช  เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. https://goo.gl/maps/dqDePvMFyVX3i8Wt7

หนังตะลุง เสน่ห์การละเล่นแห่งเมืองใต้ อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top