✨ อดีต…อุดร ✨
📍 อุดรธานี 📍 เมืองที่ซ่อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลายเอาไว้ในพื้นที่มากมาย เหมือนกับแต่ละสถานที่ในจังหวัดต่อไปนี้ ที่น่าจะช่วยฉายภาพให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และตัวตนของคนอุดรฯ ที่กล่าวได้ว่า มีประวัติศาสตร์เป็นเอกลักษณ์ และน่าเดินทางไปเยี่ยมชมมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ร่วมกับ The Cloud นำเสนอคอลัมน์ Take Me Out เที่ยวบ้านเพื่อน รอบนี้พาทัวร์อุดรธานีผ่านกลิ่นอายความเก่าแก่กับ 10 สถานที่ที่เราขอพาเช็กอินให้ชม เที่ยว ช้อปกันแบบจุใจ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่เคยล้ำสมัยที่สุดในโลก ศาลเจ้าสองวัฒนธรรม ไปจนถึงร้านส้มตำเจ้าเด็ด 📌 ใครพร้อมเที่ยวแล้ว เตรียมปักหมุดได้เลย ✳ ตรวจสอบมาตรการการเดินทางเข้าพื้นที่ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี : https://www.facebook.com/udpho ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีบอกว่า แท้จริง “อุดรธานีไม่เคยมีอยู่” ที่ตั้งของจังหวัดในปัจจุบันนี้ เป็นถิ่นฐานที่เดิมตั้งบนพื้นที่ชายขอบรกร้าง ในฐานะกองบัญชาการ ‘มณฑลลาวพวน’ หรือ ‘มณฑลฝ่ายเหนือ’ ในช่วงราว พ.ศ. 2436 ภายใต้เหตุพิพาทสำคัญกับฝรั่งเศสในยุคอาณานิคมอย่างเหตุการณ์ ร.ศ.112 มณฑลฝ่ายเหนือนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘มณฑลอุดร’ และเริ่มเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการค้า จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 มณฑลอุดรจึงถูกยกเลิก แล้วยกฐานะเป็น ‘จังหวัดอุดรธานี’ เรื่อยมาจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนมิตรภาพนำความเจริญมาสู่จังหวัดพร้อมสหรัฐอเมริกาและทหาร G.I. ด้วยการเป็นพื้นที่ตั้งฐานทัพโจมตีทางอากาศในสงครามเวียดนาม G.I. ได้เปลี่ยนสภาพสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดไปอย่างมาก จากการทำเกษตรและกิจการขนาดเล็ก ๆ สู่การเกิดขึ้นของโรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง อาบอบนวด และตึกแถวสองข้างทางในตัวเมืองก็อัดแน่นไปด้วยร้านค้าหลากหลาย ทั้งร้านสูท เครื่องประดับ ห้องถ่ายภาพ ร้านเสริมสวย และร้านค้าอื่น ๆ มากมาย การเติบโตของเมืองจากเหตุความขัดแย้งภายนอกแต่ละครั้ง ประกอบกับการมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้อุดรธานีประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ที่ต่างพกพาประวัติศาสตร์และความเชื่อของตัวเอง ประกอบสร้างเป็นเรื่องราวของจังหวัดจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพร้อมแล้วเราจะพาไปย้อนดูอุดรในอดีต ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ ศาลเจ้าจีน ค่ายทหารสงครามเย็น จนถึงร้านอาหาร 1 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หลักฐานแรกตั้งถิ่นฐานในอุดรธานีที่เป็นมรดกโลก “ถ้าคนอุดรฯ ไปอยู่ในดงคนอื่น หรือถ้ามีคนนอกถามว่าพูดถึงจังหวัดอุดรฯ ต้องพูดถึงอะไร คนอุดรฯ จะยังคงนึกถึงบ้านเชียงอยู่” กนกวลี สุริยะธรรม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ให้ความคิดเห็นถึงแหล่งอารยธรรมโบราณอายุกว่า 5,000 ปี ในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนคนอุดรฯ สถานที่นี้ถูกขุดค้นเจอเมื่อ พ.ศ. 2517 ในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะได้รับเลือกเป็นมรดกโลกลำดับที่ 359 ใน พ.ศ. 2535 บ้านเชียงได้ถูกพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าชมได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาครอบคลุมเรื่องพัฒนาการทางยุคสมัย วิถีชีวิต การขุดค้น และจัดแสดงโบราณวัตถุ ทั้งเครื่องปั้นดินเผา สำริด เหล็ก รวมถึงโครงกระดูกที่ขุดพบ กับอีกจุดจัดแสดงแหล่งการขุดค้น ณ วัดโพธิ์ศรีที่ตั้งอยู่ห่างไป 900 เมตร ปัจจุบันนอกจากงานให้บริการพิพิธภัณฑ์ ที่นี่ได้ให้บริการในด้านการวิจัยและงานวิชาการ อย่างการเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ งานสำรวจทำบัญชีโบราณวัตถุในพื้นที่ ให้บริการออกใบอนุญาตส่งโบราณวัตถุ ร่วมจัดงานมรดกโลกซึ่งเป็นงานประจำปีที่จะจัดร่วมกับหน่วยงานรัฐและชุมชน รวมถึงสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการให้การท่องเที่ยวของชุมชน โดยรอบมีโฮมสเตย์ ร้านค้า กลุ่มทอผ้า กลุ่มปั้นหม้อ ซึ่งเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดำเนินสอดคล้องกับเรื่องราวในพื้นที่มาโดยตลอด หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320 https://goo.gl/maps/xpBzAH9RCyne3vMb9 วัน-เวลาทำการ : พิพิธภัณฑ์ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) หลุมขุดค้น วัดโพธิ์ศรีใน ทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น. 0 4223 5040 Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง : Banchiang National Museum 2 กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนตำหูกที่ย้อมสีผ้าด้วยดอกบัว จากความทรงจำวัยเด็กที่ได้เห็นการทอผ้าใต้ถุนบ้านเป็นภาพชินตา อภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก หลังจากเรียนจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ต้องการกลับบ้านเกิดมาพัฒนาชุมชนด้วยสิ่งที่เขารักและผูกพันมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อภาพที่จำได้เหล่านั้นกลับหายไปเมื่อเขาเริ่มเติบโตขึ้น “บ้านโนนกอกเลิกทอผ้ามายี่สิบกว่าปีแล้ว ผมต้องเริ่มจากหาช่างทอลูกหลานที่ยังหลงเหลือ เรามารวมกลุ่มกันทอผ้าแบบโบราณ จากคนเดียวเป็นสอง สาม สี่ ห้า จนปัจจุบันยี่สิบห้าคน รวมถึงเรามีเครือข่ายขยายไปสองร้อยกว่าคนในหมู่บ้านต่าง ๆ” ผู้ใหญ่บ้านยังเล่าว่า การทอผ้าหรือภาษาอีสานเรียก ‘ตำหูก’ เป็นวิถีชีวิตที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานีที่มีผ้าทอลายขิดเป็นภูมิปัญญาและมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ นอกจากตั้งใจรื้อฟื้นการใช้กี่ทอผ้าแบบโบราณโดยไม่ใช้เครื่องจักร เขายังต้องการสร้างเอกลักษณ์ในด้านสีสันและเรื่องราวของท้องถิ่นให้ฝ้ายและไหมด้วย เอกลักษณ์ของที่นี่คือการนำส่วนต่าง ๆ ของดอกบัวมาเป็นวัตถุดิบย้อม โดยค้นพบว่า ดอกบัวตากแห้งจะได้สีน้ำตาลทอง สายบัวจะได้สีเทาเงิน กลีบได้สีชมพู จนภายหลังก็ได้พัฒนาเช่นพบว่า เมื่อใช้น้ำปูนกับมะขามเปียกผสมจะได้สีเขียวขี้ม้า หรือที่นิยมมากคือการหมักกับโคลน ที่จะทำให้ย้อมดอกบัวได้สีดำ นำมาซึ่งความแตกต่างของเอกลักษณ์สีธรรมชาติที่ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักไปไกล ชุมชนบ้านโนนกอก 63 หมู่ที่ 18 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 https://goo.gl/maps/achU8sf5SgrSRWVq5 วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น. 06 1942 8808 Facebook : กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จ.อุดร 3 ส้มตำเบญจางค์ ร้านส้มตำเก่าแก่แห่งบ้านโนน อร่อยมาตั้งแต่รุ่นยาย ถ้าถามคนอุดรฯ ว่าร้านส้มตำร้านไหนอร่อยที่สุด ว่ากันตามตรงแต่ละคนก็อาจตอบร้านโปรดของตัวเองที่มีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แต่ถ้าถามว่าร้านไหนเปิดมายาวนานที่สุด