หลายคนอาจพอได้ยินเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด และเคยไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองมาแล้ว แต่เคยสงสัยไหมว่า พระธาตุประจำปีเกิดถูกกำหนดขึ้นอย่างไร แอดสงสัยค่ะ จึงไปหาความรู้มาฝาก
ชุธาตุ หรือพระธาตุประจำปีเกิด เป็นความเชื่อของชาวล้านนาในเรื่องการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนา ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดในครรภ์มารดา ดวงจิตได้เคยสถิตอยู่กับต้นไม้ ซึ่งมีภูตผีหรือสัตว์รักษาอยู่ แต่ด้วยความไม่เหมาะสม ที่ดวงจิตของมนุษย์จะอยู่กับอมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย ดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิด จึงได้ลาไปจากต้นไม้ดังกล่าว เพื่อไปสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไป ตามที่สัตว์ประจำนักษัตรพาไปพัก เพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น
- ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตน และเชื่อว่าการได้ไปสักการะจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต โดยพระธาตุประจำปีเกิดอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- 🌟 คนเกิดปีชวด สักการะ พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- 🌟 คนเกิดปีฉลู สักการะ พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
- 🌟 คนเกิดปีขาล สักการะ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
- 🌟 คนเกิดปีเถาะ สักการะ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
- 🌟 คนเกิดปีมะโรง สักการะพระธาตุวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
- 🌟 คนเกิดปีมะเส็ง สักการะ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธยาประเทศอินเดีย หรือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่ แทน
- 🌟 คนเกิดปีมะเมีย สักการะ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า หรือ พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดตาก แทน
- 🌟 คนเกิดปีมะแม สักการะ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
- 🌟 คนเกิดปีวอก สักการะ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
- 🌟 คนเกิดปีระกา สักการะ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
- 🌟 คนเกิดปีจอ ให้ปล่อยโคมเพื่อสักการะพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ สักการะพระธาตุวัดเกต จังหวัดเชียงใหม่
- 🌟 คนเกิดปีกุน สักการะ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย
สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตน ไม่สะดวกเดินทาง ก็สามารถหารูปภาพพระธาตุประจำปีเกิดมากราบไหว้ที่บ้านได้ และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เมื่อเดินทางไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตกันแล้ว ก็อย่าลืมแวะท่องเที่ยวระหว่างทาง เสาะหาอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ และซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับมาด้วยนะคะ