ประเพณีการทำบุญตักบาตรอยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน เพื่อน ๆ อาจจะเคยได้ยินประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว หรือประเพณีตักบาตรดอกไม้กันมาบ้าง แต่ทราบไหมว่า เรายังมีประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทรายอีกด้วย ประเพณีนี้มีแห่งเดียวในประเทศไทย คือที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี
ประเพณีนี้มีที่มาย้อนไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยนั้นมีการกำหนดพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติในแต่ละเดือน เรียกว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้องพระสงฆ์ภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงปู่โห้) เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ต้องการสืบสานประเพณีตักบาตรขนมเบื้องนี้ไว้ แต่สมัยนั้นขนมเบื้องต้องใช้วัตถุดิบมากมายและทำยาก หลวงปู่จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการตักบาตรขนมครก เพราะขนมครกทำง่ายและหาวัตถุดิบไม่ยาก
เริ่มแรกพ่อค้าแม่ค้าจะพายเรือมาขายขนมครกให้ชาวบ้านที่มาใส่บาตรที่วัด ต่อมาเมื่อการค้าขายทางเรือไม่เป็นที่นิยม ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาทำขนมครกกันที่วัดแทน เริ่มตั้งแต่การหมักข้าวสารเอาไว้ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็จะช่วยกันโม่แป้ง คั้นน้ำกะทิ และหยอดแป้งทำขนมครก จากนั้นก็ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ ดังนั้นขนมครกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และเป็นที่มาของคำว่า ขนมครก “ขนมของ คน-รัก-กัน” อีกด้วย
👉 ปัจจุบันในงานประเพณี นอกจากพิธีตักบาตรแล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกสนานที่สร้างสีสันภายในงานอีก เช่น การประกวดทำขนมครก การแข่งขูดมะพร้าว และแข่งกินขนมครก เป็นต้น
🙏 ขอบคุณรูปภาพจาก ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม