แอดเชื่อว่า เพื่อน ๆ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อสมุนไพรที่เรียกว่า “กัญชง” มาบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจยังสับสนว่า นี่เป็นอีกชื่อของ “กัญชา” หรือเปล่า วันนี้แอดจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกัญชงให้มากขึ้น ว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้มีหน้าตายังไง และมีประโยชน์อะไรบ้าง
ก่อนอื่นขอเริ่มที่ความต่างของกัญชงและกัญชาก่อน แม้ว่าพืชทั้ง 2 ชนิดนี้จะเป็นพืชล้มลุกที่่อยู่ในตระกูล Cannabis เหมือนกันแต่ก็เป็นคนละสายพันธุ์ เราสามารถแยกพืชสองพี่น้องนี้ได้โดยดูจากลักษณะภายนอก นั่นคือ กัญชา (Marijuana) จะมีต้นเตี้ยและใบอ้วน แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก ส่วนกัญชง (Hemp) จะมีต้นสูงและใบเรียว แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก
👉 นอกจากนี้ กัญชาและกัญชงยังมีคุณสมบัติด้านสารเคมีที่แตกต่างกัน นั่นคือ กัญชงจะมีสาร THC ไม่เกิน 1% และ CBD เกิน 2% ส่วนกัญชามี THC เกิน 1% และสาร CBD ไม่เกิน 2%
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol): มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร ลดอาการคลื่นไส้
- สาร CBD (Cannabidiol): ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล
🍀 ในส่วนประโยชน์ของกัญชงนั้นก็มีมากมาย สามารถใช้ได้แทบทุกส่วนทีเดียว 🍀
- เปลือกส่วนลำต้น สามารถแปรรูปเป็นเส้นด้ายและเชือก นำไปทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงทำเป็นด้ายสายสิญจน์ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อ
- เนื้อส่วนลำต้น เมื่อลอกเปลือกออกแล้วสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้
- แกนของต้น มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น ดูดซับน้ำหรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ เอทานอล รวมถึงนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งอาคาร
- เมล็ด สามารถใช้เป็นอาหารของคนและนกได้ ภายในอุดมไปด้วยน้ำมันจากโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวิตามินดีที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้
- น้ำมันจากเมล็ด สามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น สบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ฯลฯ
- โปรตีนในเมล็ด สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้ เช่น เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร ไอศกรีม อาหารเสริม ฯลฯ
- ใบกัญชง สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้ โดยนิยมทำเป็นผงผสมในอาหารอย่างเส้นพาสต้า คุกกี้ หรือขนมปัง รวมทั้งสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ เพราะมีสรรพคุณช่วยดูแลผิวพรรณ ทำให้ผิวชุ่มชื้น หรือจะนำใบมาทำเป็นชาก็ได้เช่นกัน