✨รวมอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 16 แห่ง ✨

ทะเลไทยขึ้นชื่อว่าสวยงามไม่แพ้ใคร วันนี้แอดจะมาแนะนำ อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 16 แห่ง ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก หากใครมีโอกาสได้ไปรับรองประทับใจแน่นอน ลองตามแอดมาดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง

👉 สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลก่อนการเดินทางได้ที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2579 5269

จังหวัดพังงา

1. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่งและอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

มีชายหาดและเกาะสวยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญที่นี่ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จากการค้นพบหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่า เคยมีกลุ่มชนอาศัยอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพเขียนสี เศษภาชนะดินเผา ขวานหิน ฯลฯ

2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก)

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังน้ำตื้นของเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ ที่นี่จึงถือเป็นแหล่งดำน้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ส่วนอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น

3. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

อุทยานแห่งนี้ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เทือกเขาลำปี มีลักษณะเป็นภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีที่อายุราว ๆ 60–140 ล้านปี มีป่าดงดิบปกคลุม และอีกส่วนคือ ชายหาดท้ายเหมือง ที่มีลักษณะเป็นหาดทรายขาวสะอาดกว้างและยาว มีความเงียบสงบ เป็น่จุดวางไข่ของเต่าทะเลและที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก

4.อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพังงา ได้แก่ อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง และ อำเภอเมือง ลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญในจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำพังงาและแม่น้ำตะกั่วป่า

ภายในมีชายหาดที่ซ่อนตัวอยู่ในเขา 2 แห่ง คือชายหาดเขาหลัก เป็นหาดหินสวยงาม มีต้นสนตลอดแนวริมหาด ส่วนอีกหาดคือ หาดเล็ก แต่อาจจะไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก เหมาะการเล่นน้ำทะเลหรือพักผ่อนริมชายหาด มีบรรยากาศเงียบสงบเหมือนเป็นชายหาดส่วนตัว

5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

สิมิลัน มาจากภาษายาวี แปลว่า “เก้า” ซึ่งมาจากจำนวนของเกาะน้อยใหญ่ทั้งหมดที่รวมกันเป็นหมู่เกาะสิมิลัน อีกหนึ่งสวรรค์ของนักดำน้ำในไทยนั่นเอง
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันประกอบไปด้วย 9 เกาะ เรียงกันจากเหนือลงมาใต้ ดังนี้
-เกาะหูยง
-เกาะปายัง
-เกาะปาหยัน
-เกาะเมี่ยง เป็นสองเกาะติดกัน เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีปูไก่และนกชาปีไหน สัตว์ที่หาชมได้ยาก
-เกาะปายู
-เกาะหัวกะโหลก เป็นเกาะที่มีลักษณะคล้ายหัวกะโหลก มีปะกะรัง ปลากระเบนราหูและหุบเขาใต้น้ำ
-เกาะสิมิลัน มีขนาดใหญ่สุด เป็นแหล่งดำน้ำ ชมปะการังและสัตว์ทะเล มีจุดชมวิวหินเรือใบ
-เกาะบางู จุดดำน้ำชมกองหินใต้น้ำ กองหินคริสต์มาสพอยต์ ต่อมาได้มีการรวมเอาเกาะตาชัยมาอยู่ในหมู่เกาะสิมิลันด้วย

* พื้นที่บริเวณโดยรอบของเกาะหูยง เกาะปายัง และเกาะปาหยัน ได้ถูกสงวนให้เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะโดยเด็ดขาด

จังหวัดสตูล

6. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามลายูคำว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า มีอ่าวมาก เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ทางด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของเมืองไทย

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยถึง 51 เกาะ โดยมีเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะ คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี โดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี 

7. อุทยานแห่งชาติทะเลบัน

ตั้งอยู่ที่ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ติดกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางหุบเขาจีนและเขามดแดง เกิดขึ้นจากการยุบตัวของพื้นดิน โดยน้ำในบึงมาจากต้นน้ำที่ออกมาจากผนังภูเขา

บริเวณรอบ ๆ ของอุทยาน มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีภูเขา น้ำตก ถ้ำ เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หายากอย่าง เขียดว้าก (หมาน้ำ) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรูปร่างคล้ายกบที่ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเผ่าซาไกหรือเงาะป่าอีกด้วย โดยคำว่า ทะเลบัน เพี้ยนมาจาก ภาษามลายูว่า เลิดเรอบัน ที่มีความหมายว่า แผ่นดินยุบ นั่นเอง

8. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

ประกอบด้วยเกาะ 22 เกาะ วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ รูปร่างแปลกตา มีลักษณะเป็นเกาะหินปูนที่มีความลาดชันมีโพรง ถํ้า หลุมยุบ หน้าผาสูงชัน จากการกัดเซาะของน้ำและลม ที่ราบบนเกาะส่วนมากเป็นหาดทรายแคบ ๆ สั้น ๆ อยู่ตามหัวแหลมของเกาะและอ่าว

จังหวัดภูเก็ต

9. อุทยานแห่งชาติเขาสิรินาถ
เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติหาดในยาง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดภูเก็ต ภายในบริเวณอุทยานมีป่าสนทะเล หาดทราย แนวปะการัง ที่วางไข่ของเต่าทะเล จักจั่นทะเลและเป็นที่อยู่อาศัยหอยทะเลที่หายากหลายชนิด

จังหวัดตรัง

10. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา ภายในประกอบด้วยชายหาดและเกาะ 7 แห่ง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
– ส่วนชายหาด ได้แก่ หาดปากเมง หาดฉางหลาง หาดยาว หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม
– ส่วนเกาะ ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะปลิง เกาะแหวน เกาะเมง และเกาะเจ้าไหม

นอกจากนี้ บริเวณอุทยานฯ ยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติทางทะเล ที่เน้นทำการวิจัยหญ้าทะเลซึ่งมีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและเป็นอาหารของพะยูนที่ใกล้จะสูญพันธุ์อีกด้วย 

จังหวัดระนอง

11.อุทยานแห่งชาติแหลมสน

ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 60 กิโลเมตร และหมู่เกาะ 2 หมู่เกาะ ได้แก่ หมู่เกาะกำใหญ่และหมู่เกาะกำนุ้ย และมีเกาะต่าง ๆ อีก 8 เกาะ คือ เกาะหมู เกาะเปียกน้ำน้อย เกาะเปียกน้ำใหญ่ เกาะเทา เกาะค้างคาว เกาะล้าน เกาะกำหนุ่ย และเกาะไข่ใหญ่ รวมอยู่ด้วย จุดเด่นของที่นี่คือเม็ดทรายละเอียดนุ่มเท้า ป่าสนธรรมชาติ เป็นแหล่งดูปะการังและจุดชมนกที่ดี

12.อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี

ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง มีพรมแดนติดกับเมียนมาทางด้านตะวันตก มีแมน้ำกระบุรีเป็นเส้นแบ่งกั้นพรมแดนของทั้งสองประเทศ มีป่าชายเลนครอบคลุมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรีและบริเวณหมู่เกาะในลำน้ำกระบุรี ซึ่งประกอบด้วย เกาะขวาง เกาะยาว เกาะปลิง เกาะเสียด และเกาะนกเปล้า

13.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง

หมู่เกาะระนอง เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่ทอดยาวตลอดแนวชายฝั่งเหนือ-ใต้ ของทะเลอันดามัน ติดกับชายแดนเมียนมา

ภายในอุทยาน มีเกาะหลายเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่งได้แก่ เกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน ฯลฯ สภาพพื้นที่เป็นป่าดงดิบ และมีเกาะที่ห่างจากชายฝั่ง ได้แก่ เกาะช้าง เกาะทะลุ เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ และเกาะไฟไหม้ ฯลฯ 

จังหวัดกระบี่

14. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
ตั้งอยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองทะเล ตำบลไสไทย ตำบลอ่าวนางและตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกของภาคใต้ เป็นอุทยานที่มีลักษณะสวยงาม รอบ ๆ เกาะมีปะการัง กัลปังหา ทิวทัศน์ใต้ทะเลที่งดงาม มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติคือภูเขาหินปูนที่มีหน้าผาเป็นชั้น ๆ และมีป่าไม้ 3 ประเภท คือ ป่าดงดิบชื้น ป่าชายเลน ป่าพรุ

ไฮไลท์ของอุทยานคือบริเวณ หมู่เกาะพีพี อดีตชาวบ้านเรียกหมู่เกาะนี้ว่า “ปูเลาปิอาปิ” โดยคำว่า “ปูเลา” แปลว่าเกาะ คำว่า “ปิอาปิ” เป็นชื่อต้นไม้ทะเลชนิดหนึ่งจำพวกแสมและโกงกาง ต่อมาเรียกว่า “ต้นปีปี” ซึ่งภายหลัง กลายเสียงเป็น “พีพี” นั่นเอง โดยหมู่เกาะพีพี จะประกอบด้วยประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ ๆ คือ เกาะพีพีดอน และ เกาะพีพีเล และเกาะเล็ก ๆ ข้างเคียง คือ เกาะยูง เกาะไม้ไผ่

15. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจ ประกอบด้วยภูเขาหินปูน ป่าดิบ ป่าชายเลน และเกาะต่าง ๆ มีพันธุ์ไม้หลากหลาย เดิมมีชื่อว่า “ธารอโศก”

ภายในอุทยานเหมาะสำหรับการพักผ่อน เล่นน้ำ มีภาพเขียนศิลปะในถ้ำจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนสีโบราณเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมในอดีต

สถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ของที่นี่คือ เกาะห้อง เกาะผักเบี้ย เกาะเหลาลาดิง น้ำตกธารโบกขรณี เขากาโรส

16. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

คำว่า “ลันตา” มาจากภาษาชวาคำว่า “ลันตัส” หมายถึง ผลาปลาย่าง คือ ที่ย่างปลาที่สร้างจากไม้รูปสี่เหลี่ยม ยกพื้นสูงขึ้นคล้ายโต๊ะ ประกอบด้วยเกาะ 25 เกาะ มีเกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย เกาะตะละเบ็งและเกาะใกล้เคียง รวมไปถึงหมู่เกาะห้า เกาะรอกนอก เกาะรอกใน และเกาะไหง

พื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะมีสภาพเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่า ชาวเกาะส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะลันตาน้อย นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก

Scroll to Top