“นกเงือก” หรือ “Hornbills” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และถือเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่สำคัญ เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่แต่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
หากพูดถึงสัญลักษณ์แห่งรักแท้…เมื่อนกเงือกจับคู่แล้ว จะใช้ชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต ไม่ว่าคู่เดิมจะตายหรือหายไปก็จะไม่หาคู่ใหม่
โดยนกเงือกจะเริ่มหาคู่ในช่วงปลายปี และเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน❣️
📣ด้วยพฤติกรรมการครองรักและผสมพันธุ์กับคู่เดิมนี้ จึงยกให้นกเงือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” (Love Hornbills Day) ตั้งแต่ พ.ศ. 2547
นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด และหลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
นกเงือกมีลักษณะที่เป็นจุดเด่นของตัวเองคือ ตัวนกจะมีทั้งที่มีขนสีดำ สีขาว บางชนิดอาจจะมีสีอื่น ๆ เช่น สีน้ำตาลหรือสีเทา ส่วนที่ถือว่าฉูดฉาดที่สุดบนตัวนกเงือกจะอยู่ที่บริเวณหนังคอ ไม่ก็ขอบตา มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่มาก
นอกจากนี้ นกเงือกยังมีความสำคัญกับระบบนิเวศป่าอีกด้วย ตามธรรมชาติการหาอาหารของนกเงือกจะกินทั้งผลไม้และสัตว์เล็ก ๆ แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่จะเลือกกินผลไม้สุกและทิ้งเมล็ดไปในพื้นที่ต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหมือนตัวช่วยปลูกป่า ซึ่งเมื่อป่าเติบโตก็จะเป็นแหล่งอาหารต่อไป🌱
🔎แหล่งที่เราสามารถพบเห็นนกเงือกในประเทศไทยมีหลายแห่งมากค่ะ วันนี้เรามีสถานที่ที่พบเห็นนกเงือกมาฝากเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ ได้ไปชมกันด้วย
-เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา
-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
-อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส
-เกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต
-ป่าพรุโต๊ะแดง ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร จังหวัดนราธิวาส