คนชอบรับประทานขนมหวานน่าจะรู้จักสาคูเป็นอย่างดี เพราะนำมาใช้ทำของว่างและขนมหวานหลายชนิด แต่ทราบไหมว่า เม็ดสาคูนั้นมี 2 ชนิด คือเม็ดสาคูที่ทำจาก “แป้งมันสำปะหลัง” และเม็ดสาคูที่ทำจาก “แป้งสาคูต้น” วันนี้แอดจะมาแนะนำให้รู้จักสาคูทั้งสองประเภทนี้ว่าแตกต่างกันยังไง
- เม็ดสาคูที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หาซื้อได้ง่าย มีวางขายตามตลาดทั่วไป ปกติเรานำมาทำขนมหวาน ไม่ว่าจะเป็น ตะโก้สาคู สาคูไส้หมู สาคูเปียกน้ำกะทิ เม็ดสาคูชนิดนี้เมื่อต้มสุกแล้วจะใส ไร้กลิ่นและรส หากทิ้งให้เย็นจะจับตัวเป็นก้อนเหนียวติดมือ เป็นลักษณะของ ‘แป้งมัน’ ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
- เม็ดสาคูที่ทำจากแป้งสาคูต้น เม็ดสาคูแบบนี้เรียกว่า สาคูแท้ เป็นผลผลิตจาก “ต้นปาล์มสาคู” พืชท้องถิ่นของภาคใต้ โดยพื้นที่ที่พบและปลูกมากอยู่ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ลำต้นมีเปลือกหนา ภายในประกอบด้วยเส้นใยและเเป้งเป็นจำนวนมาก
- สาคูแท้ถือเป็นของพิเศษ หารับประทานยาก เพราะการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ การจะล้มต้นสาคูเพื่อขูดเอาเนื้อปาล์มได้ ต้นสาคูต้องมีอายุราว 8 ปี กรรมวิธีการผลิตคือหลังจากการโค่นต้นสาคูแล้ว จะนำมาเลื่อยให้เป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 1 เมตร แล้วจึงผ่าลำต้น ขูดเอาเนื้อภายใน จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดด้วยวิธีการต่างๆ แล้วนำไปแช่น้ำจนนิ่ม นำมาคั้นน้ำและกรองเอาเนื้อแป้งมาตาก หรืออบจนแห้งสนิท
สาคูแท้นั้นมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้แห้ง เนื้อนุ่มหนึบหนับ ชาวพัทลุงนิยมนำไปประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ไม่ว่าจะเป็นข้าวยำสาคู ข้าวต้มสาคู โจ๊กสาคู หรือขนมหวาน เช่น สาคูเปียกกะทิ สาคูกวน
อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกต้นปาล์มสาคูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามมากมาย เช่น อุทยานนกน้ำทะเลน้อย คลองปากประ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์เรียนรู้นาโปแก ถ้าเพื่อนๆมีโอกาส แอดอยากชวนไปชิมสาคูและท่องเที่ยวกันสักครั้งค่ะ