ภาพจำของคนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจังหวัดปัตตานี หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะนึกถึงการแต่งกาย วิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม แต่แท้จริงแล้ว ปัตตานีเป็นจังหวัดที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน เข้าด้วยกัน ซึ่งสะท้อนผ่านศาสนสถาน และวิถีชีวิตของคนในแต่ละเชื้อสาย กลายเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
วันนี้เราจะมาบอกเล่าความเป็นปัตตานี ที่รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว เพื่อน ๆ จะอยากเก็บกระเป๋า สวมรองเท้า แล้วออกไปเยือนปัตตานี
ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว
เริ่มต้นการเดินทางด้วยการพาไปสัมผัสวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว ศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่ปัตตานีมาอย่างยาวนาน ผู้คนที่มาเยือนปัตตานี นิยมมาไหว้ขอพรเรื่องการค้าขาย โชคลาภ ขอให้หายจากอาการเจ็บป่วย และยังเป็นสถานที่แก้ปีชงตามความเชื้อของชาวไทยเชื้อสายจีน
บริเวณที่ตั้งของศาลเจ้า เรียกว่า กือดาจีนอ เป็นภาษามลายู ซึ่ง “กือดา”แปลว่า ตลาด ส่วนคำว่า “จีนอ” แปลว่า จีน รวมกันเป็นตลาดของชาวจีน ที่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ที่นี่เป็นย่านเมืองเก่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้าในอดีต และยังคงทิ้งร่องรอยสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานไทยและจีนให้ชมผ่านอาคารบ้านเรือนหลายหลัง
ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น.
https://goo.gl/maps/xqEKUTgADYVqxCQW7
วัดทรายขาว
เดินทางไปต่อที่อำเภอโคกโพธิ์ ที่ตั้งของชุมชนทรายขาว ที่นี่มีวัดทรายขาว วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2300
ภายในวัดประดิษฐานรูปแกะสลักหินอ่อนของพระอาจารย์นอง หรือพระครูธรรมกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ผู้เป็นสหธรรมิกกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ และมีส่วนร่วมในการจัดสร้างและปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นพระอาจารย์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชนและละแวกใกล้เคียง
วัดทรายขาว
https://goo.gl/maps/J9JhzNmbpBbyCJX46
มัสยิดนัจมุดีน (มัสยิดบ้านควนลังงา)
ไม่ไกลจากวัดทรายขาว มีมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างไทยและมุสลิม เป็นมัสยิดไม้ที่สร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปู ใช้เพียงไม้เป็นสลักในการยึดแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นรูปแบบศาลาการเปรียญ ไม่มีโดม แตกต่างจากมัสยิดที่พบเห็นกันทั่วไป ซึ่งมัสยิดแห่งนี้เป็นการออกแบบร่วมกันระหว่างพระครูศรีรัตนากร หรือพ่อท่านศรีแก้ว เจ้าอาวาสวัดทรายขาวในสมัยนั้น กับโต๊ะอิหม่าม เป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านทั้งสองศาสนาในชุมชน ซึ่งสะท้อนผ่านวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันมีการสร้างมัสยิดหลังใหม่ติดกับมัสยิดหลังเดิม เนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น
มัสยิดนัจมุดีน (มัสยิดบ้านควนลังงา)
https://goo.gl/maps/JyR23gBuNFnVQq7z5