เทศกาลปี๋ใหม่เมือง หม้อดอกกับ ชุมชนบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่

“หม้อดอก” เป็นภาษาพื้นเมือง มาจากสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปหม้อน้ำทรงต่าง ๆ และปากหม้อมีเถาไม้เลื้อยออกมาทั้งสองข้าง ซึ่งมีลักษณะตรงกับคำว่า ปูรณฆฏะ (Purana kalasa)  จึงมีชื่อเรียกว่า “หม้อดอก หรือ หม้อปูรณฆฏะ” ในภาษาสันสกฤต หม้อดอกหมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม

ในล้านนาหม้อดอกเป็นพุทธสัญลักษณ์สำคัญแห่งล้านนา โดยถูกนำมาใช้ในทางพุทธศาสนา เพื่อเป็นเครื่องบูชา สักการะ พระรัตนตรัย โดยจะปรากฏหม้อดอกในสถาปัตยกรรมศาสนสถาน ตามจิตกรรมฝาผนัง  ในวิหารต่าง ๆ ในล้านนาสืบมา

ในอดีตหม้อดอก กับเทศกาลปีใหม่เมือง คนล้านนาจะเปลี่ยนหม้อดอกในวันสังขานต์ล่อง ในหม้อจะใส่ทรายและน้ำ ก่อนนำใบหมากผู้หมากเมีย ดอกเอื้องผึ้งมาปักในหม้อดอก และประดับด้วยช่อตุงสีต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ในอดีตคงกระทำกันทุกบ้านหลังคาเรือนเพื่อสักการะ เพื่อเป็นการบอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงการเข้าสู่ ปีใหม่เมืองอีกครั้ง ซึ่งในจารีตดังกล่าวแทบจะสูญหายไปแล้วในสังคมคนรุ่นใหม่

ชุมชนบ้านเหมืองกุง ผู้เริ่มต้นในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกที่สูญหายให้กลับคืนมามีบทบาทและความสำคัญในช่วงปี๋ใหม่เมืองอีกครั้ง

ในปี๋ใหม่เมืองปีนี้ ชุมชนบ้านเหมืองกุง ได้เป็นผู้ออกแบบรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค 9 ลาย จำนวน 18 ใบ ในการประกอบพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 แหล่ง เพื่อนำมาสรงน้ำพระธาตุและพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี 

การรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค ได้แรงบันดาลใจจากปีนักษัตร ผนวกกับลวดลายพญานาคตามสถาปัตยกรรม งานสิ่งทอ ของชาวล้านนา เนื่องจากปีนี้ตรงกับปีมะโรง ชาวจีนเรียกว่า ปีมังกรทอง แต่ในล้านนาจะใช้พญานาค ที่เชื่อว่าเป็นสัตว์วิเศษ บันดาลน้ำฝน ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามผนวกกับการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่

Scroll to Top