
บัดดี้พาไปเดินป่าที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน “ภูหลวง” อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
“ภูหลวง” มีความหมายว่า “ภูเขาที่สูงใหญ่” มีพื้นที่ประมาณ 530,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูหลวง อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517

ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน มีความสูง 400 -1,571 เมตร จากระดับน้ำทะเล เทือกเขาด้านตะวันออกมีที่ราบบนสันเขา (หลังแป) ส่วนด้านตะวันตกเป็นภูเขาสูงซันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่น ส่วนภูเขาทางทิศตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชันลาดลงสู่ทิศตะวันตก เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเลยและแม่น้ำป่าสัก
ทริปนี้เป็นการเดินป่าระยะสั้นในเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ระยะทางเดิน 1.8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินแบบไม่รีบร้อนประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับและค้างแรม ความสวยงามของธรรมชาติบนเส้นทางนี้ ทำให้รู้สึกราวกับว่ากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสวรรค์

ลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบสูง จึงมีอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเชียส ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ส่วนฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 4-6 องศาเซลเซียส
ฤดูกาลที่เหมาะกับการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติชมพรรณไม้บนภูหลวง คือ เดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคม โดยช่วงปลายธันวาคม-กลางมกราคม จะได้ชมใบเมเปิ้ลสีแดง ช่วงมกราคม-มีนาคม เป็นช่วงที่กุหลาบแดงและกุหลาบขาวบานสะพรั่ง รวมทั้งกล้วยไม้ป่านานาชนิด

ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตั้งอยู่ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/z7G7LiUJeb5ZHdBr7
จุดท่องเที่ยวหลักในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง คือ “หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา” ซึ่งตั้งอยู่กลางป่า ห่างจากที่ทำการเขตฯ ประมาณ 14 กิโลเมตร
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/3cZdZvS7YLaooMVF7

ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงได้ที่
Facebook: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง-จังหวัดเลย
06 4024 0743


การเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
จากถนนสายหลัก คือ ทางหลวงหมายเลข 203 (ภูเรือ-เลย) ใช้เส้นทางฝั่งมุ่งหน้าไปตัวเมืองเลย ประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงสามแยกโรงเรียนบ้านสานตม ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยด้านข้างโรงเรียน คือ ทางหลวงชนบท ลย. 2023 ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
นักท่องเที่ยวต้องชำระค่าธรรมเนียมเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ณ ด่านตรวจบริเวณหน้าที่ทำการเขตฯ
อัตราค่าธรรมเนียมเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ชาวไทย: ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ: ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท
รถยนต์สี่ล้อ 60 บาท
รถยนต์หกล้อ 100 บาท
จักรยานยนต์ 30 บาท
ด่านจะเปิดให้รถขึ้นไปบนภูหลวงได้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป และด่านจะปิดไม่ให้รถขึ้นลงภูหลวงในเวลา 16.00 น. ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จากอันตรายของสัตว์ป่าที่ออกหากินในช่วงเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้า
จากด่านหน้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ขับรถขึ้นเขาไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของภูหลวง
ตั้งแต่ปากทางถนนสายหลักจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ลักษณะถนนเป็นถนนลาดยางรถสวนกันสองเลน ช่วงจากด่านไปจนถึงโคกนกกระบาเป็นทางขึ้นเขา มีโค้งบ้าง แต่ไม่ค่อยชัน รถยนต์ทุกชนิดสามารถเดินทางได้ แนะนำไม่ควรขับรถเร็ว เพราะอาจมีสัตว์ป่าข้ามถนนได้



ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา
เมื่อเดินทางมาถึง แนะนำให้มาติดต่อลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ก่อน ที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่พาเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้น เป็นกลุ่ม ๆ ละไม่เกิน 10 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ณ หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา มีร้านอาหารให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นอาหารตามสั่งแบบจานเดียว และมีเครื่องดื่มกับขนมขบเคี้ยวจำหน่าย
ส่วนบริเวณลานจอดรถ กว้างขวาง และบริเวณนี้ยังเป็นจุดชมกุหลาบแดงบานอีกจุดหนึ่งด้วย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวสำหรับค้างแรมอยู่หลายหลัง ณ หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา แต่ไม่อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจากสัตว์ป่าในยามค่ำคืน
ในกรณีต้องการค้างแรม ต้องสำรองบ้านพักล่วงหน้าในช่องทาง Message ของ Facebook page เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง-จังหวัดเลย
รวมทั้งในกรณีที่ต้องการเข้าไปท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติในเขตหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยอื่น ๆ แบบระยะไกล ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่จะส่งรายละเอียดขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ให้ในช่องทาง Message ของ Facebook page หรือ โทร. 06 4024 0743
ส่วนการเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้น เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน ไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า สามารถ walk in มาลงทะเบียนเที่ยวชมที่หน่วยพิทักษ์โคกนกกระบาได้เลย

ณ หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทาง ได้แก่
1. เส้นทางศึกษาธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง 1 กิโลเมตร
2. เส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร
3. เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเสด็จ ระยะทาง 11.8 กิโลเมตร

พวกเราเลือกเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใจดีพาเดินชม แนะนำพืชพรรณต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ดีมาก ๆ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน ลักษณะเส้นทางเป็นทางราบเกือบตลอดทาง เดินผ่านป่าโปร่งที่มีต้นไม้ไม่สูงและทึบจนเกินไป แต่ไปเดินป่าช่วงฤดูหนาว แม้จะเจอแดดแต่อากาศก็เย็นสบาย

อุปกรณ์ที่ควรมีเมื่อเดินป่า ได้แก่
– หมวกกันแดด
– เสื้อแขน กางเกงขายาว เพื่อป้องกันโดนกิ่งไม้ขีดข่วน
– รองเท้าที่ดอกยางลึกกันลื่น กระชับข้อเท้า และใส่แล้วรู้สึกเดินสบาย
– น้ำดื่ม
– ยารักษาโรคประจำตัว
– อุปกรณ์ถ่ายภาพ เช่น กล้องหรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อเก็บภาพความสวยงามของธรรมชาติ



เริ่มเดินเข้าป่าได้ไม่ไกล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ชี้ชวนให้ชมต้นไม้และดอกไม้ป่าหายากนานาชนิด เช่น
– หญ้าขนตาช้าง หรือแส้ม้าฮ่อ (Dapsilanthus disjunctus (Mast.))
– กล้วยไม้ดิน (Ground orchid or Spathoglottis) ดอกเล็ก ๆ สีสวยน่ารักมาก
– เอื้องสร้อยระย้า (Otochilus fuscus Lindl.) เป็นกล้วยไม้ขึ้นอยู่ตามคบไม้ แต่ตอนที่ไปยังไม่ออกดอก



– ข้าวตอกฤาษี (Sphagnum spp.) เป็นพืชตระกูลมอสที่มีอายุหลายปี มักขึ้นปกคลุมดินและเปลือกไม้ ในบริเวณที่มีอากาศเย็นและความชื้นสูง
– ดอกหรีด หรือกอลักษณา (Gentiana nudicaulis Kurz subsp. Lakshnakarae (Kerr) Halda) พันธุ์ไม้หายาก ในประเทศไทยพบได้บนภูเขาสูงในภาคอีสาน เช่น ภูหลวง ภูกระดึง ภูหินร่องกล้า
– เอื้องสำเภางาม (Cymbidium insigne) กล้วยไม้ดินขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ที่ภูหลวงและภูกระดึง



– เหง้าน้ำทิพย์ (Agapetes saxicola Craib) เป็นไม้พุ่มอิงอาศัย พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามคบไม้หรือก้อนหิน ในป่าดิบเขา ความสูง 1200–1500 เมตร
– รองเท้านารีอินทนนท์ (Paphiopedilum villosum (Lindl.) Stein) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบตามป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย
– เอื้องตาเหิน (Dendrobium infundibulum) เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ดอกสีขาว ที่กลีบปากมีเส้นสีส้ม ดอกมีกลิ่นหอม ในประเทศไทยพบที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน เลย และสงขลา



– เอื้องพลายงาม (Pleione maculata Lindl.) เป็นกล้วยไม้ที่มักขึ้นตามซอกหิน พบในป่าดิบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นกล้วยไม้หายาก
– สิงโตขยุกขยุย (Bulbophyllum dayanum Rchb.f.) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 500–1300 เมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอมน้ำตาลแดงหรือม่วง ขอบมีขนครุยสีเหลือง ในประเทศไทยทางภาคเหนือพบที่พิษณุโลก ภาคอีสานพบที่เลย ภาคตะวันออกพบที่ตราด ภาคใต้พบที่ระนองและกระบี่
– ก๊อกมอง หรือสะเม็ก (Agapetes lobbii C.B.Clarke) ไม้พุ่มอิงอาศัย เกาะตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ดอกออกเป็นช่อยาว เมื่อดอกบานจะคว่ำลงสู่พื้นคล้ายรูประฆัง เป็นไม้หายาก พบได้ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ขึ้นในป่าดิบเขาที่ค่อนข้างโปร่งและมีอากาศเย็นตลอดปี ที่ระดับความสูง 1,100-2,300 เมตร



– หินนกกระบา เป็นก้อนหินตามธรรมชาติที่ผ่านการกัดกร่อนของลม แดด และน้ำฝน จนมีรูปทรงคล้ายนกกระบา
– เอนอ้าขน หรือโคลงเคลงหิน (Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl. (Melastomataceae)) เป็น ไม้พุ่ม ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกสีม่วง เกสรสีเหลืองสด
– กล้วยไม้ตระกูลสิงโต ขึ้นปกคลุมเต็มก้อนหินขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของภูหลวง


กุหลาบขาว หรือกุหลาบพันปีสีขาว (Rhododendron ciliicalyx Franch.) ไม้พุ่ม ดอกสีขาว ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือและภาคอีสาน ขึ้นตามป่าสนเขาหรือที่โล่งบนเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 1,000-2,200 เมตร เช่น ภูหลวง ดอยอินทนนท์ เป็นต้น
*ตอนที่เราไปดอกยังตูมอยู่ตามรูปซ้าย เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจะบานช่วงเดือนกุมภาพันธ์
รูปด้านขวา เป็นรูปกุหลาบขาวที่บานแล้ว (ขอบคุณรูปจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ)


ในรูปนี้มีทั้งเฟิร์นใบสีส้ม กล้วยไม้ตระกูลสิงโต และข้าวตอกฤาษี เป็นสีสันอันสวยงามของผืนป่า สำหรับผู้หลงใหลในความงดงามของกล้วยไม้ป่า มาเดินชมธรรมชาติที่ภูหลวงรับรองว่าไม่ผิดหวัง


เมื่อเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติมาจนใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด จะพบกับดงเมเปิ้ล เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า บนภูหลวงใบเมเปิ้ลมักจะเป็นสีแดงช่วงปีใหม่เรื่อยไปจนกลางเดือนมกราคม
“เมเปิ้ล” หรือ “ก่วมแดง” (Maple or Acer calcaratum Gagnep.) เป็นไม้ยืนต้น พบบนเขาสูงที่มีอากาศเย็นทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เช่น เชียงใหม่ เลย เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวจะเปลี่ยนสีใบจากเขียวเป็นสีแดง หรือสีส้มอมแดง และจะผลัดใบร่วงสู่พื้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์


ทางเดินในช่วงสุดท้ายจะเดินเลาะเลียบแนวหน้าผา มีลานชมทิวทัศน์ มองเห็นภูเขาและผืนป่าเขียวขจี



“เรือนประทับแรมโคกนกกระบา” เมื่อเดินมาถึงที่นี่ แสดงว่าสิ้นสุดเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยันแล้ว เดินไปทางป้ายบอกทางออกอีกไม่ไกลจะไปเจอศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ไฮไลต์เด่นบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวโคกนกกระบา คือ ดงกุหลาบแดง บนภูหลวง กุหลาบแดงจะเริ่มบานตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม
“กุหลาบแดง” หรือ “กุหลาบพันปีดอกแดง” (Rhododendron simsii Planch.) เป็นไม้พุ่ม ดอกสีแดงแกมส้ม ในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ระดับความสูง 1,000-2,200 เมตร เช่น ภูหลวง ดอยอินทนนท์ ดอยม่อนจอง เป็นต้น


การเดินศึกษาธรรมชาติ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา เขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวง ใช้เวลาตั้งแต่ครึ่งวันจนถึงทั้งวัน แล้วแต่ว่าจะเลือกเดินเส้นไหน ปกติเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่ 08.30 น. และจะพยายามให้นักท่องเที่ยวกลับลงภูประมาณ 15.00-16.00 น. ฉะนั้นนักท่องเที่ยวควรวางแผนการเดินทางให้ดี
คำแนะนำและข้อควรปฏิบัติในขณะการเดินป่า
– ไม่เดินออกนอกเส้นทาง อาจได้รับอันตรายและพลัดหลงได้
– ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
– ไม่เด็ด ถอน ขีดเขียน หรือทำลายต้นไม้พืชพรรณธรรมชาติ
– ไม่ทิ้งขยะตลอดเส้นทาง
– ไม่ส่งเสียงดังรบกวนธรรมชาติและเพื่อนนักเดินป่าร่วมเส้นทาง
– หากรู้สึกเหนื่อย หายใจหอบ หน้ามืด ให้หยุดพักร่างกาย จิบน้ำ จนรู้สึกดีขึ้นค่อยออกเดินต่อ