✨ แนะนำเทศกาลเดือนมีนาคม ✨

เดือนที่ 3 ของปี เริ่มก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว หลายคนคงมีแผนเดินทางไปเที่ยวทะเล น้ำตก เพื่อเล่นน้ำคลายร้อน หรือขึ้นเขาเพื่อมองหาความสดชื่นของสีเขียวจากยอดดอย

แต่นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มอบความเย็นทางใจให้แล้ว เดือนมีนาคมก็เป็นช่วงเวลาที่มีเทศกาลพิเศษและสนุก ๆ ถูกจัดขึ้นเหมือนกัน…

เอาล่ะ หากใครกำลังมองหาเทศกาลประเพณีพิเศษ ๆ ที่จัดขึ้นเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม นอกเหนือจากการเที่ยวตามธรรมชาติล่ะก็ ลองตามมาอ่านคอนเทนต์นี้ดู ว่า 5 เทศกาลเดือนมีนาคมที่นำมาแนะนำวันนี้ จะมีที่ไหนบ้าง

1.ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จ.ยโสธร

เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนบ้านฟ้าหยาด จ.ยโสธร เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ได้เห็นถึงความสำคัญของข้าว จึงคัดข้าวเปลือกที่ดีที่สุดมาคั่วเป็นข้าวตอก แล้วนำมาร้อยเป็นมาลัยสายยาวแทน “ดอกมณฑารพ” ดอกไม้ทิพย์บนสวรรค์ ที่เชื่อว่ามีความสวยงามและมีกลิ่นหอม ซึ่งจะหล่นลงมาบนโลกในเหตุการณ์สำคัญ เช่นครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ดอกมณฑารพก็ร่วงหล่นลงมาบนโลกทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนการแสดงความเสียใจในเหตุการณ์นี้ เหล่าพระภิกษุ ข้าราชการบริพารและประชาชนทั้งหลาย จึงพากันเก็บมาสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์นี้ ชาวบ้านฟ้าหยาด จึงประดิษฐ์และจัดงานแห่มาลัยข้าวตอกขึ้นก่อนวันมาฆบูชา ปัจจุบันจะมีการจัดงาน 5 วัน มีการแห่เป็นขบวนรอบตัวอำเภอ ก่อนจะนำไปถวายที่วัดหอก่อง ซึ่งภายในวัดมี พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมความงามหลังจากแห่ขบวนได้

ในปี พ.ศ. 2566 ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย ใครที่สนใจสามารถไปชม ชิม ชอปปิง สินค้าโอทอป ของกิน ของฝาก ที่ถนนคนเดินของงานได้เลย

  • รายละเอียดงาน
  • วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 น.
    • พิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    • พิธีเปิดงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประจำปี พ.ศ. 2566 ชมการแสดงแสง สี เสียง สวยงาม ตระการตา
  • วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566
    • ชมขบวนรถมาลัยข้าวตอกสวยงามตลอดวัน / การแข่งขันส้มตำลีลา /แข่งขันทำลาบยโสธร /ลุ้นรางวัลมัจฉากาชาด และชมการแสดงบนเวที
  • วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566
    • ชมการประกวดร้องเพลงท้องถิ่น /และการประกวดธิดามาลัยข้าวตอก
  • วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2566
    • การประกวดร้องเพลงท้องถิ่น /ชมขบวนรถมาลัยข้าวตอกสวยงามตลอดวัน / ลุ้นรางวัลมัจฉากาชาด และชมการแสดงคอนเสิร์ต “ตุ้มโฮม”
  • วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 น.
    • ชมขบวนรถแห่มาลัยข้าวตอก พร้อมขบวนนางรำที่สวยงาม ตระการตา และร่วมพิธีถวายมาลัยข้าวตอก ที่วัดหอก่อง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร

📞สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. สำนักงานอุบลราชธานี (ดูแลพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ) โทร. 0 4524 3770

2.งานพระนครคีรี-เมืองเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จ.เพชรบุรี

งานต่อมาที่อยากแนะนำ ก็คือ งานพระนครคีรี-เมืองเพชร ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “เยือนถิ่นเมืองพริบพรี สดุดีจอมราชัน แดนสร้างสรรค์อาหารไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 17 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

ภายในงาน จะมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีจากสกุลช่างเมืองเพชร รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ชมพลุบนเขาวัง ชิมอาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นถิ่น สินค้าพื้นเมืองเพชรบุรี สินค้า OTOP รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มา ชม ชิม ชอปปิง และถ่ายรูปกันได้อย่างจุใจ

💵: ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า ค่าบริการไป-กลับ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี) 15 บาท

📍: ถ.คีรีรัถยา ต.คลองกระแชง อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี
⏰: เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
📞: สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0 3247 1006

3. ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

อีกหนึ่งเทศกาลและงานประจำปีของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ในปีนี้ จะมีในช่วงวันที่ 5-7 มีนาคม พ.ศ. 2566 ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของปราสาทหินพนมรุ้ง หนึ่งในอารยธรรมโบราณ ที่สร้างจากหินทรายสีชมพูและศิลาแลง

ในทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน ของปราสาทหิน จำนวน 4 ครั้งต่อปี ซึ่งปีนี้มีรายละเอียดดังนี้
☀️ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง
– ครั้งที่ 1 พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-7 มีนาคม เวลาประมาณ 18.15 น.
– ครั้งที่ 2 พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3-5 เมษายน เวลาประมาณ 06.03 น.
– ครั้งที่ 3 พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 8-10 กันยายน เวลาประมาณ 05.57 น.
– ครั้งที่ 4 พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-7 ตุลาคม เวลาประมาณ 17.55 น.

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2566

ปราสาทหินพนมรุ้ง ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของ จ.บุรีรัมย์ ด้วยลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ บนยอดเขาพนมรุ้ง โดยคำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาอันกว้างใหญ่” ภายในมีการออกแบบที่ประณีต มีอาคารเรียงรายไปจนถึงปราสาทประธาน ทับหลังที่บอกเล่าเรืองราวของวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของฮินดู อย่างเรื่องรามเกียรติ์ มีสะพานนาคราช บารายเก็บน้ำ ที่แม้ผ่านกาลเวลามานานแล้ว ก็ยังเหลือความสวยงามให้ชม

💵: อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หากไปชมปราสาทหินเมืองต่ำด้วย สามารถซื้อตั๋วเหมาได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

  • 📍: ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
  • ⏰: เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
  • 📞: สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0 4463 4722 

4.ประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน

ประเพณีปอยส่างลอง (ပွႆးသၢင်ႇလွင်း, ป๊อยส่างล้อง) คืองานบวชลูกแก้ว เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา พบได้มากที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง อ.ขุนยวมและอ.ปาย โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้จะสืบเชื้อสายมาจากชาวไทใหญ่

คำว่า “ปอยส่างลอง” หมายถึง งานเทศกาลก่อนเป็นสามเณร เป็นการยืมคำภาษาพม่า โดยคำว่า ปอย (ပွႆး) หมายถึง “เหตุการณ์” ส่าง (သၢင်ႇ) หมายถึง “สามเณร” ลอง (လွင်း) หมายถึง “ระดับก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย” นั่นเอง 

ประเพณีปอยส่างลอง นิยมแบ่งวันจัดงานเป็น 3 วัน คือ
– วันแรก เรียกว่า “วันรับส่างลอง” จะมีการนำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดส่างลอง แล้วพาส่างลองไปขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน พระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ตลอดทั้งวัน
– วันที่สอง แห่ขบวนเครื่องไทยทานไปวัด พร้อมเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่และทำขวัญส่างลอง
– วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายจะแห่ส่างลองไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา บางขบวนแห่จะจุดบั้งไฟเฉลิมฉลองด้วย

หากใครสนใจชมงานประเพณีปอยส่างลอง แนะนำให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีการจัดหลายพื้นที่ และในแต่ละอำเภอก็จัดไม่พร้อมกัน โดยปัจจุบันมีข้อมูลการจัดงานคร่าว ๆ ดังนี้

อ.เมือง
วัดแม่สะกึด จัดวันที่ 22-25 มีนาคม พ.ศ. 2566
วัดนาปลาจาด จัดวันที่ 26-31 มีนาคม พ.ศ. 2566
วัดปางล้อ, วัดคาหาน จัดวันที่ 3-5 เมษายน พ.ศ. 2566

อ.ปางมะผ้า
วัดแม่ละนา จัดวันที่ 20-22 มีนาคม พ.ศ. 2566
ที่พักสงฆ์พญางู จัดวันที่ 25-28 มีนาคม พ.ศ. 2566

📞: สอบถามเพิ่มเติม ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982 

5. ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ เจดีย์มีสีทองทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบ ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเกศาธาตุ และพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้าและยังเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาลตามคติความเชื่อของชาวล้านนาโบราณ จนมีคำกล่าวที่ว่า “มาเมืองแพร่ ถ้าไม่ได้ไปนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ ก็เหมือนไปไม่ถึงเมืองแพร่”

ในทุกปี จ.แพร่ จะจัดงานประเพณีที่สำคัญ คือ งานประเพณี “ไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ในวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ซึ่งในปี้นี้ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ -6 มีนาคม พ.ศ. 2566 

ในงาน เพื่อน ๆ จะพบกับขบวนแห่เครื่องสักการะ ขบวนช้างแบบโบราณล้านนา ขบวนแห่ตุงชัยจากชาวเมืองแพร่ทุกอำเภอ เพื่อนำผ้าขึ้นไปห่มองค์พระธาตุช่อแฮ การฟ้อนบูชาองค์พระธาตุช่อแฮ ของเหล่าแม่หญิงเมืองแพร่และพิธีทำบุญถวายตุง เชื่อว่าสายบุญคงถูกใจถ้าได้ไปงานนี้

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมจัดการแสดง แสง สี เสียง เล่าตำนานพระธาตุช่อแฮ การประกวดตีกลองปูจา ฟ้อนกลองอืด รวมไปถึงเปิดพื้นที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม สาธิตและถ่ายทอดภูมิปัญญาของเหล่าศิลปิน, สล่าเมืองแพร่ เช่น การทอผ้า ทำไม้สัก การละเล่นพื้นบ้าน อาหาร ของดีเมืองแพร่ และการแต่งกายพื้นเมืองตามชาติพันธุ์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมในงานอีกด้วย

📍: 1 ถ.ช่อแฮ ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ 54000
⏰: เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-18.00 น.
📞: สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท.สำนักงานแพร่ โทร. 0 5452 1118 

Scroll to Top