เที่ยวโคราช 2 วัน 1 คืน ฉบับย้อนเวลาตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน

จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายทั้งในด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและอาหาร

บัดดี้เลยจะพาเพื่อน ๆ ย้อนไปรู้จักกับโคราชตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนมาถึงปัจจุบัน กับตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว แบบ 2 วัน 1 คืน ที่เที่ยวตามแล้วบอกเลยว่าจะรู้จักกับโคราชมากขึ้นแน่นอน

1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า

ตั้งอยู่บ้านโกรกเดือนห้า ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง ตำบลสุรนารี เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและหนึ่งในเจ็ดแห่งของโลก ที่แสดงพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ อายุประมาณ 800,000–320 ล้านปี

เป็นแหล่งเรียนรู้ของการเริ่มต้น Korat UNESCO Global Geopark ซึ่งคณะกรรมการบริหารยูเนสโก ประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีวาระการพิจารณาเรื่องการรับรองจีโอพาร์คทั้ง 18 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งโคราชจีโอพาร์ค เป็นจีโอพาร์คโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Global Geopark

ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับการกำเนิดโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และไม้กลายเป็นหิน และยังมีพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ 8 สกุล จาก 42 สกุล ที่พบทั่วโลก ทั้งช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม (อายุประมาณ 16-5 ล้านปีก่อน) รวมทั้งฟอสซิลสัตว์นานาชนิด เช่น เต่ายักษ์ ตะโขง เอป (ลิงไม่มีหางที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์)

นอกจากนี้ยังมีสวนไม้กลายเป็นหินด้านนอกอาคารให้เดินชมอีกด้วย

📌 184 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ – หนองปลิง บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา: https://maps.app.goo.gl/fetPko99CWrbpDm67
⏰ เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 15.30 น.
☎️ 0 4437 0739-40
💸 อัตราค่าบริการในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
– นักเรียนอนุบาล-ปวช. 20 บาท
– นักศึกษา ปวส.-ปริญญาตรี 30 บาท
– ผู้ใหญ่ 50 บาท
– เด็กต่างชาติ (Youth) 50 บาท
– ชาวต่างชาติ (Foreigner) 120 บาท

2. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวีรกรรมอันกล้าหาญของ “ย่าโม” อนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนฐานสูง เหนือขึ้นไปเป็นประติมากรรมย่าโมในท่ายืน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน มือขวาถือดาบ ปลายจรดลงพื้น หล่อด้วยทองแดงรมดำ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร

ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช และกวาดต้อนผู้คนรวมถึงคุณหญิงโมไปด้วย คุณหญิงโมได้คิดอุบายหาทางช่วยเหลือชาวบ้านโดยถ่วงเวลารอให้กำลังมาสมทบ จากนั้นจึงได้ช่วยกันต่อสู้จนกองทัพแตกพ่ายและเลิกทัพกลับเวียงจันทน์ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี”

ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเป็นที่ตั้งของประตูชุมพล ซึ่งเป็นประตูเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก มีลักษณะเป็นประตูทรงไทย ศิลปะอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เดิมประตูเมืองมีทั้งหมด 4 ประตู แต่ปัจจุบันเหลือประตูชุมพลเพียงแห่งเดียวที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์

ชาวโคราชเชื่อว่า หากลอดประตูชุมพลแล้วจะโชคดี

ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
https://maps.app.goo.gl/R56U4K1DhG9fgZFo7

3. วัดศาลาลอย

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2370 โดยท้าวสุรนารีและพระยาสุริยเดช ปลัดเมืองนครราชสีมา สามีของท่าน

ชื่อวัดศาลาลอยนั้นมีที่มา หลังจากรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์แล้ว ท้าวสุรนารีก็ยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา ระหว่างที่แวะพักบริเวณท่าตะโก ท่านได้สั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาลอยไปตามลำตะคองเพื่อเสี่ยงทาย โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าแพรูปศาลานี้ลอยไปติดที่ไหน ก็จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ที่นั่น ปรากฎว่าแพลอยไปติด ณ ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดศาลาลอยในปัจจุบัน

ภายในวัดมีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น อุโบสถหลังเก่า อุโบสถหลังใหม่ และเจดีย์บรรจุอัฐิของย่าโม

อุโบสถหลังเก่า เป็นอุโบสถขนาดเล็ก ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง และมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว หรือที่เรียกว่า ‘โบสถ์มหาอุด’ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง ที่ท้าวสุรนารีได้สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการรบชนะเจ้าอนุวงศ์

อุโบสถหลังใหม่สร้างใน พ.ศ. 2510 ผลงานการออกแบบของ รศ. ดร.วิโรฒ ศรีสุโร เป็นศิลปะไทยประยุกต์ ที่ออกแบบเป็นรูปสำเภา และใช้กระเบื้องดินเผา ของดีจากตำบลด่านเกวียนมาประดับตกแต่ง อุโบสถหลังนี้ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2516

บริเวณหน้าอุโบสถหลังเก่ามีเจดีย์บรรจุอัฐิของย่าโม และอนุสาวรีย์ย่าโมที่จำลองมาจากของจริงที่บริเวณลานย่าโมด้วย

ซอยท้าวสุระ 3 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
https://maps.app.goo.gl/2vWtVW6P2Mp8wKbK6

4. ปราสาทพนมวัน

ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ในส่วนที่ตั้งปราสาทพนมวัน ตั้งอยู่บนเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ สร้างขึ้นเนื่องในลัทธิความเชื่อศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระอิศวร (ศิวะ) เป็นเทพสูงสุด

ปราสาทประธาน ก่อสร้างด้วยหินทราย ศิลาแลงและอิฐ เป็นสถาปัตยกรรมหลักที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน หันด้านหน้าไปด้านทิศตะวันออก

ปราสาทพนมวันและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร มีลำดับอายุสมัยในการก่อสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-17 นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการอยู่อาศัย ของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด (3,400-2,500 ปีมาแล้ว) และสมัยเหล็ก (2,500-1,500 ปีมาแล้ว) อยู่ในพื้นที่ก่อนที่จะมีการก่อสร้างปราสาทพนมวันอีกด้วย

ปัจจุบันภายในปราสาทประธาน มีการประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก้ไขดัดแปลงในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่าปราสาทพนมวันยังคงเป็นศาสนสถานที่ชุมชนในท้องถิ่นให้ความเคารพความศรัทธาสืบเนื่องมา

📌 บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา: https://maps.app.goo.gl/ZzUHJW1s9psSjZ65A
⏰ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-18.00 น.
☎️ 0 4447 1518
💸 อัตราค่าบริการ
ชาวไทย 10 บาท
ชาวต่างชาติ (Foreigner) 50 บาท

Day-2

1. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เป็นพุทธสถานนิกายมหายานที่ตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย และยังเป็นศาสนสถานศิลปะขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ปัจจุบันอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ชื่อ “พิมาย” น่าจะมาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าปราสาท และยังปรากฏชื่อนี้ในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง

ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือ สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหลังอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้รับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองพระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรขอมนั่นเอง

📌 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา: https://maps.app.goo.gl/ZkjtDkTfzV4sW3pz9
⏰ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-17.30 น.
☎️ 0 4447 1535
💸 อัตราค่าบริการ
ชาวไทย 20 บาท
ชาวต่างชาติ (Foreigner) 100 บาท

2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ตั้งอยู่ที่ถนนท่าสงกรานต์ เชิงสะพานท่าสงกรานต์ ริมฝั่ง แม่น้ำมูล ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากปราสาทหินมายมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 เมตร และห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมา 5 กิโลเมตร

พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร เพื่อการเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย ร่วมกับโบราณวัตถุที่ได้จากการเก็บรวบรวมจากจังหวัดต่าง ๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมายเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี โดยเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากฐานและพัฒนาการของวัฒนธรรมอีสานในอดีตที่เจริญรุ่งเรื่องในพื้นที่อีสานตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำซีในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,100 ปี มาแล้วจนถึงสมัยปัจจุบัน

📌 ถนนท่าสงกรานต์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา: https://maps.app.goo.gl/kMgXcDEg2ymMv3A16
⏰ เปิดให้เข้าชมวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์ อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
☎️ 0 4447 1167
💸 อัตราค่าบริการ
ชาวไทย 20 บาท
ชาวต่างชาติ (Foreigner) 100 บาท

3. ไทรงาม

ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล บริเวณเขื่อนพิมาย โดยก่อนข้ามสะพานท่าสงกรานต์เข้าตัวอำเภอพิมาย จะมีทางแยกไปเขื่อนพิมายอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

บริเวณนี้ปกคลุมด้วยเป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง มีชื่อพื้นเมืองว่า “ไทรย้อย” จากการศึกษาพบว่าไทรงามแห่งนี้เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา มาเป็นเวลากว่า 350 ปีแล้ว โดยไทรงามเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเมืองพิมาย เมื่อ 21 มกราคม 2454 และได้พระราชทานนามสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ว่า “ไทรงาม”

หมู่บ้านไทรงาม ถนนชลประทาน ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
https://maps.app.goo.gl/VJ3ErtaBRN9PmJ8d7

Scroll to Top