สวัสดีเพื่อน ๆ จากคราวก่อนที่บัดดี้นำเสนอคอนเทนต์ “หม่ำ…ของฝากชัยภูมิ” ไป วันนี้บัดดี้จะมานำเสนอเส้นทางท่องเที่ยว จ.ชัยภูมิ ที่บัดดี้มีโอกาสไปเที่ยวมา จะมีที่ไหนบ้าง ตามไปดูกันเลย
- วันที่ 1
- 1. บ๊วยโภชนา
- 2. พระปรางค์กู่
- 3. หอศิลป์คลังจัตุรัส
- วันที่ 2
- 4. เราเอมโอช
- 5. เฮือนคำมุ
- 6. กลุ่มทอผ้าไหมศูนย์ศิลปาชีพทุ่งกะมัง
- วันที่ 3
- 7. วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง
- 8. วิสาหกิจชุมชนปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง
1. บ๊วยโภชนา
เขาว่ากันว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เพราะฉะนั้นบัดดี้เลยขอเริ่มทริปที่ร้าน “บ๊วยโภชนา” ร้านอาหารที่เปิดมานานกว่า 45 ปี ตัวร้านเป็นอาคารพานิชย์ 2 ชั้นเล็ก ๆ ที่สร้างจากไม้ ดูสวยคลาสสิกเคล้ากลิ่นอายความเก่าแบบเก๋า ๆ บ่งบอกถึงความเป็นร้านเด็ดประจำชัยภูมิได้เป็นอย่างดี
ร้านนี้จะขายข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ข้าวหน้าเป็ดและติ่มซำ ซึ่งทุกจานทุกเมนูรสชาติอร่อยทานง่าย ไม่แปลกใจเลยที่จะมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสายทั้งคนวัยทำงาน ข้าราชการ เด็กนักเรียนไปจนถึงคนเก่าคนแก่ที่น่าจะแวะเวียนมาอุดหนุนร้านนี้อยู่เป็นประจำ
แม้แต่ละจานหน้าตาอาจดูไม่ได้หวือหวามากนัก แต่รสชาติอร่อยจริง ๆ นะ เพื่อน ๆ คนไหนอยากลิ้มชิมรสร้านเก่าแก่อีกร้านหนึ่งของชัยภูมิ ก็มาลองกันได้
ถ.หฤทัย ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
09 5618 0360
https://maps.app.goo.gl/iYZZALbjMaA44ymF8
2. พระปรางค์กู่
สถานที่ถัดมาคือ “พระปรางค์กู่” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองชัยภูมิ ห่างจากร้านบ๊วยโภชนาประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น
พระปรางค์กู่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1724–1761 หรือ พุทธศตวรรษที่ 18 โดย “พระไภษชัยคุรุไวฑูรย์ประภา” สมัยอาณาจักรขอม ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โบราณสถานแห่งนี้มีฐานสี่เหลี่ยม สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง วางซ้อนกันจากฐานถึงยอด มีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ เชื่อกันว่าที่นี่เป็นอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) ในอดีต
ภายในพระปรางค์กู่ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ ทับหลังที่กรอบประตูสลักเป็นรูปไตรรัตนมหายาน มีความหมายถึงพระพุทธเจ้าทรงมีความรู้การแพทย์ ทำให้ประชาชนมีความสุขและไม่มีโรค
นอกจากนี้ พระปรางค์กู่ยังมีบ่อน้ำ บรรณาลัย หน้าบันแกะสลัก ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์มาก ๆ ให้ได้ชม แถมบริเวณสนามหญ้าโดยรอบยังเป็นสวนสาธารณะ มีร่มเงาไม้ได้หลบแดด รับลมได้ทั้งวัน เป็นอีกที่ที่เที่ยวได้ง่าย ๆ เลยล่ะ
ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
https://maps.app.goo.gl/RJFZKvkSLKXV24AF
3. หอศิลป์คลังจัตุรัส
สถานที่ต่อมา บัดดี้จะพาเพื่อน ๆ มาหาแรงบันดาลใจจากภาพวาดที่ “หอศิลป์คลังจตุรัส” หอศิลป์ที่เกิดจากแรงบันดาลใจของ อ.สมาน คลังจัตุรัส ศิลปินชาวชัยภูมิ ที่ได้สร้างหอศิลป์คลังจัตุรัสขึ้น จากสำนึกรักบ้านเกิด และมุ่งหวังให้คนรุ่นหลังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบสานงานศิลป์ให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งบัดดี้ใช้เวลาอยู่ที่ตลอดช่วงบ่ายเลย
บัดดี้นัดกับพี่นุช ทายาทของ อ.สมาน และผู้จัดการของหอศิลป์คลังจตุรัสไว้ ซึ่งพี่นุชได้พาบัดดี้เยี่ยมชมหลายส่วนของหอศิลป์แห่งนี้ เริ่มจากหอศิลป์เป็นที่แรก ซึ่งภายในมีภาพวาดที่ อ.สมาน วาดอยู่หลายภาพ ที่สำคัญมีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินีบนธนบัตรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดธนบัตรจากประเทศเยอรมันตอนปี พ.ศ.2547 ด้วยนะ
ถัดมาคืออาคารห้องสมุดที่ตั้งอยู่ติดกันกับอาคารหอศิลป์ ซึ่งเปิดให้ทั้งคนที่มาเยี่ยมชมหรือเด็ก ๆ ที่มาวาดภาพเข้ามาอ่านหนังสือได้เลยฟรี ๆ
อาคารนี้มีชื่อว่าเรือนยอดมณี มีภาพวาดดอกไม้ของ อ.สมาน สมัยไปต่างประเทศ มีห้องวาดภาพของเด็ก ๆ ที่มาที่นี่ ชั้น 2 ของอาคารจัดแสดงงานหลากหลายประเภทจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
อีกอาคารเด่นของที่นี่คือ หอศิลป์คลังจตุรัสใหญ่ ที่มีภาพวาดขนาดใหญ่ที่สุดของ อ.สมาน เท่าที่เคยวาดมาอยู่บนชั้น 2 รวมไปถึงภาพพระเกจิอาจารย์อีกหลายภาพ เพื่อน ๆ สามารถแวะมาดูได้
ส่วนกิจกรรมที่บัดดี้เลือกทำ คือการระบายสีกระเป๋าดอกกระเจียว ค่ากิจกรรมจะอยู่ที่ 100 บาท บัดดี้มานั่งวาดที่ลานกลางหอศิลป์คลังจตุรัส ใกล้ ๆ กันมีร้านกาแฟ Ozone coffee ให้เพื่อน ๆ นั่งพักสบาย ๆ ซึ่งที่ลานแห่งนี้มีทั้งดอกแก้ว ดอกโมก ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลาที่วาด หากใครกลัวการระบายสีว่าจะออกมาไม่ดีก็ไม่ต้องกลัวไป เพราะพี่นุชบอกบัดดี้ว่า งานศิลปะไม่มีถูกผิด มีแต่สวยและสวยมากเท่านั้น แถมยังคอยสอนและช่วยอธิบายการระบายสีแบบเข้าใจง่าย ๆ ให้ด้วย ใครมาอย่าพลาดล่ะ
38 บ้านคลองเรียง ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
08 1772 2250
https://maps.app.goo.gl/JSp6GjSsxVWpX6569
4. เราเอมโอช
เริ่มต้นเช้าวันใหม่ บัดดี้มาที่ร้าน “เราเอมโอช” ร้านอาหารเช้ากลางเมือง ตัวร้านเป็นตึกแถวห้องเดียว เป็นร้านที่มีทั้งคนในท้องที่และนักท่องเที่ยวแวะมาไม่ขาดสาย
เมนูเด่นคือไข่กระทะ อเมริกัน เบรคฟาสและขนมปังเวียดนาม แถมมีกาแฟสดด้วย ใครอยากกินมื้อเช้าสบาย ๆ ที่นี่ก็เป็นอีกตัวเลือกที่บัดดี้อยากแนะนำ
357/1 สามแยกวัดชัยประสิทธิ์ ถ.บูรพา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-13.30 น.
0 4483 0075, 08 1999 8680
https://maps.app.goo.gl/wnGdaKVfD1jfWMnf7
5. เฮือนคำมุ
หลังจากอาหารเช้า บัดดี้มาที่ “เฮือนคำมุ” ที่ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าไทยโบราณและร้านกาแฟรสชาติดีที่มีเบเกอรีรสอร่อย คอยต้อนรับแขกที่มีเยี่ยมเยียน
เฮือนคำมุ จำลองบรรยากาศบ้านคหบดีล้านช้างในอดีต ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง ยุ้งข้าวและมีการจำลองวัดเชียงทองจากหลวงพระบางมาใช้ในบางส่วนของตัวอาคาร
ก่อนมาที่นี่ บัดดี้ได้ติดต่อ พี่เอ๋-อาจารย์คมกฤช ฤทธิ์ขจร ศิลปินร่วมสมัยแห่งชาติสายเลือดพระยาแล ผู้ก่อตั้งเฮือนคำมุแห่งนี้ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชัยภูมิ โดยจุดแรกที่บัดดี้ได้ชมก็คืออาคาร “พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ KOMGRISH” ที่ภายในจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเฮือนคำมุ เรื่องราวของผ้าทอโบราณ ไปจนถึงเรื่องราวและข้าวของเครื่องใช้ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่เสด็จมา จ.ชัยภูมิ
หลังจากเดินดูภายในพร้อมกับฟังพี่เอ๋บรรยายเรื่องราวของหลายเรื่องไปด้วย ทั้งที่มาและประวัติศาสตร์ของชัยภูมิ เรื่องราวของผ้าลายต่าง ๆ ทีมีอายุมากสุดถึง 300 ปี ญัฮกุรกลุ่มชาติพันธุ์เจ้าของพื้นที่ในอดีต ความเชื่อในอดีต ไปจนถึงพาชมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต ที่ยิ่งดู ยิ่งฟัง ก็ยิ่งสนุก พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปชั่วโมงกว่า ๆ แล้ว
จากนั้นบัดดี้ไปอีกอาคาร ที่เป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงผ้าทอที่อายุไม่เกิน 100 ปี พร้อมโถงขนาดใหญ่ ที่รองรับการจัดกิจกรรมได้หลายแบบ
หลังจากชมเสร็จ บัดดี้มานั่งพักที่ร้านกาแฟเฮือนคำมุ คอฟฟี่เฮาส์ บัดดี้สั่งกาแฟ เค้กและพิซซ่ามาเพิ่มพลัง ระหว่างรอบัดดี้ขึ้นไปที่ชั้น 2 ของร้านกาแฟแห่งนี้ ซึ่งข้างบนจะมีการจัดแสดงงานพุทธศิลป์พระนาคปรกแบบขอม ยอดแหลมของโบสถ์ที่ทำจากไม้ หน้าบันไม้ของหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ที่บางคนบอกว่ามีลายคล้ายหน้าปู่ฤๅษี
เมื่อชมด้านบนเสร็จ ก็ได้เวลากิน ทั้งกาแฟ ชา เค้ก รสชาติอร่อยถูกใจบัดดี้ แต่ที่บัดดี้ชอบจริง ๆ ก็คือพิซซ่าหน้า “ออกพบตก” แป้งหนานุ่มที่ทางร้านทำเอง รสชาติอร่อยจนต้องสั่งเพิ่ม ส่วนพิซซ่าหน้านี้ออกพบตกยังไง บัดดี้ขออุบไว้ อยากให้เพื่อน ๆ มาลองด้วยตัวเอง
ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่หากใครมีโอกาสไป จ.ชัยภูมิ บัดดี้ไม่อยากให้พลาด ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านผืนผ้า แรงบันดาลใจและอาหารเครื่องดื่ม ทุกอย่างดีไปหมด แถมไม่มีการเก็บค่าเข้าชมเพราะพี่เอ๋ต้องการให้ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย รู้งี้แล้ว ต้องมากันให้ได้นะ
69 31-12 ถ.ชัยประสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
08 1725 5215
https://maps.app.goo.gl/G65xuRfW3tNW5meW9
6. กลุ่มทอผ้าไหมศูนย์ศิลปาชีพทุ่งกะมัง
สถานที่ต่อมาคือ กลุ่มทอผ้าไหมศูนย์ศิลปาชีพทุ่งกะมัง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้ความช่วยเหลือชุมชนให้มีความรู้สมัยใหม่ในการทอผ้าไหม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านจากการเลี้ยงหม่อนและทอผ้าไหม
วันที่ไป บัดดี้มีโอกาสได้คุยกับแม่สมหมาย ชูสกุล ประธานศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกระมัง ซึ่งแม่สมหมายได้เล่าให้บัดดี้ฟังเป็นภาษาอีสานว่า ผ้าของศูนย์ฯได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งต้องเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งแม่สมหมายและชาวบ้านในกลุ่มได้ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์การทอผ้ามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีมากกว่า 400 ลายแล้ว
ภายในมีการจัดแสดงผ้าไหมทั้งลายเก่าและลายใหม่ประยุกต์ ผ้าที่ได้รับรางวัล วิดีโอประวัติความเป็นมาและขั้นตอนการทำผ้าจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แถมยังมีผ้าจากไหมเศษ ที่มีการเอาผ้าที่เหลือมารวมกันแล้วทำลายใหม่ออกมา สวยงามจนไม่คิดว่าเกิดจากการนำเศษผ้าเหลือ ๆ มาทำเลยล่ะ
นอกจากนี้ ที่นี่ยังสามารถมาศึกษาดูงานกระบวนการผลิตผ้าไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมผ้าและทอผ้าได้ จากผู้มีประสบการณ์ที่คลุกคลีกับผ้าไหมมานานหลายสิบปี รับรองได้ความรู้และประสบการณ์ดี ๆ กลับไปด้วยแน่นอน
152 หมู่ 4 ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
0 4482 2861, 09 7924 4847 พี่พูนทรัพย์ (เจ้าหน้าที่โครงการ)
https://maps.app.goo.gl/Q4t312cK3wwMzCSg8
7. วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง
ที่นี่อยู่ห่างจากกลุ่มทอผ้าไหมศูนย์ศิลปาชีพทุ่งกะมังเพียงแค่ 50 เมตรเท่านั้น เป็นทั้งที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดงและที่พักของบัดดี้ในคืนนี้กับฟาร์มสเตย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันในชื่อ นกน้อยนาสมบูรณ์
เมื่อมาถึงก็มีเจ้า ไหมทอง พนักงานต้อนรับ 4 ขาที่สุดแสนจะขี้อ้อนมาต้อนรับบัดดี้ก่อนใครเพื่อน
พี่อู๊ด เจ้าของที่นี่เล่าให้ฟังว่า ที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ สืบสานมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ตั้งแต่การย้อมผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติ อย่างสีดำและสีน้ำตาลจากผลมะเกลือ สีม่วงจากเปลือกมังคุด สีเหลืองจากเปลือกประโหด สีเทาจากผลตะโกและโคลน สีครามจากใบคราม สีแดงและชมพู จากครั่ง รวมไปถึงการทอและลงลวดลายบนผืนผ้าที่ย้อม ก็ใช้เครื่องมือดั้งเดิมบวกกับฝีมือของคุณป้าคุณน้าวัยเก๋าให้ออกมาเป็นผ้าทอสวยเต็มผืน ซึ่งจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งหมดด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สารเคมีในทุกขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ทำและผู้สวมใส่
การมาพักที่นี่ นอกจากจะได้ชมทุกขั้นตอนของการย้อมและทอผ้าแล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถเวิร์กชอปการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ชมแปลงผักอินทรีย์ ชมโบราณสถาน ปั่นจักรยานดูวิถีชีวิตของชุมชนรวมไปถึงกินอาหารจากวัตถุดิบปลอดสารที่อร่อยสุดยอด แถมใครมีแพลนจะอยู่หลายวันก็ลองสอบถามห้องพักและโปรแกรมเที่ยวกับพี่อู๊ดได้เลย
75 ม.13 ถ.ชัยภูมิ-หนองบัวแดง ต.หนองบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
09 2325 4655 (พี่อู๊ด)
https://maps.app.goo.gl/tCadECiMeurvYwx17
8. วิสาหกิจชุมชนปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง
ปิดท้ายกันที่กล้วยหอมทองหนองบัวแดง สินค้าทางการเกษตรที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (Geographical Indications – ผลไม้คุณภาพที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น) สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ล้านบาทต่อปี โดยมีตลาดสำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งไปตั้งแต่ยังเขียว ๆ นี่แหละ ให้ไปสุกพอดีที่นู่น
แม่วิไลวรรณ เป็นคนพาบัดดี้ชมสถานที่ และได้บอกกับบัดดี้ว่า กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีต้นกำเนิดมาจาก กล้วยหอมทองพันธุ์กาบดำ ของ จ.ลพบุรี ซึ่งเมื่อนำมาปลูกที่ อ.หนองบัวแดง ปรากฏว่ามีลูกใหญ่ สีเหลืองนวล เนื้อเหนียวนุ่มแน่นละเอียด แถมวิสาหกิจชุมชนของที่นี่ ยังมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนบรรจุลงกล่องอย่างเข้มข้น ทำให้ได้กล้วยหอมที่ปลอดภัยและคุณภาพดี จนได้ผลผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
หากใครอยากลองชิม “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” บัดดี้ขอบอกตามตรงว่าค่อนข้างยาก เพราะกล้วยที่นี่ยังปลูกได้น้อยถ้าเทียบกับความต้องการของตลาด หากสนใจต้องโทร.สอบถามล่วงหน้าเท่านั้น
แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว บัดดี้แอบบอกนิดหนึ่งก็ได้ว่า หากเพื่อน ๆ แวะที่วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ลองถามพี่อู๊ดดูได้ว่ามีกล้วยหอมทองเหลือไหม เพราะชาวหนองบัวแดงรู้จักและช่วยกันอยู่แล้ว หากมีกล้วยหอมทองเหลือ ทางพี่อู๊ดสามารถนำมาเก็บไว้รอเพื่อน ๆ มากินได้
ต.ถ้ำบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
เปิดบริการทุกวันจันทร์-พุธ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
08 4767 5749 (แม่วิไลวรรณ)
https://maps.app.goo.gl/TaaxFAXCvt6Dz2Wg6