พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี✨

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เดิมเป็นอู่เรือหรือเรียกว่าโรงเก็บเรือพระราชพิธี อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2490 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนถูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหาย ทางสำนักพระราชวังและกองทัพเรือจึงมอบให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซม ดูแลรักษาเรือพระราชพิธี

และเนื่องด้วยกรมศิลปากรเล็งเห็นว่าเรือพระราชพิธีมีประวัติและความสำคัญมายาวนานและยังนำมาใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมทั้งยกฐานะของอู่เก็บเรือขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา

เรือพระราชพิธี เป็นเรือที่ใช้ในพระราชพิธีชลมารคหรือที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค ถือเป็นพระราชประเพณีดั้งเดิมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระบวนพยุหยาตราก็คือการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระมหากษัตริย์ มักจัดขึ้นในโอกาสที่ต้องเสด็จในการทำสงคราม และในโอกาสพระราชพิธี

ในปัจจุบันไม่ได้มีการทำสงครามแล้ว แต่ยังคงมีกระบวนพยุหยาตราให้ได้ชมอยู่บ้างในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

  • ปัจจุบันเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ ถูกเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ 3 แห่ง
    • 🔶1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี จัดแสดงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมทั้งเรือที่มีโขนเรือ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์
    • 🔶2.อู่เรือหลวงที่ท่าวาสุกรี ข้างหอสมุดแห่งชาติ มีเรือ 6 ลำ ประกอบด้วย เรือเอกชัยหลาวทอง เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และเรืออสุรปักษี
    • 🔶3.แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก เป็นอู่เรือของกองทัพเรือ มีเรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือดั้ง เรือแซง เรือแตงโม เรืออีเหลือง ทุกลำถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 หัวเรือเป็นพญานาค 7 เศียร กลางลำเรือเป็นบุษบกไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราชลมารค

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 หัวเรือพระที่นั่งเป็นพระนารายณ์ประทับยืนบนครุฑยุดนาค เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร จึงเติมสร้อยรัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชื่อมาจากภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก

เรืออสุรวายุภักษ์ ชื่อเรือมาจากภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร” หัวเรือมีลักษณะร่างเป็นนก หน้าเป็นยักษ์ ใส่เสื้อสีม่วง มือและเท้าเป็นสีคราม มีเรืออีกลำที่ลักษณะคล้ายคลึงกันชื่อว่า เรืออสุรปักษี

เรือกระบี่ปราบเมืองมาร สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 หัวเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นรูปลิงร่างกายสีขาว ไม่สวมเครื่องประดับหัว ส่วนเครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก มีเรือลักษณะคล้ายคลึงกันชื่อว่าเรือกระบี่ราญรอนราพณ์

เรือครุฑเหินเห็จ สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แต่ใช้ชื่อเรือว่า เรือครุฑเหินระเห็จ หัวเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคลงรักปิดทองประดับกระจก ครุฑมีกายสีแดง มีเรือที่ลักษณะคล้ายคลึงกันชื่อว่า เรือครุฑเตร็จไตรจักร

เรือเอกชัยเหินหาว สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ชื่อเอกชัยเหินหาว แปลว่า “ชัยชนะสูงสุดทะยานสู่ท้องฟ้า” เรือเอกชัยเหินหาวมีเรืออีกลำคู่กัน ชื่อว่าเรือเอกชัยหลาวทอง ลักษณะหัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหราซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค

เรือ 2 ลำถือว่าเป็นเรือคู่ชัก หมายความว่าใช้เป็นเรือชักลากเรือพระที่นั่ง เช่น ชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เมื่อน้ำเชี่ยวหรือต้องการให้แล่นเร็วขึ้นและเป็นเรือคู่นำหน้าเรือพระที่นั่ง ต่อมาใช้เป็นเรือสำหรับให้ข้าราชการชั้นสูงนั่ง

ที่นี่นอกจากจะจัดเก็บจัดแสดงเรือต่าง ๆ แล้วยังมีการดูแลซ่อมแซมเรืออยู่เสมอ รวมทั้งยังมีการจัดแสดงเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น บัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา การแต่งกายของฝีพาย โขนเรือเก่า ๆ แบบจำลองกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นต้น

Scroll to Top