🌈 เหตุที่เรียกว่าเมืองสามอ่าว เนื่องจากพื้นที่บริเวณตัวเมืองประจวบประกอบไปด้วย อ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว ตั้งเรียงต่อกันในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ มีพื้นที่ริมอ่าวประจวบเป็นศูนย์กลางความเจริญ เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ สถานีขนส่งรถประจำทาง สถานีรถไฟ ที่พัก ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
🌈 TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ขอนำเสนอ 5 จุดเช็กอิน เมืองสามอ่าว ได้แก่ เขาช่องกระจก สะพานสราญวิถี เขาตาม่องล่าย วัดอ่าวน้อย และอ่าวมะนาว ซึ่งหากใครมีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวตัวเมืองประจวบ แล้วไม่ได้ไปเช็กอินสถานที่เหล่านี้ ถือว่าพลาดอย่างมาก❗️
🌈 ตามมาเก็บข้อมูลเตรียมวางแผนเที่ยวด้วยกันในรีวิวนี้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ค่อยออกเดินทางท่องเที่ยวกันนะคะ 😉
การเดินทาง (กรุงเทพฯ-ตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์)
รถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามสอง) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนถึงทางต่างระดับวังมะนาว ให้เลี้ยวซ้ายเข้าใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี เข้าสู่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
ระยะทางรวมจากกรุงเทพฯ ประมาณ 293 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง : มีให้บริการทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 และสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490 หรือ www.transport.co.th
รถตู้โดยสารประจำทาง : มีให้บริการทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 และสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-4.30 ชั่วโมง
ท่ารถตู้สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 – ตัวเมืองประจวบ ให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โทร. 089-2547496, 089-2547495, 081-9428938
ท่ารถตู้สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่ – ตัวเมืองประจวบ ให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โทร. 086-3111426, 092-8941454
*แนะนำให้ตรวจสอบรอบเวลารถก่อนเดินทาง*
รถไฟ : ขบวนรถไฟสายใต้ทุกขบวนที่ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ จะผ่านสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
การเดินทางด้วยรถไฟมายังตัวเมืองประจวบ นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ตั้งอยู่ใจกลางตัวเมืองประจวบ ห่างจากถนนเลียบอ่าวประจวบเพียง 500 เมตร เรียกได้ว่าพอลงจากรถไฟ สามารถเดินหาที่พักหรือเช็กอินเข้าที่พักซึ่งตั้งอยู่ริมอ่าวประจวบได้เลย
จุดที่ 1 เขาช่องกระจก
หากอยากมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองประจวบและอ่าวประจวบแบบ 360 องศา แนะนำให้ขึ้นไปบนยอดเขาช่องกระจก
เขาช่องกระจก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 245 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของวัดธรรมิการามวรวิหาร (วัดเขาช่องกระจก) จากเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด มีบันไดปูนเดินขึ้นไปสู่ยอดเขา
ยอดเขาช่องกระจกเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและองค์พระเจดีย์ซึ่งภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะกราบไหว้
ตำแหน่งที่ตั้งของเขาช่องกระจกอยู่จุดกึ่งกลางของโค้งอ่าวประจวบ โดยแบ่งอ่าวประจวบออกเป็น 2 ฝั่ง
อ่าวประจวบทางเหนือ เริ่มจากปากคลองบางนางรมอยู่บริเวณเชิงเขาช่องกระจก มีหาดทรายขาวยาวต่อเนื่องไปทางเหนืออีก 4 กิโลเมตร จนถึงเขาตาม่องล่าย
อ่าวประจวบทางใต้ จะเป็นศูนย์ราชการ ตลาด ชุมชน เรื่อยไปจนถึงเขาล้อมหมวกและอ่าวมะนาว
จุดชมวิวบนยอดเขาช่องกระจก สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออกของปากอ่าวในช่วงเช้า เรื่อยไปจนถึงแสงทไวไลท์ในยามเย็น
อีกฟากฝั่งของจุดชมวิวยอดเขาช่องกระจก ยังสามารถชมพระอาทิตย์ตกลับหลังเทือกเขาตะนาวศรี และแสงไฟยามค่ำคืนของย่านชุมชนในตัวเมืองได้ด้วย
จุดที่ 2 สะพานสราญวิถี
ถือเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งหนึ่งของตัวเมืองประจวบ เป็นสะพานปูนสีแดงโดดเด่นยื่นจากถนนริมอ่าวประจวบออกไปในทะเล
สะพานสราญวิถี แต่เดิมคือ สะพานปลาอ่าวประจวบ ต่อมาทางหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันบูรณะพัฒนาให้มีความสวยงามขึ้น
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานสราญวิถี” ตามที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน
โดยคำว่า “สราญวิถี” หมายถึง ความสุขสำราญ และยังได้พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ มาประทับที่ป้ายชื่อของสะพานอีกด้วย
ในช่วงเวลาเช้าและเย็น ยามแดดร่มลมตก ชาวเมืองประจวบและนักท่องเที่ยวนิยมมาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจและถ่ายรูปกันที่นี่
จุดที่ 3 เขาตาม่องล่าย
เขาตาม่องล่าย ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของโค้งอ่าวประจวบ ห่างจากเขาช่องกระจกประมาณ 4 กิโลเมตร ตลอดแนวหาดจะเป็นชุมชนบ้านเรือนสลับกับที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และหมู่บ้านชาวประมงซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เชิงเขา
แอบกระซิบว่า ใครต้องการซื้อหาอาหารทะเลสด ๆ ให้มาดักรอเรือของชาวประมงท้องถิ่นแถวชุมชนตาม่องล่าย ซึ่งเรือมักจะกลับเข้าฝั่งพร้อมกับอาหารทะเลสด ๆ ในช่วงเช้า
บริเวณเชิงเขาตาม่องล่ายเป็นที่ตั้งของ “วนอุทยานเขาตาม่องล่าย” ที่นี่มีจุดกางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย
จากวนอุทยานฯ สามารถมองเห็นตัวเมืองประจวบซึ่งอยู่อีกฟากของโค้งอ่าวได้อย่างชัดเจน
หากเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในวนอุทยานฯ จะพบจุดชมวิวเขาตาม่องล่าย ซึ่งมองเห็นเขาตาม่องล่ายและโค้งอ่าวประจวบได้ตลอดแนว รวมทั้งเขาล้อมหมวกด้วย
จุดที่ 4 วัดอ่าวน้อย
ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอ่าวน้อย เอกลักษณ์โดดเด่นของวัดคือ พระอุโบสถไม้สักทองสลักลวดลายไทยทั้งหลัง และมีรูปปั้นพญานาคคู่เลื้อยโอบล้อมกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถไว้
ในบริเวณวัดมีภูเขาหินตั้งอยู่ติดริมทะเล มีทางเดินขึ้นไปบนเขา
บนเขาจะพบโถงถ้ำ ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ
ระหว่างทางเดินขึ้น-ลงเขา สามารถมองเห็นโค้งอ่าวซึ่งเชื่อมต่อกับชายหาดในเขตอำเภอกุยบุรี
จุดที่ 5 อ่าวมะนาว
ชายหาดที่ตั้งอยู่ทางใต้ของอ่าวประจวบ มีเขาล้อมหมวกเป็นจุดแบ่งระหว่างอ่าวประจวบและอ่าวมะนาว
อ่าวมะนาวอยู่ในพื้นที่และความดูแลของกองบิน 5 กองทัพอากาศ แต่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเที่ยวได้
การเข้าไปเที่ยวจะต้องผ่านจุดตรวจความปลอดภัยบริเวณทางเข้ากองบิน 5 เสียก่อน
ด้วยสภาพชายหาดที่มีความลาดชันน้อย สามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย รวมถึงอยู่ในเขตทหาร มีการรักษาความสะอาดตลอดเวลา อ่าวมะนาวจึงเป็นชายหาดยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวที่มักพาบุตรหลายมาพักผ่อนเล่นน้ำ
เมื่อโอกาสเหมาะและมีความพร้อมในการเดินทาง หากกำลังมองหาแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไม่แออัดจนเกินไป มีทั้งจุดชมวิวสวย ๆ วิถีชีวิตชาวเลเรียบง่าย อาหารทะเลสดอร่อยและไม่แพง รวมถึงที่พักราคาไม่สูงนัก ลองมาเที่ยว “เมืองสามอ่าว” กับ 5 จุดเช็กอินในรีวิวนี้กันนะคะ