สถานที่ท่องเที่ยว

5 ร้านเด็ดที่พลาดไม่ได้เมื่อมาอุทัยฯ

มาเที่ยวเมืองอุทัยฯทั้งที..นอกจากที่เที่ยวจะเยอะแล้วของกินอร่อยก็มากมี มาที่นี่ไม่ต้องทำอะไรมากมายให้เหนื่อย นอกจากตระเวนกินตั้งแต่เหยียบย่างถึงถิ่นอุทัยฯจนเข้านอน สำหรับ 5 ร้านเด็ดที่พลาดไม่ได้เมื่อมาอุทัยฯ จะมีร้านไหนบ้างนั้นตามมาชิมด้วยกันเลยจ้าาา เข้าเมืองอุทัยฯมาแป๊บนึงเลี้ยวซ้ายเข้าเกาะเพโท เอ้ย เทโพ ร้านนี้เลย “ป้าสำราญ” ร้านหาไม่ยาก (ถ้าไม่ขับเลยนะ) ไปตามพิกัดนี้ https://goo.gl/maps/D9PGRsNNM7J2 โทร. สั่งจองอาหารกันได้ที่ 056 980 085  ร้านเปิดทุกวัน 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม เมนูเด็ดของป้าสำราญ ได้แก่ สารพัดเมนูปลาแม่น้ำ เช่น ปลาแรด ปลาคัง ปลาเนื้ออ่อน จะเอามาต้มยำทำแกงรสแซ่บตลอดจนทอดกระเทียมได้หมด และใครชอบผัดผักแนะนำคือ ผัดถั่วสูตรผู้ว่าฯ เมนูเด็ด ต้มยำปลา ร้านป้าสำราญ เข้ามาใจกลางเมืองแวะชิมขนมปังสังขยาร้าน “ไพพรรณ” ขนมปังร้อนๆ หอมกรุ่นจากเตาไส้สังขยาสีส้มเนียนละเอียดหวานกำลังพอดี อ้อ ร้านนี้ขนมปังสังขยาเค้ามีแต่ไส้สีส้มนะสีอื่นไม่ทำ เป็นความแนวเฉพาะตัว ไปถึงร้านถ้าไม่ได้สั่งก็ไม่ได้กินนะ ต้อง preorder เอาเบอร์โทรศัพท์ไปไว้ก่อนเลย 056 511 660 พิกัดร้านhttps://goo.gl/maps/qcvrZhTH5pK2 แต่ไปถึงร้านแล้วก็สั่งเลยเถอะไม่ต้องโทรมาทีหลัง รีบหน่อยนะ เพราะร้านปิดประมาณ 5 โมงเย็นแต่ว่าเปิดแต่เช้าตรู่ 7 โมงเช้า สั่งวันนี้รับขนมพรุ่งนี้ แต่เราโทรมาสั่งไว้แล้วตั้งแต่อยู่เมืองกรุง (มีวิสัยทัศน์สุดๆ เฉพาะเรื่องกิน) รับขนมไว้แล้วไปตระเวนกันต่อ อากาศร้อนๆ แบบนี้แวะรับขนมปังเย็นราดน้ำแดงชุ่มฉ่ำชื่นใจไม่แพ้บิงซูกันที่ร้าน “กาแฟบ้านจงรัก” ร้านนี้นอกจากจะมีทั้งสารพัดชา กาแฟ กับขนมปังรสละมุนแล้ว ภายในร้านยังตกแต่งได้น่ารักน่าเดิน อาคารตัวร้านเป็นบ้านไม้ชั้นสองตกแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของเก็บของสะสมสมัยโบราณนานมาลองขึ้นไปเที่ยวชมถ่ายรูปดูได้ แต่อย่าลืมรีบลงมากินขนมปังเย็นด้วยล่ะเดี๋ยวละลายหมดก็จะพบแต่ความวังเวง ร้านกาแฟบ้านจงรัก กินหวานแล้ววนกลับไปที่ของแซ่บๆ ช่วยเผาผลาญกันดีกว่า ไม่ต้องออกกำลัง แต่ใช้การกินเอา (เนอะๆ) ว่าแล้วก็แวะที่ร้าน “บ่าวต้อมหนองคาย” เมนูห้ามพลาดนี้ได้แก่ ตำไทยไข่เค็ม ตำหอยแครง ตำถาด ไก่ย่างสไตล์ อิสานบ้านเฮา แซ่บแค่ไหนเอาเป็นว่าถ้าไปเที่ยงต้องโทรจองโต๊ะนะ เมมเบอร์กันไว้เลยจะได้ไม่พลาด 080 695 9526 ร้านอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านแพนด้าทางไปวัดท่าซุง ร้านบ่าวต้อมหนองคาย ตระเวนกินจนค่ำมืดแล้ว ก่อนนอนตบท้ายด้วยอาหารเบาๆแบบข้าวต้มรอบดึกกันที่ “เจ๊ดาปลาลวก” ข้าวต้มที่ไม่ได้มีแต่ข้าวต้มแต่มีสารพัดเมนูชวนน้ำลายสอสั่งจานแรกแล้วต้องสั่งซ้ำ ได้แก่ หมูกรอบทอดน้ำปลา ปลาแรดลวกจิ้ม ปลาแรดทอดกระเทียม ต้มยำแห้ง ต้มยำแห้งรวมมิตร ร้านนี้เปิดห้าโมงเย็นถึงประมาณสี่ทุ่ม เอาเบอร์ไปเมมไว้ 056 571 409 แต่โทรไปเจ้าของจะมีเวลารับหรือเปล่าก็ไม่รู้นะเพราะขายดีมาก ลูกค้านั่งกินกันยังกับแจกฟรี สนใจไปตามพิกัดนี้เลย https://goo.gl/maps/1tL589Xrwnz ร้านเจ๊ดาปลาลวก กินกันจนเพลียคงต้องขออำลาไปพักร่างและกระเพาะ ใครสนใจตามมาๆ อุทัยฯเมืองใกล้กรุง มีดีทั้งของกินและที่เที่ยวกับการเดินทางที่แสนจะสะดวกสบายนะเธอ ถ้าไม่มาบอกเลยว่า..พลาดอย่างแร๊งงง

5 ร้านเด็ดที่พลาดไม่ได้เมื่อมาอุทัยฯ อ่านเพิ่มเติม

ไปเที่ยว 2 วัน 1 คืน ตามหาแม่นายการะเกด

สุดสัปดาห์นี้ไปเที่ยวที่ไหนดีนะ…ถ้ายังคิดไม่ออก พวกเราทีมเพื่อนร่วมทางอยากจะชวนเกาะกระแสละครดัง บุพเพสันนิวาส และพาออเจ้าทั้งหลายไปเที่ยว 2 วัน 1 คืน ตามหาแม่นายการะเกดที่จังหวัดใกล้ๆอย่างพระนครศรีอยุธยากันเถิด สถานที่แรกที่เราจะไปกันคือ วัดใหญ่ชัยมงคล สิ่งที่น่าสนใจของวัดใหญ่ชัยมงคลคือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เจดีย์ชัยมงคล เจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยาเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะมังกะยอชวาพระมหาอุปราชของหงษาวดี ด้านหลังวัดมีตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผู้ที่ศรัทธาเข้ามากราบไหว้ นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ ยังมีสวนหย่อมที่สวยงามให้พักผ่อนอีกด้วย วัดใหญ่ชัยมงคล เปิดทุกวัน 08.00 – 17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยไม่เสียค่าเช้าชม ชาวต่างชาติ 20 บาท หลังจากนั้นเราจะไปต่อกันที่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับวัดใหญ่ชัยมงคล ที่นี่เราสามารถมองเห็นป้อมเพชรซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา มีชื่อเสียงในเรื่องของหลวงพ่อโตหรือเจ้าพ่อซำปอกงที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างให้ความเคารพนับถือมานาน สำหรับที่ต่อไป ทางเข้าอาจลึกลับไปสักนิด แต่บรรยากาศคุ้มค่าที่จะมา พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ในซอยคานเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารสไตล์ยุโรป 2 ชั้น สีสันสดใสสะดุดตา ชั้นล่างเป็นคาเฟ่และร้านจำหน่ายของที่ระลึก ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ความสัมพันธ์ไทย-ฮอลันดา ซึ่งทำออกมาได้น่าสนใจเลยทีเดียว หากใครสนใจประวัติศาสตร์และอยากมานั่งเล่นดื่มด่ำบรรยากาศแบบชาวดัชต์ สามารถมาที่บ้านฮอลันดาได้ อยู่ไม่ไกลจากวัดพนัญเชิงวรวิหาร เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. ค่าเข้าชม 50 บาท เดินเที่ยวมาเหนื่อยๆ แวะทานอาหารกลางวันกันเถอะ ทางเราขอแนะนำร้านผักหวาน ที่นี่มีอาหารหลายประเภทให้เลือกทาน ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง เช่น ส้มตำ หอยทอด ผัดไท สลัดกุ้งทอด สเต็ก และเมนูขึ้นชื่อของร้านคือ ก๋วยเตี๋ยวผักหวาน  ใครที่สนใจมาลองลิ้มชิมรสอาหารที่ร้านผักหวาน สามารถมาได้ทุกวัน ร้านตั้งอยู่หน้าวัดสุวรรณดาราม เปิดเวลา 08.00 – 19.00น. cr.รูปภาพจาก facebook ร้านบ้านผักหวาน กินคาวแล้วไม่กินหวาน มันจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป ต้องปิดท้ายมื้อเที่ยงด้วยขนมแสนอร่อยที่ ร้านบ้านข้าวหนม คาเฟ่ข้าวหนมไทยโบราณ ขายขนมไทยและเครื่องดื่มต่างๆ มีทั้งทำเอง และรับจากร้านในพื้นที่อยุธยา ภายในร้านตกแต่งสไตล์เรโทรนิดๆ จุดเด่นของร้านคือ ร้านกาแฟแบบอนุรักษ์นิยมที่นำเอาขนมไทยแบบต่างๆ มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว  บ้านข้าวหนม ตั้งอยู่บนถนนอู่ทอง เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 19.00 น. cr. facebook ร้านบ้านข้าวหนม หนังท้องตึง หนังตายังหย่อนไม่ได้นะจ๊ะ เราต้องไปเที่ยวกันต่อ เราไปต่อกันเลยที่ วัดมหาธาตุ หากพูดถึงวัดนี้เราจะต้องนึกถึงความมหัศจรรย์ของเศียรพระพุทธรูปกว่าร้อยปีที่อยู่ในต้นไม้ ซึ่งพลาดไม่ได้ที่จะต้องไปถ่ายรูป วัดราชบูรณะ อยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ เราสามารถเดินไปถึงได้ จุดเด่นของวัดคือ ปรางค์ประธานที่มีขนาดสูงใหญ่ ก่อด้วยอิฐบนฐานสี่เหลี่ยม ด้านในพระปรางค์สามารถเดินลงไปชมจิตรกรรมฝาผนังและชมกรุสมบัติในสมัยอยุธยาได้อีกด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท ปิดท้ายการเที่ยวในวันที่ 1 ด้วยวัดไชยวัฒนาราม เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ.2173 เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจคือ ปรางค์ประธานและเมรุทิศ เมรุรายที่อยู่ล้อมรอบนั้นเอง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หลังจากเที่ยวกันมาทั้งวัน ต้องหาอะไรฟินๆทานสักหน่อย พูดถึงอยุธยา ก็ต้องนึกถึงกุ้งเผาเป็นอันดับแรก ร้านแพกรุงเก่าเป็นร้านที่ตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นร้านเก่าแก่ มีอาหารหลายหลายประเภท โดยเฉพาะกุ้งเผาที่มีหลายขนาด ทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดถือว่าเด็ด พลาดไม่ได้จริงๆ ร้านแพกรุงเก่า ตั้งอยู่บนถนนอู่ทอง เปิดทุกวัน 10.00-21.00 น. ที่พักสำหรับทริปนี้ เราพักที่ Riverview Place บรรยากาศดี อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 2  เช้านี้ตักบาตรยามเช้า บนถนนอู่ทอง ได้ซึมซับบรรยากาศของชาวบ้านด้วยนะออเจ้า หลังจากตักบาตรช่วงเช้ากันแล้ว เริ่มที่ วิหารมงคลบพิตร นมัสการพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของพระนครศรีอยุธยาและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ บริเวณรอบๆมีร้านขายของฝากขนาดใหญ่ด้วย หากใครได้ติดตามละครบุพเพสันนิวาสก็จะได้เห็นว่ามีฉากวิหารมงคลบพิตรให้ได้ชมกันด้วย ฉะนั้นไม่พลาดที่จะไปกันนะคะ เยี่ยมชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดที่อยู่ในเขตพระราชวังหลวง เหมือนกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ มีเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์ที่งดงาม เป็นสัญลักษณ์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ สามารถเที่ยวชมวัดได้ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. มาต่อกันที่ วัดพุทไธศวรรย์ ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง เป็นพระอารามหลวงที่ยังคงสภาพดี ข้าจึงพาออเจ้าทั้งหลายมาชมความงดงามของวัด ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง เรียกว่า ตำหนักเวียงเหล็ก หรือ เวียงเล็ก สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรางค์ประธาน ที่มีศิลปะแบบขอม นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ และวิหารพระนอนให้ชมกันอีกด้วย เที่ยวกันมาสักพักแล้วได้เวลาหาอะไรรองท้อง เราจึงไปกันที่ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง มาที่นี่แล้วเราจะได้ทั้งเที่ยวในวัดและสามารถเลือกซื้อของกิน มีทั้งอาหารคาว อาหารหวาน เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. ก่อนจะกลับบ้านเราต้องมีของติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากกันหน่อย ของฝากขึ้นชื่อของอยุธยาก็จะต้องไม่พลาด “โรตีสายไหม” ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายเป็นสิบๆร้าน แหล่งจำหน่ายอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา หรือริมถนนอู่ทอง  cr. facebook ร้านโรตีสายไหมอาบีดีน

ไปเที่ยว 2 วัน 1 คืน ตามหาแม่นายการะเกด อ่านเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน

พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ตั้งอยู่ถนนศรีธรรมโศกซอย 3 อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ภายในจัดแสดงรูปหนังตะลุงโบราณในภาคใต้อายุมากกว่า 100 ปี รวมถึงรูปหนังตะลุงในภูมิภาคต่างๆและรูปหนังตะลุงนานาชาติก่อตั้งขึ้นโดยนายสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) พ.ศ.2549 เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง เก็บรักษาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา นอกจากนี้มีห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านภาคใต้มีเวทีสาธิตเชิดหนังตะลุงอย่างครบวงจร การสาธิตการแกะตัวหนังตะลุงและสินค้าที่ระลึกตัวหนังตะลุง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและโบราณสถานปีพ.ศ.2539 และรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ปี พ.ศ.2553 ตัวละครในหนังตะลุง ต้นแบบจะมาจากเรื่องรามเกียรติ์ มีทั้งเทวดา พระ นาง รวมถึงตัวตลกที่เป็นตัวชูโรงและเป็นสีสีนที่ขาดไม่ได้ของหนังตะลุง สร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี ด้านล่างของอาคารจะมีการสาธิตและจำหน่ายหนังตะลุงหลากหลายรูปแบบ การแกะหนังต้องใช้ความละเอียดและความใจเย็น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นๆ หนังตะลุงที่แกะและลงสีเรียบร้อยร้อย สามารถซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึกกลับบ้านได้เลย ใครสนใจมาเที่ยวชมสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 075 346 394

พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน อ่านเพิ่มเติม

พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชีวิต : Wetlands ดินแดนมหัศจรรย์

พื้นที่ชุ่มน้ำ…พื้นที่ชีวิต : Wetlands ดินแดนมหัศจรรย์ 1. พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน ที่ตั้ง: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง 2. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ที่ตั้ง: อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกาตำบลบึงโขงหลง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ 3.พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม  ที่ตั้ง: อยู่ในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่ ตำบลบางแก้ว และตำบลคลองโคนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 4. พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่  ที่ตั้ง: อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 5. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย ที่ตั้ง: ตำบลโยนก และตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 6. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ( พรุโต๊ะแดง ) จังหวัดนราธิวาส  ที่ตั้ง: อำเภอตากใบ สุไหงโก-ลกและสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส 7. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง  ที่ตั้ง: ตำบลนาเกลือ ตำบลลิบง ตำบลหาดสำราญ อำเภอสิเกาอำเภอปะเหลียน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  8. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ที่ตั้ง: อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 9. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้ง : ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 10. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา  ที่ตั้ง : อำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา 11.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ที่ตั้ง : อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 12.พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ  ที่ตั้ง : อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ 13. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่ตั้ง : อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 14. หมู่เกาะระ–เกาะพระทอง จังหวัดพังงา ที่ตั้ง : อำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชีวิต : Wetlands ดินแดนมหัศจรรย์ อ่านเพิ่มเติม

สีสันตะวันออก เมืองเกาะในฝัน

สีสันตะวันออก เมืองเกาะในฝัน 1. เกาะช้าง  เกาะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตราด และอันดับ 2 ของไทย จุดเด่นคือ เกาะช้างมีสิ่งอำนวยความสะดวก และทั้งที่พักร้านอาหารมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีแพขนานยนต์ ที่สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลข้ามไปใช้สัญจรบนเกาะได้อีกด้วย 2. เกาะกูด มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในจังหวัดตราด บรรยากาศบนเกาะค่อนข้างเงียบสงบ น้ำใสมาก…ใสไม่แพ้กับทะเลฝั่งอันดามันเลย พื้นที่บนเกาะส่วนใหญ่ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติไว้ได้ดี มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ไฮไลท์อยู่ที่การพายเรือคายัคจากที่พัก ผ่านพื้นที่ป่าชายเลน 2 ข้างทาง เพื่อไปเที่ยวที่น้ำตกคลองเจ้า บรรกาศเหมือนได้ผจญภัยในป่ายังไงยังงั้น 3. เกาะขาม  ได้รับฉายาไข่มุกมรกตแห่งทะเลตราด เพราะน้ำทะเลที่นี่ใสมากๆ และมีสีมรกต เอกลักษณ์ของที่นี้คือหินภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่เรียงรายอยู่ตามชายหาด และมีแนวสันทรายที่ทอดยาวไปในทะเลเหมือนทะเลแหวก ด้านทิศตะวันออกของเกาะยังมีแนวปะการังที่สวยงาม เหมาะแก่การดำน้ำอีกด้วย 4. เกาะหมาก ที่นี่มีการจัดการสิ่งแวดล้อม Low Carbon Destination เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซล การคัดแยกขยะเพื่อการกำจัดอย่างยั่งยืน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนกับการท่องเที่ยว มีการใช้วัตถุดิบบนเกาะมาเป็นเมนูอาหาร เช่น การใช้ปลาทะเลที่หาได้จากเรือประมงของชาวบ้าน แทนการนั่งเรือออกไปซื้อปลายอดนิยมจากบนฝั่งมาขายให้นักท่องเที่ยว มีการปลูกผักสลัด ผักสวนครัว ไว้รับประทานเองด้วย นอกจากบรรยากาศชายหาดของเกาะหมากแล้ว กิจกรรมการปั่นจักรยานบนเกาะแห่งนี้ ถือได้ว่าไม่ควรพลาด เพราะเส้นทางที่ไม่ยากนัก จะพาลัดเลาะไปตามชุมชน ร้านค้า ชายหาด ป่าเขาน้อยใหญ่ ผ่านสวนมะพร้าว สลับเนิน นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก ภายในจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและข้าวของเครื่องใช้ของชาวเกาะหมากในอดีต โดยพิพิธภัณฑ์ฯ จะเปิดทุกวันเวลา 10.30 – 17.00 น. 5.เกาะรัง  เป็นหนึ่งในเกาะที่อยู่รวมกันเป็นแอ่ง นอกจากเกาะรัง ในบริเวณใกล้เคียงยังมี เกาะกระ เกาะเทียน เกาะยักษ์ และเกาะสามพี่น้อง สำหรับใครที่ชอบดำน้ำตื้น พวกเราแนะนำต้องที่นี่เลย หมู่เกาะรังเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และยังไม่ถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวมากนัก บนเกาะแห่งนี้ไม่มีโรงแรมรีสอร์ท แต่มีที่พักของทางอุทยานที่สามารถกางเต็นท์ได้ หรือจะพักที่เกาะใกล้เคียงแล้วซื้อทัวร์มาลงดำน้ำที่นี่ก็ได้เช่นกัน 6.เกาะหวาย เกาะเล็กๆ ที่ความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กับเกาะอื่นๆในตราดเลย เกาะหวายเป็นจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกที่สวยงาม สามารถพบเห็นสัตว์ทะเลและปะการังหลากชนิด ทั้งปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม  นอกจากนี้เกาะหวายยังเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์การเรียนรู้ ICEF ที่จัดทำโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลหลากหลายโครงการ เช่น โครงการปลูกปะการัง โครงการปล่อยเต่าทะเล และโครงการอนุบาลสัตว์น้ำหายาก 7. เกาะยักษ์ น่าจะเป็นเกาะที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดด้วย เกาะยักษ์ไม่มีพื้นที่ชายหาดให้เดินเล่น โดยเกาะจะแบ่งเป็น 2 เกาะ คือ เกาะยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก ส่วนเรื่องความสวยงามก็ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องแทนแล้วกันนะครับ 8. เกาะกระดาด เกาะกระดาดมีลักษณะเฉพาะตัวที่ค่อนข้างแปลกจากเกาะอื่นๆทั่วไป เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะที่แบนราบเหมือนกับกระดาด ไม่มีเนินเขาเหมือนหรือหน้าผาเลย ไฮไลท์ของที่นี่คือ การนั่งรถแทร๊คเตอร์ของชาวบ้านวนรอบเกาะไปชมฝูงกวางป่านับร้อยตัวในบรรยากาศ “ซาฟารีกลางทะเล”

สีสันตะวันออก เมืองเกาะในฝัน อ่านเพิ่มเติม

Hidden Silent Place ล่องเรือชมธรรมชาติและน้ำตก

ล่องเรือชมธรรมชาติและน้ำตก เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก การเดินทาง– จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3049 (นครนายก-น้ำตกนางรอง) จากโรงพยาบาลนครนายก ผ่านน้ำตกวังตะไคร้ ก่อนถึงน้ำตกนางรอง 2 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าเขื่อนขุนด่านปราการชล – จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 305 และทางหลวงหมายเลข 3239 (นครนายก-บ้านท่าด่าน) ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อนๆ ที่ต้องการล่องเรือชมธรรมชาติและน้ำตก ให้ขับรถไปตามทางที่จะไปขึ้นชมสันเขื่อน จุดบริการล่องเรือจะอยู่บริเวณที่จอดรถก่อนถึงสันเขื่อน ติดต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ระหว่างรอเรือก็แชะภาพ เดินรับลมเย็นๆ กันก่อน  เรือจะเเล่นไปบริเวณเหนือเขื่อนขุนด่านปราการชล ออกไปสัมผัสธรรมชาติแบบกรีนสุดๆ ระยะทางไป-กลับ 18 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ถ้ามากับเเก๊งเพื่อนรับรองสนุกแน่นอน หรือจะมากับครอบครัวก็แฮปปี้ไปอีกแบบจ้า เมื่อเรือมาถึง เราก็ต้องเดินลงบันไดเพื่อไปลงเรือ ซึ่งบันไดก็ไม่สูงเท่าไหร่เลยแค่ร้อยกว่าขั้น(เอ๊งงง) ขาลงไม่เท่าไหร่ แต่ขากลับขึ้นมาเนี่ยสิ  คนขับเรือจะพาเราไปชมทั้งหมด 3 จุดด้วยกัน ซึ่งเราต้องเดินเท้าเข้าไปอีก ให้เวลาจุดละ 30 นาที ต้องทำเวลากันนิดนึง สำหรับใครที่จะไปลุยช่วงนี้อาจจะเห็นน้ำเริ่มขึ้นสูงและมีฝนตกโปรยปราย แต่ก็ยังไปล่องได้ตามปกติค่ะ ระหว่างที่เรือแล่นจะเห็นสองข้างทางมีแต่สีเขียวเต็มไปหมด สดชื่นสุดๆ เลยล่ะ จุดแรกมาแวะกันที่ “น้ำตกผางามงอน” ต้องปีนป่ายโขดหินกันตั้งแต่ขึ้นจากเรือเลยทีเดียว แม้ระยะทางจะสั้นแค่ประมาณ 300 เมตร แต่ก็มีเชือกเอาไว้ให้จับด้วย ปลอดภัยมากๆ แต่ยังไงก็ระวังลื่นกันด้วยนะคะ จุดที่สอง “น้ำตกคลองคราม” เดินลัดเลาะผ่านทุ่งหญ้าและพุ่มไม้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 400-500 เมตร ก็จะเจอกับน้ำตกเล็กๆ ที่มีแอ่งน้ำให้เราสามารถเล่นได้ จุดที่สาม “น้ำตกช่องลม” ว่ากันว่าที่สุดท้ายมักจะเป็นไฮไลท์ที่พีคที่สุด และพีคจริงๆ ค่ะ เพื่อนๆ กว่าจะถึงตัวน้ำตก ก็ต้องปีนป่ายโขดหิน ข้ามสะพานไม้ไผ่ ลัด เลาะ และลื่นมาเรื่อยๆ ประมาณ 900 เมตร ที่นี่มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เล่นน้ำได้สบายเลยค่ะ แต่ละจุดเรือจะจอดรออยู่ข้างหน้า เสร็จภารกิจ 30 นาที คนขับเรือก็มารอรับทันที ตรงเวลาเป๊ะๆ ใครที่อยากมาเที่ยวผจญภัยแบบเบาๆ พอให้ได้เห็นสีเขียวๆ ของธรรมชาติ และรับอากาศบริสุทธิ์ของป่า แอดคิดว่าเขื่อนขุนด่านปราการชลก็เป็นอีกที่หนึ่งที่น่าสนใจมากทีเดียวล่ะ

Hidden Silent Place ล่องเรือชมธรรมชาติและน้ำตก อ่านเพิ่มเติม

เพื่อนร่วมทางพา Go Local : แม่กำปอง ลองแล้วจะรัก

เพื่อนร่วมทาง พา Go Local : แม่กำปอง ลองแล้วจะรัก แม่กำปองเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนหุบเขา ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ สามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี (ภาพนี้ถ่ายจากจุดชมวิวหมู่บ้านแม่กำปอง) การเดินทาง– จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1141 ตรงต่อไปยังทางหลวงหมายเลข 1317 จากนั้นวิ่งเข้าทางหลวงหมายเลข 3005 ไปทางตำบลห้วยแก้ว ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จนถึงหมู่บ้านแม่กำปอง ระยะทางรวม 55 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง – จากตัวเมืองเชียงใหม่ ทางฝั่งถนนช้างเผือกและตลาดวโรรส ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด) แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3005 ก็ได้เช่นกัน ใครๆ ก็มาเที่ยวแม่กำปอง แต่หลายคนมาไม่ถึงที่นี่ “วัดคันธาพฤกษา” (วัดแม่กำปอง) แหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen  วัดคันธาพฤกษาเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นอยู่ที่อุโบสถซึ่งตั้งอยู่กลางลำธารธรรมชาติของสายน้ำแม่กำปองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน โดยอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นตามดำริของเจ้าอาวาสรูปแรกที่ต้องการให้มีอุโบสถกลางน้ำตามคติของลังกา ซึ่งใช้น้ำเป็นขอบเขตของการทำสังฆกรรมเช่นเดียวกับการปักใบเสมารอบอุโบสถนั่นเอง สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ วิหารที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง แกะสลักลวดลายงดงามตามแบบล้านนา หลังคาวิหารปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำและมอสสีเขียวเต็มไปหมด เนื่องจากสภาพความชื้นและอากาศที่เย็นตลอดทั้งปีของบ้านแม่กำปองนั่นเอง ดูสวยงามและมีมนต์ขลังมากๆ มาเที่ยวแม่กำปองช่วง Green Season ทั้งที ต้องไม่พลาดมาเล่น มาแช่ และมาถ่ายภาพสวยๆ กันที่ “น้ำตกแม่กำปอง” แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน น้ำตกน้ำจะไหลลงมาเป็นสายต่อเนื่องไปเป็นลำธารให้ชาวบ้านได้ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตรกันด้วย น้ำตกแม่กำปองมีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกัน แต่น้ำตกชั้นบนๆ มีความลาดชันมากจึงไม่สามารถเล่นน้ำได้ ใครอยากเล่นน้ำชิลล์ๆ แนะนำให้เล่นได้ที่แอ่งน้ำของน้ำตกชั้นล่างๆ เลย บรรยากาศร่มรื่นมาก บ้านแม่กำปอง มีชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันกว่า 100 ปีแล้ว ส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด เพื่อเข้ามาทำสวนเมี่ยงเป็นอาชีพ  ใบเมี่ยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่กำปองนั้นแยกออกจากกันไม่ได้จริงๆ เพราะนอกจากการทำสวนเมี่ยงจะเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของที่นี่แล้ว ชาวบ้านก็ยังชอบกินเมี่ยงคู่กับชากาแฟอีกด้วย จนเป็นที่มาของคำว่า “จิบชา ชิมเมี่ยง” ซึ่งชาของบ้านแม่กำปองนั้นจะมีมีรสชาติหวานหอมละมุนลิ้น เมื่อทานคู่กับเมี่ยงหมักจะทำให้กลมกล่อมมากขึ้น นอกจากนี้คนเก่าคนแก่ของหมู่บ้านยังเล่าให้เราฟังอีกด้วยว่า เมื่อก่อนในบริเวณหมู่บ้านจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองแดงขึ้นอยู่ตามริมลำธาร เรียกว่า “ดอกกำปอง” หมู่บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “บ้านแม่กำปอง” ตามชื่อของดอกไม้นั่นเอง พามาดูผลิตภัณฑ์ของชุมชนกันบ้าง…ที่บ้านแม่กำปองมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กาแฟสดอราบิก้า ชาเขียวใบเมี่ยง สมุนไพรพื้นบ้าน น้ำผึ้งธรรมชาติ เครื่องจักสาน เครื่องเรือนไม้ไผ่ และหมอนสมุนไพรใบชา แต่ที่แอดภูมิใจนำเสนอก็คือ “หมอนสมุนไพรใบชา” หมอนสมุนไพรใบชา ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขายดิบขายดี ใครมาก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไปเป็นของฝากกันทั้งนั้น  หมอนใบชาเกิดจากภูมิปัญญาของกลุ่มแม่บ้านแม่กำปอง ที่นำเอาใบชาแก่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วมาเพิ่มมูลค่า โดยขั้นตอนเริ่มจากนำใบชาแก่มาตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปอบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น และนำมาเย็บใส่เป็นไส้หมอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอนอิง หมอนข้าง หมอนรองคอ หรือเย็บเป็นถุงดับกลิ่นอับชื้นในรถหรือในตู้เสื้อผ้าได้อีกด้วย  ลักษณะเด่นของหมอนใบชาก็คือจะมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย และทำให้หลับสบายอีกด้วย

เพื่อนร่วมทางพา Go Local : แม่กำปอง ลองแล้วจะรัก อ่านเพิ่มเติม

สุขกลางใจใกล้แค่เอื้อมที่ ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

สุขกลางใจใกล้แค่เอื้อมที่ ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  จังหวัดอ่างทอง เพียงอำเภอป่าโมกที่เดียวมีสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้สัมผัส ที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะแหล่งผลิตงานหัตถกรรมคุณภาพหลายรูปแบบ สักการะพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก ก่อนไปเที่ยวและเลือกซื้องานหัตถกรรมขึ้นชื่อของอำเภอป่าโมก ควรมาสักการะพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เทศบาลเมืองป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง พระปางไสยาสน์พุทธลักษณะงดงามศิลปะสมัยสุโขทัย มีเรื่องกล่าวขานจากในอดีตว่ามีเสียงพูดจากพระอุระ (อก) ของพระพุทธรูป โดยพระสงฆ์และชาวบ้านป่าโมกได้นำหนังสือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระองค์ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุประพาสต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าขาน ตำนาน หรือนิทานของแต่ละสถานที่ ย่อมสร้างสีสันจินตนาการเติมแต่งให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานในการไปท่องเที่ยวยิ่งขึ้น บริเวณลานริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดป่าโมกวรวิหาร มีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งจังหวัดอ่างทองสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และมีการจัดพิธีถวายราชสักการะในวันกองทัพไทย ช่วงวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เทศบาลเมืองป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เทศบาลเมืองป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชมและซื้องานหัตถกรรม อำเภอป่าโมก  หมู่บ้านทำกลอง อยู่ด้านหลังตลาดป่าโมก ตำบลเอกราช ตลอดถนนสายในผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกขนานกับลำคลอง เป็นร้านขายกลองเป็นระยะเมื่อมาเดินถนนสายนี้สามารถชมขั้นตอนการทำกลองชนิดต่าง ๆ จะเห็นกลองหลากสีสัน ตั้งแต่กลองขนาดใหญ่ถึงกลองขนาดเล็ก ๆ ซึ่งซื้อเป็นของที่ระลึกได้ ที่นี่เป็นแหล่งทำกลองที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย แม้แต่ต่างประเทศสั่งซื้อกลองจากหมู่บ้านทำกลองแห่งนี้ หมู่บ้านทำกลอง อยู่ด้านหลังตลาดป่าโมก ตำบลเอกราช ตลอดถนนสายในผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกขนานกับลำคลอง เป็นร้านขายกลองเป็นระยะเมื่อมาเดินถนนสายนี้สามารถชมขั้นตอนการทำกลองชนิดต่าง ๆ จะเห็นกลองหลากสีสัน ตั้งแต่กลองขนาดใหญ่ถึงกลองขนาดเล็ก ๆ ซึ่งซื้อเป็นของที่ระลึกได้ ที่นี่เป็นแหล่งทำกลองที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย แม้แต่ต่างประเทศสั่งซื้อกลองจากหมู่บ้านทำกลองแห่งนี้ บ้านทรงไทย ตำบลบางเสด็จ ที่นี่เป็นแหล่งสร้างบ้านทรงไทย และทำส่วนประกอบของบ้านทรงไทยแบบต่าง ๆ ที่สวยงามมีเอกลักษณ์ โดยสืบทอดฝีมือช่างกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้ มีบ้านทรงไทยจำลองและสินค้าเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ตาลประเภทต่าง ๆ ซึ่งจำหน่าย ตามเส้นทางสายอยุธยา-ป่าโมก และตำบลโพละ

สุขกลางใจใกล้แค่เอื้อมที่ ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อ่านเพิ่มเติม

สามชุก เสน่ห์คนเสียงเหน่อ

ตลาดสามชุก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตที่บรรยากาศภายในตลาดการค้าขายที่ยังคงรักษาวิถีแบบดั้งเดิม ตลาดสามชุกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในนามที่ว่า “สามชุก ตลาดร้อยปี ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา” ในอดีตตลาดสามชุกเป็นย่านการค้าสำคัญ และเป็นแหล่งชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้ที่นี่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 – 18.00 น. ตลาดโบราณร้อยปี สามชุก ว่ากันว่างานดี ดีอย่างไร? ดีทั้งของกิน ของฝาก น่ะสิคะ มาทีไรก็นึกถึงช่วงวัยเด็กทุกที ทั้งบรรยากาศห้องแถวไม้เก่าแก่ริมน้ำที่เรียงรายกันได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสวยงาม ของกินของอร่อยหลากหลายชนิดอดใจไม่ได้ที่อยากจะลิ้มลองกันซะทุกร้านทั้งขนมโบราณ ลูกชิ้นยักษ์ หรือจะเป็นของเล่นสมัยเด็กได้ความคลาสสิค ชิค คูล ที่นี่ได้บรรยากาศสุดๆเลยค่ะ ยังมีพิพิธภัณฑ์สำหรับสายถ่ายรูปอย่างแอดมินแล้วก็ไม่พลาดที่จะหามุมเก๋ แชะภาพมาแน่นอน ร้านขายของเบ็ดเตล็ด ร้านกาแฟท่าเรือส่ง (ศิวะนันต์พานิช) ร้านกาแฟเก่าแก่ มีเอกลักษณ์ โบราณทั้งการชงโบราณทั้งคนชงเลยค่ะ คลาสสิคไปอีก และยังเป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยของชาวตลาดรสชาติที่ยังคงเอกลักษณ์มาช้านาน จึงทำให้ร้านกาแฟโบราณคงคู่กับตลาดสามชุก มาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ได้เป็นที่รวบรวมของโบราณ และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ใครไปใครมาก็ต้องมีของติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน มาที่นี่วันเดียวอิ่มใจและที่สำคัญอิ่มท้องด้วยค่ะ การเดินทาง โดยรถยนต์ (ช่วงวันหยุดแนะนำให้ไปช่วงเช้าจะหาที่จอดง่ายกว่า) จากกรุงเทพฯ ใช้ทางด่วนปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ ลงทางด่วนที่ถนนแจ้งวัฒนะ จากนั้นให้ชิดขวาขึ้นสะพานข้ามแยกปากเกร็ด ขึ้นสู่สะพานพระราม 4 ลงสะพานเข้าเส้น 345 วิ่งไปซักระยะให้ขึ้นสะพานเพื่อ u-turn กลับ เพื่อเข้าทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) ซึ่งจะผ่านอ.บางปลาม้า ผ่านอ.เมืองสุพรรณบุรี ผ่านอ.ศรีประจันต์ จนเข้าสู่อ.สามชุก ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไฟแดง ข้ามสะพานแล้วชิดขวาไปนิดเดียว จะเห็นแยกเข้าตลาดสามชุกอยู่ขวามือ ทางเข้าเดียวกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เข้าไปประมาณ 500 เมตร ตัวตลาดอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก รวมระยะทางประมาณ 146 กิโลเมตร หรือ ประมาณ 2 ชั่วโมง ( จาก กทม.-เมืองสุพรรณฯ รวมระยะทาง 107 ก.ม. ) โดยรถตู้1. กรุงเทพฯ – ตลาดสามชุก : ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ – ตลิ่งชัน – บางใหญ่ – สุพรรณบุรี – สามชุกท่ารถกรุงเทพฯ : จอดข้างธนาคารกรุงไทย ตรงข้ามกองสลากฯ ถ.ราชดำเนิน เวลา 5.00 – 20.00 น. ทุกวันท่ารถสามชุก : จอดริมคลองชลประทาน ท้ายตลาดสามชุก เวลา 4.00 – 19.00 น. ทุกวัน ราคา 120 บาท ใช้เวลา 2 ชั่วโมง โทร.086 328 2791-2 2. กรุงเทพฯ – ตลาดสามชุก : ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ (อนุสาวรีย์ชัยฯ) – เมืองทอง – ปากเกร็ด – นพวงศ์ – ลาดบัวหลวง – สุพรรณบุรี – สามชุกท่ารถกรุงเทพฯ : จอดหน้าภัตตาคารพงหลี อนุสาวรีย์ชัยฝั่งห้างเซ็นเตอร์วัน เวลา 4.00 – 19.00 น. โทร.080 025 1511ท่ารถสามชุก : จอดริมคลองชลประทาน ท้ายตลาดสามชุก เวลา 5.00 – 20.00 น. ทุกวัน โทร. 088 881 0916ราคา 140 บาท ใช้เวลา 2 ชั่วโมง  โดยรถโดยสารประจำทางมีรถปรับอากาศ กรุงเทพ – ท่าช้าง (ไม่ใช่ด่านช้าง) ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน รถจะผ่านอ.สามชุก อาจจะเข้าไปส่งที่ท้ายตลาดบางครั้งถ้ามีผู้โดยสารลงเยอะ ถ้ามีผู้โดยสารน้อยจะส่งใกล้ๆกับตลาดต้องเดินเท้าเล็กน้อย

สามชุก เสน่ห์คนเสียงเหน่อ อ่านเพิ่มเติม

ปราสาทหินพนมรุ้ง อลังการศิลปะขอมในดินแดนสยาม

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาใหญ่” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีความสูงประมาณ 350 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ซึ่งได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น จากทางเข้าปราสาท จะเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสวรรค์ ถัดเข้ามาคือ สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท ปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมอยู่ด้านหน้า จุดเด่นของปราสาทประธาน คือ หน้าบันซึ่งสลักเป็นรูปศิวนาฏราช และทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ หน้าบันรูปศิวนาฏราช (พระศิวะทรงฟ้อนรำ) ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ (พระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราช)  ภายในปราสาทประธานเป็นห้องโถงเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญที่สุดของปราสาท คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น ในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี จะเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้ง และในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็จะตกส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน มีความเชื่อกันว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดผ่านประตูนี้เป็นปรากฏการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นการเสริมพลังชีวิตและความเป็นสิริมงคลของผู้ที่พบเห็น กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมา แล้วทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนทั้งหมดกลับไปก่อใหม่ที่เดิม ปราสาทหินพนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4466 6251-2 การเดินทางมายังปราสาทหินพนมรุ้ง : จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) ระยะทาง 50 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 24 ไปอีก 14 กิโลเมตร จนถึงบ้านตะโก จากนั้นเลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2177 ทางไปบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตรงไปอีก 12 กิโลเมตร ถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ระยะทางจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 63 กิโลเมตร

ปราสาทหินพนมรุ้ง อลังการศิลปะขอมในดินแดนสยาม อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top