มหาสารคาม ดินแดนที่อยู่กึ่งกลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถูกเรียกว่าเป็น “สะดือแห่งอีสาน” และยังได้รับฉายาว่าเป็น “ตักสิลานคร” หรือเมืองแห่งการศึกษานั้น จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ตามไปดูกันเลย.ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา มาถึงมหาสารคามแล้วก็ต้องไม่พลาดมาสักการะ “พระธาตุนาดูน” ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น พุทธมณฑลแห่งอีสาน ในอดีตที่ตั้งของอำเภอนาดูนคือ เมืองจัมปาศรี (หรือจำปาศรี) ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยทวารวดี เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีประวัติมายาวนาน การสร้างพระธาตุนาดูนมีที่มาจากการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ทำด้วยทองสำริด หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างพระธาตุขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในบริเวณที่ขุดพบสถูป โดยรูปทรงของพระธาตุนาดูนได้จำลองแบบมาจากสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวนั่นเอง ที่ตั้ง : ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามโทร. 043 797 021, 043 777 231พิกัด : https://goo.gl/maps/48PoY2y384U2 เดินเล่นบนสะพานไม้เก่าแก่ร้อยปี “สะพานไม้แกดำ” เป็นสะพานไม้ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทอดยาวข้ามบึงบัวจากฝั่งวัดดาวดึงษ์ไปยังหมู่บ้านหัวขัว หรือ บ้านหัวสะพาน (ขัว ภาษาอีสาน แปลว่า สะพาน บ้านหัวขัว ก็คือ บ้านหัวสะพาน นั่นเอง) จุดเริ่มต้นของสะพานแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ร่วมกันสร้างสะพานไม้เล็กๆ นี้ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นทางสัญจรไปมาระหว่างสองหมู่บ้านที่อยู่คนละฟากฝั่งของหนองแกดำ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งหนึ่งของจังหวัด ที่ตั้ง : ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคามโทร. 043 227 714 – 5 (ททท. สำนักงานขอนแก่น)พิกัด : https://goo.gl/maps/ak9pT9j3VUM2 ชม “สิมวัดโพธาราม” วัดโพธารามเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ไฮไลท์ที่ต้องชมก็คือ สิมโบราณที่มีอายุกว่าร้อยปี ทั้งภายในและภายนอกอาคารมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่า ฮูปแต้ม ที่ตั้ง : ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามโทร. 043 227 714 – 5 (ททท. สำนักงานขอนแก่น)พิกัด : https://goo.gl/maps/JuUkXGWfJgA2 ฮูปแต้มที่นี่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น วาดเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก และสินไซ เป็นต้น ซึ่งภาพวาดต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ตามเนื้อเรื่องแล้ว ก็ยังสะท้อนสภาพสังคมในอดีตของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ฯลฯ สีที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้า สีคราม สีขาว สีดินแดง และสีเขียว ชมหมอลำหุ่นกระติ๊บข้าวแบบคูลๆ ศิลปวัฒนธรรมแห่งภาคอีสาน ของกลุ่มละครเล็กๆ ที่ใช้ชื่อว่า “หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา” ที่เกิดขึ้นบริเวณโรงละครหมอลำหุ่นเพื่อชุมชน โฮมทองศรี บ้านหนองโนใต้ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่ตั้ง : ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม โทร. 093 083 5298พิกัด : https://goo.gl/maps/z6fRcNBw2qm จุดเริ่มต้นภูมิปัญญาสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นจาก ครูเซียง หัวหน้าคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา ที่นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานอย่างหมอลำและศิลปะการเชิดหุ่นมาประยุกต์ โดยนำเอาวัสดุพื้นบ้านที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันอย่างกระติ๊บข้าวเหนียว มาใช้ในการประดิษฐ์หุ่นเชิด โดยทำเป็นส่วนลำตัวและส่วนหัว แต่งตัวหุ่นด้วยชุดผ้าขาวม้าและผ้าพื้นเมือง ซึ่งการแสดงหมอลำหุ่นกระติ๊บข้าวนั้นจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านอีสาน ตำนาน และวรรณกรรมต่างๆ ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา การเชิดหุ่นกระติ๊บข้าวแต่ละตัวนั้น เป็นฝืมือของเด็กๆ ในชุมชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้และได้รับการฝึกฝนจากครูเซียง ปัจจุบันคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา จัดแสดงตามงานในจังหวัดมหาสารคามและทั่วประเทศ พร้อมสาธิตการประดิษฐ์หุ่นกระติ๊บข้าวอีกด้วย ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา “กาแฟขี้ช้าง หรือ กาแฟช้างทองคำ” หนึ่งเดียวในภาคอีสานตั้งอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่เป็นแหล่งผลิตกาแฟขี้ช้างคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ซึ่งนอกจากจะผลิตกาแฟขี้ช้างแล้ว ยังมีกิจกรรมให้เราสามารถมาทำร่วมกับช้างได้ด้วย ที่ตั้ง : 212 หมู่ 1 ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคามโทร. 093 686 9016, 043 706 572พิกัด : https://goo.gl/maps/jxjDi224jGT2 ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ คาเฟ่ช้างทองคำCafeChangthongkhum ผลิตกาแฟขี้ช้าง-ElephantCoffee หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่ากาแฟขี้ช้างเป็นยังไง ความจริงแล้วกาแฟขี้ช้างก็มีกรรมวิธีในการผลิตคล้ายๆ กาแฟขี้ชะมดนั่นแหละค่ะ คือ เริ่มจากการนำผลกาแฟสุกมาให้ช้างกิน ซึ่งทางศูนย์อนุรักษ์ฯ จะใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่สุกแดงจัดที่ปลอดสารเคมี เมื่อช้างขับถ่ายออกมาก็จะนำไปคัดแยกเฉพาะเมล็ดกาแฟออก และนำไปผ่านกระบวนการบ่มต่างๆ ร่วม 3 ปี จนออกมาเป็นเมล็ดกาแฟที่พร้อมสำหรับนำไปชงดื่มนั่นเอง กาแฟขี้ช้างมีเอกลักษณ์ที่เเตกต่างจากกาแฟทั่วไป คือ – มีกลิ่นหอมละมุน เนื่องจากกระบวนการบ่มและย่อยด้วยกระเพาะช้าง ทำให้มีกลิ่นหอมพิเศษ– มีรสขมลดลงและมีรสเปรี้ยวน้อยกว่ากาแฟปกติมากพอสมควร เมื่อเทียบกับในระดับการคั่วเดียวกัน – เมื่อดื่มแล้วจะมีความหวานติดอยู่ที่ปลายลิ้น อยากรู้ว่ารสชาติเป็นยังไง ต่างกับกาแฟขี้ชะมดมั้ย ต้องไปลองนะคะ ในอำเภอกันทรวิชัย มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านอยู่ 2 องค์ เรียกกันว่า “หลวงพ่อพระยืน” มีนักท่องเที่ยวสายบุญมากมายเดินทางมาสักการะกันอยู่เสมอ ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตอำเภอกันทรวิชัยเป็นเมืองขอม มีผู้ครองเมือง ชื่อ “ท้าวสิงโตดำ” มีอุปนิสัยใจคอโหดร้ายอำมหิต ทรมานบิดามารดาจนเสียชีวิตเพราะต้องการแย่งราชสมบัติ แต่เมื่อได้ขึ้นครองเมืองแล้วบ้านเมืองก็มีแต่ความวุ่นวาย ไม่มีความสงบ ท้าวสิงโตดำจึงให้โหรทำนายเพื่อหาวิธีแก้ไข โหรทำนายว่าต้องสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นการล้างบาป ท้าวสิงโตดำจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้น 2 องค์ เพื่อระลึกถึงบิดาและมารดา ซึ่งก็คือ พระพุทธมงคล และ พระพุทธมิ่งเมือง นั่นเอง ซ้ายพระพุทธมงคล ประดิษฐานอยู่ที่ลานโพธิ์ วัดพุทธมงคล เป็นพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี แกะสลักจากหินทราย เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอกันทรวิชัยมาแต่โบราณ เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ที่ตั้ง : หมู่ 2 ตําบลคันธารราษฎร์ อําเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามพิกัด : https://goo.gl/maps/d3hCVsuGaAB2 ขวาพระพุทธมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส เป็นพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี แกะสลักจากหินทราย เช่นเดียวกับพระพุทธมงคล เป็นที่นับถือในความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะมีผู้คนมากราบสักการะขอพรแล้ว ยังนิยมมาบนบานศาลกล่าวกันอีกด้วย