สถานที่ท่องเที่ยว

เที่ยวเตร็ดเตร่…ทะเลตรัง

เที่ยวเตร็ดเตร่…ทะเลตรัง…9 เกาะสวย น่านน้ำทะเลตรัง 1. เกาะไหง ไล่ลำดับจากทิศเหนือลงมา เกาะแรกในน่านน้ำทะเลตรังคือ เกาะไหง  จริงๆแล้ว เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้มีพื้นที่คาบเกี่ยวสองจังหวัดคือกระบี่และตรัง แต่ถ้าเดินทางจากตรังจะสะดวกกว่า เกาะไหงมีแหลมกวนอิมเป็นจุดดำน้ำที่น่าสนใจ ส่วนหน้าหาดเป็นจุดชมวิวหมู่เกาะน้อยใหญ่ กิจกรรมยอดฮิตคือการพายเรือแคนูเที่ยวหมู่เกาะใกล้เคียงหรือไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเกาะก็สนุกไปอีกแบบ 2. เกาะม้า เป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในน่านน้ำทะเลตรัง บริเวณนี้สามารถชมปะการังอ่อนมีทั้งสีแดง สีส้ม สีม่วง สีเหลือง สีชมพู และอีกมากมาย  เกาะม้า ไม่มีพื้นที่ชายหาด ลักษณะของเกาะดูเหมือนกองหินขนาดใหญ่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น 3. เกาะเชือก เกาะหินเล็ก ๆ ไม่มีพื้นที่ชายหาดเช่นกัน กระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยวจึงต้องใช้เชือกคอยพยุงตัวเวลาดำน้ำ จนกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะ แต่ก็เป็นแหล่งปะการังน้ำลึกและน้ำตื้นที่สมบูรณ์และสวยงาม โดยเฉพาะแนวกัลปังหาห้าสี รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลากชนิด 4. เกาะมุก หลายๆคนน่าจะรู้จักเกาะมุกเป็นอยากดี เพราะที่นี่มีสถานที่สุด unseen อย่างถ้ำมรกต ถ้ำน้ำขนาดเล็กที่พอน้ำลดจะสามารถนั่งเรือลอดเข้าไปได้ หรือบางทีก็ต้องลอยคอฝ่าความมืดเข้าไป เมื่อพ้นปากถ้ำจะพบกับห้องโถงใหญ่ที่มีพื้นเป็นน้ำทะเลสะท้อนแสงสีเขียวมรกต ล้อมรอบด้วยผนังผาสูงชัน และหาดขาวละเอียด 5 เกาะกระดาน สำหรับใครที่ชอบเที่ยวทะเลแบบนอนอาบแดดริมทะเลชิลล์ๆต้องที่นี่เลย  เกาะกระดานมีชายหาดที่มีทรายขาวละเอียด หน้าชายหาดกว้าง น้ำทะเลยังใสเหมือนกระจก จนสามารถมองเห็นแนวปะการังน้ำตื้นได้ด้วย 6 เกาะลิบง :  เกาะลิบงเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง และเนื่องจากรอบ ๆ เกาะเต็มไปด้วยหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ไฮไลต์ของการมาเยือนเกาะนี้จึงอยู่ที่โอกาสที่คุณจะได้พบกับปลาพะยูน สัตว์สงวนที่กำลังจะสูญพันธุ์ นอกจากนี้บนเกาะยังเป็นแหล่งรวมนกหลายชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ เช่น นกหัวโตขาดำ นกนางนวลแกลบเคราขาว ฯลฯ จึงได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง 7 เกาะเหลาเหลียง  เป็นเกาะที่มีภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ มีหน้าผาสูงชัน ทำให้ทัศนียภาพสวยสะดุดตาไปอีกแบบ 8 เกาะตะเกียง บนเกาะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ หน้าเกาะเป็นแนวชายหาดที่หันหน้าเข้าหาเกาะหลาวเหลียง ใต้ทะเลที่หน้าหาดน้ำค่อนข้างตื้นสามารถชมปะการังได้ง่าย มีปะการังหลายชนิด ไฮไลท์คือฝูงปลาหลากสีและหากโชคดีอาจจะได้เห็นกุ้งมังกรด้วย 9. เกาะสุกร เกาะหมูที่ไม่มีหมูแห่งนี้ พวกเราทีมงานเคยนำเสนอแบบเจาะลึกไปแล้ว  สำหรับใครที่ชอบเที่ยวแบบลุยๆ ชอบทำกิจกรรมแปลกๆใหม่ๆ ต้องที่นี่เลย ไม่ว่าจะเป็นการชมวิถีชีวิตชาวสวนยางพารา การทำ D.I.Y เพ้นท์ผ้าบาติก ชมสวนมะม่วงหิมพานต์และไร่แตงโมที่เป็นของขึ้นชื่อของเกาะสุกร ชมป่าชายเลนและนกน้ำนานาชนิด เราแนะนำการปั่นจักรยานเที่ยวบนเกาะ แต่ถ้าใครกลัวร้อนก็สามารถเช่ารถซาเล้งเที่ยวรอบเกาะก็ได้

เที่ยวเตร็ดเตร่…ทะเลตรัง อ่านเพิ่มเติม

นครนายก…วกไปกี่รอบ ก็ไม่เบื่อ

นครนายก..วกไปกี่รอบก็ไม่เบื่อ! เริ่มต้นที่แรกด้วยร้าน Montreux café and farm (มองเทรอส์ คาเฟ่ & ฟาร์ม) แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยล่ะ ฮ่าๆ มาจากชื่อเมืองตากอากาศริมทะเลสาบในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง การเดินทางใช้เส้นทางรังสิต – นครนายก ถึงคลอง 15 ให้กลับรถ จะมีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเพื่อไปยังร้าน หรือจะใช้ google maps ช่วยก็ได้เหมือนกันนะ มองเทรอส์ คาเฟ่ & ฟาร์ม จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนคาเฟ่ และส่วนของฟาร์ม ในส่วนของฟาร์มนั้นอยู่ทางด้านหลังของร้าน เดินผ่านบ่อน้ำพุไปนิดนึงก็ถึงแล้ว บรรยากาศจะออกแนวบ้านทุ่ง รายล้อมด้วยคลองเล็กๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาเป็นครอบครัว มีเด็กๆทำกิจกรรมต่างๆ พายเรือ ทำไข่เค็ม ส่วนผู้ปกครองก็คอยดูอยู่ข้างๆ อย่างใกล้ชิด เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมากจริงๆ ภายในฟาร์มจะมีกิจกรรมต่างๆให้ทำ เช่น การสาธิตทำไข่เค็มจากดินสอพอง เหมาะสำหรับพาเด็กๆมาเรียนรู้ภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบไทยๆ มีกิจกรรมให้พายเรือ จะเห็นผู้ปกครองพาเด็กๆ พายเรือสนุกสนานกันใหญ่เลย ข้างๆกันมีศาลา สามารถไปนั่งห้อยขา ให้อาหารปลา ถ่ายรูปชิคๆ เก๋ๆ ได้นะ มีมุมถ่ายรูปชิคๆ เก๋ๆ เพียบท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่ง เพลิดเพลินกันได้แบบยาวๆ พายเรือและให้อาหารปลาเสร็จแล้ว ใครจะไปให้อาหารเป็ด ไก่ ปลูกผักหรือลงมือดำนาด้วยก็ได้นะจ๊ะ ทำกิจกรรมข้างนอกกันจนเหนื่อย แวะกลับมาที่คาเฟ่ นั่งตากแอร์เย็นๆ สั่งข้าว สั่งน้ำมาเติมพลังซักหน่อย หน้าตาอาหารก็จะประมาณนี้ ผัดกระเพรารวมมิตร มักกะโรนีไก่ ข้าวคอหมูย่าง น้ำจิ้มแจ่ว ต่อด้วยเมนูเครื่องดื่ม ที่นี่มีให้เลือกหลากหลาย ทานอาหารอร่อยๆ จิบน้ำเย็นๆชื่นใจ มาต่อกันด้วยเบเกอรี่ ชา กาแฟยามบ่าย ช่างเป็นช่วงเวลาที่ดีมากจริงๆ มุมต่างๆของราน ก็สามารถเดินไปถ่ายรูปเก็บไว้ไปอวดเพื่อนได้ตามใจชอบเลย ที่ตั้งร้าน : ตำบลบึงศาล อำเภอองครักษ์ นครนายกโทรศัพท์ : 087 979 7341เปิดทำการ : อังคาร -อาทิตย์ เวลา 09:00–19:00 ปิดทุกวันจันทร์Facebook : https://www.facebook.com/Montreuxcafeandfarm/ ครึ่งวันกับที่นี่คุ้มค่าสุดๆ  ไปต่อกันที่ พ.ฟาร์ม ฟาร์มเมล่อนน่ารักๆในอำเภอบ้านนา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที จากมองเทรอส์ คาเฟ่ & ฟาร์ม ด้านหน้าเป็นคาเฟ่เล็กๆ บริการน้ำและขนมเมนูต่างๆที่ทำจากเมล่อน หรือผลไม้ชนิดอื่นๆจากฟาร์ม ด้านหลังจะเป็นพื้นที่ฟาร์ม มีโรงปลูกผักผลไม้หลายชนิด เช่น ฟักทอง แตงโม เมล่อน เป็นต้น โรงปลูกฟักทองลูกสีส้มน่ารัก โรงปลูกแตงโม…ต้องประคบประหงมกันนิดนึงเพื่อให้ผลผลิตออกมาดี มาถึงไฮไลท์ของฟาร์ม…เมล่อนลูกใหญ๊ใหญ่ ระหว่างเดินกลับจากโรงปลูกเมล่อน เจอทุ่งดอกหญ้าเล็กๆ แวะถ่ายภาพเพื่อความฟรุ้งฟริ้งซักเล็กน้อย เดินเที่ยวฟาร์มร้อนๆ มาดับกินขนมเย็นๆให้ชื่นใจที่คาเฟ่กันดีกว่า ที่นี่มีเมนูน่าทานหลายอย่าง เมนูแนะนำของร้านคือ Half Ice cream Melon เมล่อนรสชาติหวาน ส่วนไอศกรีมได้กลิ่นหอมของเมล่อน ซาลาเปาเมล่อน ข้างในเป็นเนื้อครีมผสมเมล่อน เมนูพิเศษรับหน้าร้อน บิงซูมะยงชิด เปรี้ยวหวานกลมกล่อม เย็นชื่นใจ ใครอยากซื้อเมล่อนสดๆกลับบ้าน ที่นี่ก็มีขายนะ มีกล่องใส่ให้อย่างสวยงาม นำไปเป็นของฝากได้เลย พ.ฟาร์ม เมล่อน เปิดให้บริการทุกวัน *ยกเว้น วันพุธ* เวลา 09.00 – 15.00 น. โทร. 083 543 1820แผนที่มาร้าน ตามลิ้งนี้ไปเลยค่ะ https://goo.gl/maps/Ahr54W5bsBr แวะไปเที่ยววัดจุฬาภรณ์วนาราม ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก จุดเช็คอินยอดนิยมแห่งใหม่ ได้ยินเสียงร่ำลือถึงบรรยากาศความสวยงามจึงต้องไปเยือนกันสักหน่อย ไฮไลท์ที่โดดเด่นของที่นี่คือซุ้มป่าไผ่ที่เรียงรายทั้งสองฝั่งทางเดินเข้า OMG! สวยมากกกก ร่มรื่นสุดๆ ถ่ายรูปได้เพลินๆ มุมนี้ก็ดี มุมนั้นก็ได้ บางครั้งอาจจะได้เห็นคู่รักมาถ่าย Pre Wedding ส่วนเราก็มาถ่ายแบบสวยๆโสดๆไปค่ะ ^^ เดินผ่านซุ้มต้นไผ่เข้าไปด้านในสุด จะเจอพระพุทธรูปให้เราได้สักการะกันด้วย ที่นี่มีลานจอดรถอยู่อีกฝั่งของวัด และมีร้านค้าของชาวบ้านคอยบริการน้ำดื่ม ขนม อยู่บริเวณทางเข้าวัด ภายในวัดมีพระอุโบสถที่กำลังก่อสร้างแต่สามารถเข้าไปสักการะและร่วมทำบุญสมทบทุนการสร้างโบสถ์ได้เลย บริเวณนี้คาดว่าจะเป็นกุฏิจำวัดของพระสงฆ์ อ่ะมุมนี้ได้…ยิ้มเข้าไว้ค่ะ เก๋ๆ 🙂 ก่อนออกจากวัด อย่าลืมสักการะพระพุทธรูปเพื่อเป็นสิริมงคล เดินทางต่อกันเลยยย.. ที่สุดท้ายก่อนกลับ พวกเรามาแวะกันที่สะพานทุ่งนามุ้ย ตำบลสาริกา อำเภอเมือง บรรยากาศแบบบ้านทุ่ง น่าหลงไหลจริงๆ สินค้าที่่นี่ส่วนใหญ่ จะเป็นผลผลิตของชาวบ้านละแวกนั้น อุดหนุน ซื้อไปฝากเพื่อนๆได้นะ สะพานทุ่งนามุ้ยเป็นสะพานไม้ไผ่รูปตัว s โค้งไปมา มีความยาวประมาณ 150 เมตร ทอดยาวผ่านทุ่งนาประมาณ 2 ไร่ ที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่เช็คอินแห่งใหม่ของนครนายกที่ไม่ควรพลาด นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟนั่งดื่มชิลล์ๆกลางทุ่งนาได้อีกด้วย บรรยากาศทุ่งนาหน้าร้อน ปิดท้ายด้วยทุ่งหญ้าสีวินเทจสวยๆตัดกับแสงพระอาทิตย์ตกอยู่ใกล้ๆกับทุ่งนามุ้ย นครนายก ไม่ได้มีดีแค่น้ำตกนะเอออ ยังไงถ้าเพื่อนๆมีทริปไหนแนะนำ หรืออยากให้พวกเราไปรีวิวมาให้ดู ก็สามารถ comment ไว้ใต้โพสได้นะ คราวหน้าพวกเราจะตามไปเที่ยวถึงที่เลยจ้า

นครนายก…วกไปกี่รอบ ก็ไม่เบื่อ อ่านเพิ่มเติม

เยือนถิ่นฝั่งธน เที่ยวชมพระราชวังเดิม

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือพระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญด้วย ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นแทนหลังเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศาลศีรษะปลาวาฬสร้างขึ้นบนฐานของศาลหลังเดิมที่ขุดพบขณะที่ทำการขุดสำรวจทางโบราณคดี ส่วนกระดูกศีรษะปลาวาฬ ค้นพบโดยบังเอิญที่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท้องพระโรงกรุงธนบุรีอาคารท้องพระโรงสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2311 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารนี้มีรูปทรงแบบไทยประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง หรือวินิจฉัย ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญพระที่นั่งองค์ทิศใต้ เรียกว่าพระที่นั่งขวาง เป็นส่วนพระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันกองทัพเรือได้ใช้โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เป็นสถานที่ที่จัดงาน และประกอบพิธีสำคัญเป็นประจำ ส่วนพระที่นั่งขวางได้ใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญและเป็นห้องประชุมในบางโอกาส ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ซ่อมแซม พร้อมกับการสร้างตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจทางด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนเช่นเดียวกับตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก แต่ส่วนหลังคาของตำหนักนี้มีการเขียนสีเป็นลวดลายแบบจีนด้วย ภายในจัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านการทำนุบำรุงบ้านเมืองในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำหนักองค์นี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ แต่หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระบวรราชวัง อาคารหลังนี้จึงได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือเรียกว่า “ตึกแบบอเมริกัน” ถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูงที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกหลังแรกๆที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรือนเขียวเดิมเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นโรงเรียนนายเรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ป้อมวิไชยประสิทธิ์เดิมชื่อ “ป้อมวิไชยเยนทร์ ” หรือ “ป้อมบางกอก” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ถ้าใครดูละคร บุพเพสันนิวาส จะรู้ว่าในระหว่างสร้างป้อมมีการเกณฑ์ทหาร ไพร่พล และสึกพระสงฆ์ออกมาสร้างป้อม  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”  ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

เยือนถิ่นฝั่งธน เที่ยวชมพระราชวังเดิม อ่านเพิ่มเติม

แลหลัง วังงาม พระราชวังรัตนรังสรรค์

จากพลับพลาที่ประทับรับเสด็จ . . . เลื่อนระดับชั้นกลายมาเป็น “พระราชวังรัตนรังสรรค์” ได้อย่างไร . . . ร่วมย้อนอดีต แลหลัง ฟังเรื่องเล่าถึงที่มาจากปู่ย่าแต่ก่อนเก่า เพื่อซาบซึ้ง เข้าใจ และภูมิใจในรากเหง้าของประวัติศาสตร์ชาติไทยไปกับเรา “เพื่อนร่วมทาง” เรื่องเล่าของพระราชวังรัตนรังสรรค์นี้ ต้องย้อนสืบไปถึงคราวเสด็จประพาสเมืองระนอง ซึ่งถือเป็นหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในสมัย ร.ศ. 109 อันนับเป็นมหามงคลแก่ชาวเมืองระนองอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเสด็จมาเยือนเมืองระนองด้วยพระองค์เอง โดยในครานั้น พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จไว้บนเนินควนอัน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้วยไม้แก่นและเครื่องก่ออย่างแข็งแรงสวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับตรัสชมเชยว่า “ทำงดงามมั่นคง สมควรจะเป็นวัง ยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลา” ด้วยความละเอียดรอบคอบของงานสร้าง และความสวยงามตามที่ได้ทรงบรรยาย จึงพระราชทานนามว่า “พระราชวังรัตนรังสรรค์” หมายถึง พระยารัตนเศรษฐีเป็นผู้สร้าง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่เมืองระนองและสกุลของพระยารัตนเศรษฐี และพระราชทานนามเนินเขาที่ตั้งว่า “นิเวศน์คีรี” ก่อนจะทรงเลื่อนการประทับแรมต่อไปอีก รวมทั้งสิ้นถึง 3 คืน คือในวันที่ 23-25 เมษายน 2433 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสเมืองระนองเป็นระยะเวลานานๆ ครั้ง เกรงว่าทิ้งวังไว้เปล่าๆ ก็จะชำรุดทรุดโทรมเสีย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า ให้ใช้พระราชวังนั้นเป็นศาลารัฐบาลและทำพิธีสำหรับบ้านเมือง หากมีการเสด็จประพาสเมื่อใดจึงให้จัดเป็นที่ประทับ ซึ่งนอกจากพระองค์แล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกัน เมื่อองค์พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลง ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น ได้ทำการปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ.2507 ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองในขณะนั้น ได้รื้อถอนองค์พระที่นั่งเพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังปัจจุบัน พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 จังหวัดระนองได้มีโครงการก่อสร้างพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลองขึ้น บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิม ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ตะเคียนทองโครงสร้างคอนกรีตสูงสามชั้น ชั้นล่างโล่ง ชั้นที่สองเป็นรูปเหลี่ยมแปดด้าน ปัจจุบันประดิษฐานโต๊ะทรงพระอักษรพร้อมพระเก้าอี้ทำด้วยหนังแท้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระที่นั่งวิมานเมฆพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และพระเก้าอี้ทรงพักผ่อนแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกกุหลาบ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงใช้เป็นที่ประทับและบรรทม ส่วนหลังคาชั้นที่สามทรงปั้นหยา มีดั้งประดับไม้ลวดลายฉลุอย่างสวยงาม นอกจากนี้ก็ยังมีหอแปดเหลี่ยมสูง 17 เมตร ที่มีความคล้ายคลึงกับหอวิฑูรทัศนา ที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน คือหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่าดูงดงามแปลกตา แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว หลังจากเดินชมทิวทัศน์โดยรอบ พร้อมฟังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาพระราชวังเล่าเรื่องราวที่สืบทอดกันมาโดยละเอียดแล้ว “เพื่อนร่วมทาง” ขอแนะนำให้ท่านหาโอกาสเดินขึ้นบันไดเวียนภายในไปยังชั้นสามซึ่งถือเป็นชั้นบนสุด และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณทะเลอันดามันได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองระนองอีกด้วย เมื่อมองออกมานอกหน้าต่างเพื่อรับชมทัศนียภาพตัวเมืองระนองในมุมกว้าง ภาพมุมมองที่ท่านได้เห็นจากสายตาในวันนี้ อาจทับซ้อนกับภาพมุมเมืองในอดีตที่ได้ฟังเรื่องราวเก่าก่อน ทาบทาด้วยแสงอาทิตย์อัสดง จนก่อให้เกิดภาพจำที่งดงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ต่างออกไปก็เป็นได้

แลหลัง วังงาม พระราชวังรัตนรังสรรค์ อ่านเพิ่มเติม

ผจญภัยไปกับ ATV ที่..นครนายก

ผจญภัยไปกับ ATV ที่..นครนายก ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นพื้นที่โดยรอบเขาใหญ่ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีจุดชมวิวสวยๆหลายจุด ผ่านหมู่บ้าน ฝ่าลำน้ำ ลุยโคลน ลงคลอง ข้ามฝาย เข้าสวน ลงทุ่งนา ลุยไร่ เรียกว่าเป็นเส้นทางขับ ATV ที่ครบทุกรสชาติของการท่องเที่ยวแบบผจญภัย เส้นทางที่ใช้ขับรถ ATV เป็นพื้นที่โดยรอบบริเวณตำบลสาริกา ริมเขื่อนขุนด่านปราการชล รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร แต่กว่าจะขับรถ ATV ได้โดยรอบใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะเส้นทางค่อนข้างโหด ต้องใช้ทั้งความแข็งแรงของร่างกายและความกล้าเป็นอย่างมาก ตลอดเส้นทางก็ได้พบกับความตื่นเต้นท้าทายความสามารถปนไปกับความเสียวอยู่ตลอด หลังจากขับรถ ATV เที่ยวผจญภัยกันแล้ว ก็สามารถแวะไปเที่ยวกันต่อที่ น้ำตกสาริกาบนป่าเขาใหญ่ น้ำตกนางรอง เขื่อนขุนด่านปราการชล ไหว้ขอพรหลวงพ่อปากแดงศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพราหมณี ขอพรเทพเจ้าแห่งความสำเร็จที่อุทยานพระพิฆเนศ ผจญภัยไปกับสายน้ำกับกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำนครนายก เที่ยวแบบสนุกสนานทั้งวันแน่นอน ใครสนใจกิจกรรมเที่ยวผจญภัยแบบนี้ไปได้ที่ ร้าน RATV ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ให้บริการทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็น สอบถามข้อมูลได้ที่โทร 081-665-1081, 085-949-7074, 089-672-7096

ผจญภัยไปกับ ATV ที่..นครนายก อ่านเพิ่มเติม

ไปแอ่วบ้านผาบ่อง ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.แม่ฮ่องสอน

ไปแอ่วบ้านผาบ่อง ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผาบ่อง ตั้งอยู่ที่ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวไทยใหญ่ และ กะเหรี่ยงขาว ซึ่งสามารถใช้ชีวิตบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมร่วมกันอย่างมีความสุข ชุมชนบ้านผาบ่องเป็นชุมชนเข้มแข็งนำโดยกำนันอมร ศรีตระกูลและชาวบ้าน ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในชุมชนมีแปลงปลูกข้าวสาธิต สามารถเดินเที่ยวชมได้โดยสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวสู่กลางทุ่งนา ชื่อ”สะพานข้าว 9 เพื่อสุข” เรียนรู้พันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพ เรียนรู้วิถีทำนา ปลูกข้าวเพื่อสุขภาพและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ และถ้าเดินทางมาเที่ยวช่วงต้นเดือนเมษายน จะได้ชมประเพณีปอยส่างลองอันเก่าแก่ของชุมชนอีกด้วย ชาวบ้านสาธิตการสีข้าว ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวเองในชุมชน ถ้าอยากพักค้างคืนท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาสีเขียว สดชื่นแบบนี้ ชุมชนมีที่พักและร้านอาหารรองรับ ลักษณะแบบโฮมสเตย์ในชื่อ พิชชาพร เฮ้าส์ สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 087 181 5363 ร้านอาหารที่ให้บริการในชุมชน บรรยากาศภายในร้านอาหาร มีการสาธิตการทำน้ำพริกลาบผาบ่อง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน สามารถน้ำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง รับรองรสชาติแซ่บถึงใจแน่นอน ทำเสร็จแล้ว นำมาแพ็คใส่ถุงวางขายที่ตลาดและส่งออกตามออเดอร์ น้ำพริกบ้านผาบ่อง น้ำพริกบ้านผาบ่อง ในช่วงวันหยุดยาว วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือในช่วงเทศกาลประเพณีของชุมชน ชาวบ้านจะรวมตัวกันมาขายของที่ตลาดนัดชุมชน อยู่ใกล้ๆกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นอกจากของกินของฝากที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังมีนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ของชุมชน การแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆด้วย มีศูนย์เรียนรู้และบริการนักท่องเที่ยวประจำชุมชนบ้านผาบ่อง นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีตลาดสดเล็กๆ ชาวบ้านนิยมนำของป่ามาขายในราคากันเอง คึกคักในช่วงเช้าและตอนเย็นๆ มีของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ พืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกเองนำมาวางขาย ของฝากขึ้นชื่ออีกหนึ่งอย่างของชุมชนบ้านผาบ่องคือ ถั่วคั่วสายฟ้า มาถึงต้องลองชิม สามารถนำไปประกอบอาหารต่างๆได้มากมาย ใครแวะเวียนมาแถวนี้ อย่าลืมซื้อไปฝากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนละถุงสองถุงนะเจ้า มีร้านกาแฟ & ร้านอาหารชื่อว่า “กุ๊บลายข่าน” เป็นร้านขึ้นชื่อของชุมชน สามารถแวะมาพักจิบชายามบ่ายและเมนูอาหารอื่นๆมากมมาย บริหารจัดการโดยชาวบ้านในชุมชน บรรยากาศภายในร้าน นั่งจิบชายามบ่าย..ช่างสบาย(ใจ)จริงๆ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนบ้านผาบ่อง คือ บ่อน้ำแร่ผาบ่อง บ่อน้ำแร่มีอุณหภูมิประมาณ 60-70 องศา สามารถไปแช่เท้าและมีห้องอาบน้ำบริการนักท่องเที่ยวด้วย สำหรับใครที่สนใจมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านผาบ่อง แนะนำให้เช่าจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ชาวบ้าน สามารถปั่น/ขับท่องเที่ยวภายในชุมชนได้โดยรอบตามแผนที่ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งสามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปเที่ยวในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนหรือใกล้เคียงต่อได้เนื่องจากไม่ไกลกันมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายอมร ศรีตระกูล กำนันบ้านผาบ่อง โทร.093 134 9181

ไปแอ่วบ้านผาบ่อง ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.แม่ฮ่องสอน อ่านเพิ่มเติม

สงกรานต์ สาดความอร่อย @The Grill House Khao Yai

ร้าน The Grill House Khao Yai ตั้งอยู่บนถนนธนะรัชต์ กิโลเมตรที่ 13-14 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง ตามพิกัดนี้ไปได้เลย : https://goo.gl/maps/cZM17Sx1LUA2 บรรยากาศภายในร้านเป็นสไตล์ยุโรป แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ มีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปเยอะแยะ อาหารของทางร้านก็ต้องไม่พ้นอาหารยุโรป ไม่ว่าจะเป็น สเต็ก สปาเก็ตตี้ พิซซ่า สลัดต่างๆ สเต็กซี่โครงหมู เมนูเด็ดของทางร้าน น้ำซอสอร่อยมากๆ มีกลิ่นสมุนไพรและเผ็ดเล็กน้อย ช่วยเพิ่มรสชาติได้ดี หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์อบกระเทียม หอยตัวอวบ เนื้อแน่น ทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด กุ้งแม่น้ำเผาก็มีนะจ๊ะ ภาพจาก : Facebook The grill house Khao Yai นอกจากจะเป็นร้านอาหารแล้ว ยังมีห้องพักบริการด้วย หรือถ้ามาหลายคน สามารถจองห้องพักเป็นหลังได้เลย จะจัดปาร์ตี้ จัดงานเลี้ยง เจ้าของร้านยินดีให้บริการคะ โทรสอบถามได้ที่ 086 318 8098 ภาพจาก Facebook The grill house Khao Yai

สงกรานต์ สาดความอร่อย @The Grill House Khao Yai อ่านเพิ่มเติม

“แห่นางดาน” ที่นี่ … นครศรีธรรมราช

ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ นับเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (หรือเดือนบุษยมาส) ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู และเป็นวันรอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย คำว่านางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือแม่พระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า เชื่อกันว่าประเพณีโล้ชิงช้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ นับตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช จนเมื่อพราหมณ์ได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา จึงได้นำเรื่องราวการโล้ชิงช้าไปเผยแพร่ พิธีโล้ชิงช้าจึงปฏิบัติสืบต่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งได้ยกเลิกไปในรัชกาลที่ 7 ตำนานหรือความเชื่อเกี่ยวกับการโล้ชิงช้านั้นกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพรหมได้สร้างโลกแล้ว พระอิศวรต้องการทดสอบความแข็งแรงของโลก โดยเปรียบเสาชิงช้าทั้งสองข้างกับยอดเขาไกรลาศและเขาพระสุเมรุ ถ้าโล้ชิงช้าเสร็จเรียบร้อยแล้วเสาไม่มั่นคงจะต้องทำเสาใหม่ แต่ถ้าเสาแข็งแรงไม่หักโค่นเป็นที่พอใจ พระอิศวรจะประทานพรให้ผู้มาเข้าเฝ้า และบรรดานาลิวัน ซึ่งล้วนเป็นชายหนุ่ม ออกมาร่ายรำโดยใช้เขาสัตว์วักน้ำเทพมนตร์ขึ้นจากขันสาคร แล้วปล่อยให้สายน้ำกระจายพร่างพรมไปยังผู้ที่มาเฝ้าชมให้ชุ่มฉ่ำกันถ้วนหน้า เรียกการร่ายรำในพิธีนี้ว่า “รำเสน่ง” ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี โดยมีขบวนแห่นางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร การแสดงแสง สี เสียง ตำนานนางดานและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง การจำลองพิธีแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทย กำหนดการจัดงานวันที่ 11 เมษายน 2561 พิธีถวายเครื่องสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช วันที่ 12 เมษายน 2561 พิธีบวงสรวงเทวาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แห่ง ณ สนามหน้าเมือง วันที่ 13 เมษายน 2561 งานวันมหาสงกรานต์ ณ สนามหน้าเมือง และสวนศรีธรรมาโศกราช.วันที่ 14 เมษายน 2561 พิธีแห่นางดาน ชมการแสดง แสงเสียงสื่อผสม อลังการนางดานเมืองนครฯ “ที่สำคัญ…นักท่องเที่ยวยังได้อิ่มอร่อยกับมหกรรมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองได้ทุกวันที่มีการจัดงานอีกด้วย”

“แห่นางดาน” ที่นี่ … นครศรีธรรมราช อ่านเพิ่มเติม

นุ่งโจง ห่มสไบ เล่นน้ำแบบไทยๆ ณ สิงห์บุรี

นุ่งโจง ห่มสไบ เล่นน้ำแบบไทยๆ ณ สิงห์บุรี  วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง อยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน วัดโพธิ์เก้าต้นเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านบางระจันใช้เป็นที่ตั้งมั่นในการสู้รบกับข้าศึก และมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ เกจิอาจารย์ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบางระจันตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน วันที่ 14 -15 เมษายน 2561 งานสงกรานต์ ณ ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน กำหนดการมีดังนี้วันที่ 14 เช้า แข่งกีฬาพื้นบ้าน บ่าย ริ้วขบวนอัญเชิญ หลวงพ่อโตโคตะมะ หลวงปู่ธรรมโชติ และน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ ผ่านอุโมงค์น้ำเข้าสู่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน  วันที่ 15 กิจกรรมปิดท้าย แข่งขันกินขนมหวานหรรษา และ ประกวดหลานปู่หลานย่า ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน อยู่ภายในพื้นที่วัดโพธิ์เก้าต้น ในบรรยากาศจำลองของค่ายบางระจัน พ่อค้าแม่ค้าจะแต่งกายด้วยชุดไทยแบบชาวบ้านบางระจัน ใช้ถ้อยคำลงท้ายในการเจรจาขายของกับลูกค้าว่า “เจ้าค่ะ” และ “ขอรับ”  ภายในตลาดจำหน่ายอาหารไทยโบราณทั้งอาหารคาวและขนมหวาน ที่นี่มีชุดไทยให้เช่าใส่เข้ากับบรรยากาศ นอกจากนี้ยังมีเยาวชนมาบรรเลงดนตรีไทยเพราะๆ ให้ได้ฟังกันเพลิน ๆ ขณะเดินชมตลาดอีกด้วย  เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ซึ่งต่อเนื่องกับวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.00 น. สงกรานต์ทั้งทีก็จะมีความสวยงามของดอกไม้เบาๆ เล่นน้ำกันที่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจันกันนะคะ ก่อนจะไปร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ เรามาเข้าวัดทำบุญกันก่อนดีกว่าค่ะ เริ่มด้วยการสักการะพระปางไสยาสน์ของสิงห์บุรี ณ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร อำเภอเมืองสิงห์บุรี .พระนอนจักรสีห์ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พุทธลักษณะแบบสุโขทัยงดงามมาก องค์พระมีความยาวประมาณ 47 เมตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสิงห์บุรี.ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการจัดงานประเพณีปารุปะนัง กวนข้าวทิพย์ ตีข้าวบิณฑ์ ห่มผ้าพระธาตุ ณ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารนี้ด้วย  วันที่ 13 พิธีกวนข้าวทิพย์ และสรงน้ำพระ วันที่ 14 พิธีตีข้าวบิณฑ์ หรือพิธีถวายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระพุทธไสยาสน์ วันที่ 15 พิธีปารุปะนัง หรือการสรงน้ำพระพุทธไสยาสน์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพื้นบ้าน “ตำนานพระพุทธไสยาสน์” บริเวณลานวัฒนธรรม ช่วงสงกรานต์ มาสิงห์บุรีไหว้พระขอพรเป็นสิริมงคล และร่วมงานประเพณีอัตลักษณ์ของชุมชนที่สืบทอดกันมา สอบถามข้อมูล โทร. 036 507 208, 036 510 927 อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เราจะไม่พลาดกันก็คือ ร่วมพิธีห่มผ้าพระปรางค์ ณ วัดหน้าพระธาตุ จัดขึ้นในวันที่14 เมษายน 2561

นุ่งโจง ห่มสไบ เล่นน้ำแบบไทยๆ ณ สิงห์บุรี อ่านเพิ่มเติม

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ สีสันสงกรานต์แห่งเมืองเลย

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ บ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว จัดขึ้นที่วัดศรีโพธิ์ชัย จะแห่ต้นดอกไม้ในวันที่ 14 เมษายนและในทุกวันพระตลอดเดือนเมษายนของทุกปี ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา จะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัดคือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง 3 เมตร สูง 15 เมตร การทำต้นดอกไม้ต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน การทำต้นดอกไม้จะทำตั้งแต่เช้า ชาวบ้านผู้ชายจะตัดไม้ไผ่มาผูกเป็นโครง อุปกรณ์ที่ใช้ยึดเป็นวัสดุธรรมชาติทั้งหมด ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com หลังจากขึ้นโครงเรียบร้อย ผู้หญิงจะทำหน้าที่จัดหาดอกไม้จากต้นไม้ในหมู่บ้านมามัดรวมเป็นช่อๆ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันนำประดับตัวต้นดอกไม้ ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com ระหว่างที่ช่วยกันประดับดอกไม้ ก็เล่นสาดน้ำไปด้วย เป็นการสร้างสีสันและคลายร้อนไปด้วย ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com หลังจากประดับดอกไม้เสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านก็ช่วยกันแห่เข้าไปในวัดศรีโพธิ์ชัย ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com ผู้มาร่วมงานเริ่มมากราบไหว้และจุดเทียนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com การแห่จะเริ่มในช่วงเวลา 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม โดยแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ บูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การแห่ผู้หามต้นดอกไม้ต้องโยกประกอบจังหวะให้ต้นไม้หมุนซ้าย ขวา ตามจังหวะเสียงดนตรีที่บรรเลงด้วย ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.com ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ บ้านอาฮี อำเภอท่าลี่ การแห่ต้นดอกไม้ของชาวบ้านที่ตำบลอาฮี จะจัดขึ้นที่วัดเมืองตูมธรรมารามและวัดศิริมงคล ในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี โดยจัดแห่เฉพาะช่วงกลางวัน ซึ่งต้นดอกไม้จะมีขนาดเล็กกว่าของบ้านแสงภา ขอบคุณภาพจาก อพท. แม้ต้นดอกไม้จะไม่ใหญ่มาก แต่ก็ประดับดอกไม้เป็นพุ่มอย่างสวยงาม และมีความน่าสนใจตรงที่จะแห่ต้นดอกไม้จากวัดเมืองตูมไปยังวัดศิริมงคล โดยเริ่มตั้งขบวนกันประมาณบ่ายโมง ผู้ร่วมขบวนแห่และผู้ที่ทำหน้าที่แบกต้นดอกไม้จะร้องรำทำเพลง และโยกตัวไปตามจังหวะดนตรีพื้นบ้านกันอย่างสนุกสนาน เมื่อขบวนแห่ผ่านเข้าไปยังชุมชน ชาวบ้านจะออกมาเล่นสาดน้ำ เป็นการเพิ่มความชุ่มฉ่ำ ดับร้อนให้กับผู้ร่วมขบวนแห่ ขอบคุณภาพจาก yaipearn.blogspot.comผู้แต่

ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ สีสันสงกรานต์แห่งเมืองเลย อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top