ชุมชนบ้านบาตร
บ้านบาตรเป็นชุมชนตีบาตรที่มีชื่อเสียงมากในอดีต ใครต้องการซื้อหาบาตรถวายพระสงฆ์ หรือใช้ในงานบวชก็ต้องมาที่บ้านบาตร จนเมื่อการผลิตบาตรแบบปั๊มแพร่หลาย และมีราคาถูกกว่าบาตรแบบตีด้วยมือ จึงทำให้บาตรแบบตีด้วยมือขายได้น้อยลง ช่างตีบาตรในชุมชนจึงทะยอยเลิกตีบาตรกันไป เหลือเพียงไม่กี่ครอบครัว ก่อนจะกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ ปัจจุบันมีช่างอยู่ประมาณ 30 คนแล้ว ชุมชนบ้านบาตรไม่เพียงสืบสานการตีบาตรด้วยมือ แต่ยังพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้วย ทั้งในเรื่องความเป็นมา และขั้นตอนการผลิต นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ชุมชนที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่มีน้อยคนมากที่รู้จัก บาตรของชุมชนบ้านบาตร เป็นบาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย คือ เป็นบาตรบุหรือบาตรที่ทำด้วยมือ และประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้น ซึ่งเหตุที่ต้องเป็น 8 ก็เพราะบาตรเป็นหนึ่งในอัฐบริขาร 8 ของพระภิกษุ แต่เดิมนั้น พระวินัยบัญญัติว่าวัสดุที่นำมาทำบาตรมี 2 ชนิดเท่านั้น คือ ดินเผา และเหล็กรมดำ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงมีการอนุโลมให้ใช้สแตนเลสได้ เพราะดูแลทำความสะอาดง่าย แอดได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับช่างทำบาตร คุณลุงคุณป้าใจดีพร้อมให้ความรู้เรื่องบาตรแบบจัดเต็มเลยค่ะ หากใครมีโอกาส เข้าไปเที่ยวชมกันเยอะ ๆ นะคะ ขั้นตอนการทำบาตรมีทั้งหมด 8 ขั้นตอน คือ 1 การทำขอบบาตร 2 การประกอบกง หรือทำโครงของบาตร 3 การเชื่อมบาตร 4 การตีตะเข็บบาตร 5 การลายบาตร 6 การตีเม็ดให้เรียบ 7 การตะไบบาตร 8 การระบมบาตรหรือการสุม เพื่อไม่ให้บาตรเป็นสนิม ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญ เรียกว่ามากันหมดหมู่บ้านละค่ะ ทั้งช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างเชื่อม ฯลฯ แอดบอกเลยว่ากว่าจะได้บาตรสักใบต้องใช้ความอดทน หัวใจ ความเชื่อและความศรัทธามาก ๆ และปัจจุบันนี้ นับได้ว่ามีที่นี่ที่เดียวที่ยังคงทำบาตรแฮนด์เมด ซึ่งเมื่อเทียบกับบาตรปั๊ม บาตรตีด้วยมือนั้นทนทานมากกว่า ใช้ได้นานหลายสิบปี และที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ ตอนเคาะจะมีเสียงกังวานใสกิ๊งเหมือนเสียงระฆังเลยค่ะ คุณลุงคุณป้าบอกแอดว่าที่นี่ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาทั้งทีไปไหว้ขอพรกันสักหน่อย “ศาลพ่อปู่” เป็นที่เคารพและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านบาตร .การเดินทาง– MRT ลงสถานีสามยอด จากนั้นเดินต่อไปยังถนนบริพัตร ประมาณ 800 เมตรก็จะถึงชุมชนบ้านบาตร– เรือ โดยสารเรือคลองแสนแสบลงที่ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ จากนั้นเดินต่อไปยังถนนบริพัตร ประมาณ 600 เมตร– รถประจำทาง สาย 37, 46, 508 ในบริเวณศาลพ่อปู่ เราจะพบสิ่งสักการะที่ไม่คุ้นตาอยู่ด้านข้าง เป็นไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เตาสูบ” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเผาบาตรในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้เตาสูบแล้ว ชาวบ้านบาตรถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีครูบาอาจารย์ต้องให้ความสำคัญและเคารพ ใครชมการทำบาตรแล้วก็อย่าลืมเข้ามากราบไหว้กันนะคะ.กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญา ถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ