ระนอง

ระนอง

แลหลัง วังงาม พระราชวังรัตนรังสรรค์

จากพลับพลาที่ประทับรับเสด็จ . . . เลื่อนระดับชั้นกลายมาเป็น “พระราชวังรัตนรังสรรค์” ได้อย่างไร . . . ร่วมย้อนอดีต แลหลัง ฟังเรื่องเล่าถึงที่มาจากปู่ย่าแต่ก่อนเก่า เพื่อซาบซึ้ง เข้าใจ และภูมิใจในรากเหง้าของประวัติศาสตร์ชาติไทยไปกับเรา “เพื่อนร่วมทาง” เรื่องเล่าของพระราชวังรัตนรังสรรค์นี้ ต้องย้อนสืบไปถึงคราวเสด็จประพาสเมืองระนอง ซึ่งถือเป็นหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในสมัย ร.ศ. 109 อันนับเป็นมหามงคลแก่ชาวเมืองระนองอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเสด็จมาเยือนเมืองระนองด้วยพระองค์เอง โดยในครานั้น พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จไว้บนเนินควนอัน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้วยไม้แก่นและเครื่องก่ออย่างแข็งแรงสวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับตรัสชมเชยว่า “ทำงดงามมั่นคง สมควรจะเป็นวัง ยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลา” ด้วยความละเอียดรอบคอบของงานสร้าง และความสวยงามตามที่ได้ทรงบรรยาย จึงพระราชทานนามว่า “พระราชวังรัตนรังสรรค์” หมายถึง พระยารัตนเศรษฐีเป็นผู้สร้าง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่เมืองระนองและสกุลของพระยารัตนเศรษฐี และพระราชทานนามเนินเขาที่ตั้งว่า “นิเวศน์คีรี” ก่อนจะทรงเลื่อนการประทับแรมต่อไปอีก รวมทั้งสิ้นถึง 3 คืน คือในวันที่ 23-25 เมษายน 2433 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสเมืองระนองเป็นระยะเวลานานๆ ครั้ง เกรงว่าทิ้งวังไว้เปล่าๆ ก็จะชำรุดทรุดโทรมเสีย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า ให้ใช้พระราชวังนั้นเป็นศาลารัฐบาลและทำพิธีสำหรับบ้านเมือง หากมีการเสด็จประพาสเมื่อใดจึงให้จัดเป็นที่ประทับ ซึ่งนอกจากพระองค์แล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกัน เมื่อองค์พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลง ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น ได้ทำการปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ.2507 ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองในขณะนั้น ได้รื้อถอนองค์พระที่นั่งเพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังปัจจุบัน พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 จังหวัดระนองได้มีโครงการก่อสร้างพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลองขึ้น บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิม ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ตะเคียนทองโครงสร้างคอนกรีตสูงสามชั้น ชั้นล่างโล่ง ชั้นที่สองเป็นรูปเหลี่ยมแปดด้าน ปัจจุบันประดิษฐานโต๊ะทรงพระอักษรพร้อมพระเก้าอี้ทำด้วยหนังแท้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระที่นั่งวิมานเมฆพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และพระเก้าอี้ทรงพักผ่อนแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกกุหลาบ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงใช้เป็นที่ประทับและบรรทม ส่วนหลังคาชั้นที่สามทรงปั้นหยา มีดั้งประดับไม้ลวดลายฉลุอย่างสวยงาม นอกจากนี้ก็ยังมีหอแปดเหลี่ยมสูง 17 เมตร ที่มีความคล้ายคลึงกับหอวิฑูรทัศนา ที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน คือหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่าดูงดงามแปลกตา แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว หลังจากเดินชมทิวทัศน์โดยรอบ พร้อมฟังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาพระราชวังเล่าเรื่องราวที่สืบทอดกันมาโดยละเอียดแล้ว “เพื่อนร่วมทาง” ขอแนะนำให้ท่านหาโอกาสเดินขึ้นบันไดเวียนภายในไปยังชั้นสามซึ่งถือเป็นชั้นบนสุด และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณทะเลอันดามันได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองระนองอีกด้วย เมื่อมองออกมานอกหน้าต่างเพื่อรับชมทัศนียภาพตัวเมืองระนองในมุมกว้าง ภาพมุมมองที่ท่านได้เห็นจากสายตาในวันนี้ อาจทับซ้อนกับภาพมุมเมืองในอดีตที่ได้ฟังเรื่องราวเก่าก่อน ทาบทาด้วยแสงอาทิตย์อัสดง จนก่อให้เกิดภาพจำที่งดงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ต่างออกไปก็เป็นได้

แลหลัง วังงาม พระราชวังรัตนรังสรรค์ อ่านเพิ่มเติม

“เกาะญี่ปุ่น” ไข่มุกแห่งอันดามัน

“เกาะญี่ปุ่น” ไข่มุกแห่งอันดามัน วันนี้ เพื่อนร่วมทางจึงอยากชักชวนกัน ให้แวะมาเติมพลังกันที่ “เกาะญี่ปุ่น” หรือ “เกาะกำกลาง” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไข่มุกเม็ดงามแห่งอันดามัน เกาะญี่ปุ่นนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเกาะกำใหญ่และเกาะกำนุ้ย หากมองจากอุทยานไปจะเห็นเป็นแนวต้นไม้ในทะเล ร่มรื่นด้วยทิวสนเรียงราย เกาะญีปุ่นมีลักษณะเป็นภูเขาเล็กๆ บริเวณรอบเกาะมีจุดยอดนิยมในการดำน้ำชมปะการังแข็ง ปลาเสือ และเหล่าปลาการ์ตูนนีโม่สีส้มขาว รวมถึงพันธุ์อินเดียนแดงที่แหวกว่ายหยอกเย้ากับดอกไม้ทะเลอย่างรื่นเริง ด้านหน้าเกาะทางทิศตะวันออกเป็นแนวชายหาดสีขาวนวล เม็ดทรายละเอียด ผืนชายหาดที่ทอดยาวลาดลงไปในทะเลถูกปกคลุมด้วยน้ำทะเลสีใสจนแทบจะมองไม่เห็นจุดบรรจบระหว่างชายหาดกับน้ำทะเล ชื่อเกาะญี่ปุ่นมีที่มาจากหลายทาง บ้างก็ว่าในอดีตมีเรือทหารญี่ปุ่นเคยมาล่มที่เกาะแห่งนี้ บ้างก็เล่าย้อนไปยังสมัยสงครามโลก ว่ามีคนญี่ปุ่นมาทำสัมปทานหอยมุก แต่บางคนคิดว่าเป็นทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานทัพแล้วอ้างว่าเลี้ยงหอยมุกบังหน้า แต่แอบใช้พื้นที่ประกอบอาหารส่งเสบียงให้แก่ทหารญี่ปุ่นที่เดินทางผ่านจังหวัดระนองไปยังประเทศเมียนมาร์ เมื่อทางการสงสัยจึงส่งกำลังเข้าตรวจค้นและจับกุม ชาวบ้านจึงเรียกว่าเกาะญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา การเดินทางไปยังเกาะญี่ปุ่นก็ไม่ยากเย็น นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าเทียบเรืออ่าวบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้จะมีชาวบ้านในพื้นที่ รวมตัวกันเป็นสมาคมบริการเรือนำเที่ยวแห่งอ่าวบางเบน คอยดูแลช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ระยะเวลาจากท่าเรือไปยังเกาะญีปุ่นอยู่ที่ 45 นาที โดยประมาณ ด้วยระยะเวลาในการเดินทางที่เรียกได้ว่าสั้นอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับบรรยากาศและความรู้สึกที่ได้รับมาหลังจากได้สัมผัสกับไข่มุกแห่งอันดามันเช่นนี้ พวกเรา “เพื่อนร่วมทาง” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโอกาสนำพาเหล่านักเดินทางทั้งหลายไปสัมผัสสถานที่ที่สวยงามเช่น “เกาะญีปุ่น” นี้อีกครั้ง … หรืออีกหลายๆ ครั้งในคราวต่อไป

“เกาะญี่ปุ่น” ไข่มุกแห่งอันดามัน อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top