หลง(รัก) แหลมสัก
ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของหลายหมู่บ้าน ชุมชนแห่งนี้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว เพราะเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของคน 3 เชื้อชาติ ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เรียกกันว่า “บาบ๋า ย่าหยา” (Baba Nyonya) ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของหลายหมู่บ้าน ชุมชนแห่งนี้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว เพราะเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของคน 3 เชื้อชาติ ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เรียกกันว่า “บาบ๋า ย่าหยา” (Baba Nyonya) ก่อนอื่นเลยเราก็ต้องมาติดต่อจองโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักกันที่ “บลูเฮ้าส์” อาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส ซึ่งเป็นล็อบบี้ของ “บุหลัน อันดา บาบ๋า รีสอร์ท” สำหรับทริปท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักนี้ นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ชุมชนนี้มีความสวยงามไม่เหมือนใคร การันตีด้วยรางวัลสุดยอดเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีชุมชนวัฒนธรรมอันดามัน” จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเลยทีเดียว ทริปนี้เราจะได้นั่งเรือหัวโทงล่องไปยังจุดต่างๆ สามารถเที่ยวแบบวันเดียวหรือจะพักค้างคืนก็ได้ ค่าบริการโปรแกรม One Day เริ่มต้นที่ 1,300 บาท/คน (รับ 6 คนขึ้นไป)โปรแกรม 2 วัน 1 คืน เริ่มต้นที่ 2,800 บาท/คน (รับ 6 คนขึ้นไป)โปรแกรม 3 วัน 2 คืน เริ่มต้นที่ 3,900 บาท/คน (รับ 11 คนขึ้นไป) “แหลมสัก” โอบล้อมด้วยทะเลอันดามันสามด้าน มีเกาะต่างๆ อยู่โดยรอบ ที่นี่จึงมีลักษณะเป็น “ทะเลใน” ปลอดภัยจากคลื่นลมแรงและมรสุม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ใช้ชีวิตเรียบง่าย ระหว่างทางเราจะเห็นเรือหาปลาด้วย จุดแรกที่เรามากันคือ “ถ้ำชาวเล” มาชมร่องรอยของภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000 ปี เชื่อกันว่ามีการใช้ยางไม้และเลือดสัตว์มาเป็นส่วนผสมในการเขียนภาพ ภาพเขียนสีเหล่านี้วาดเป็นภาพคนกำลังทำกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เล่นดนตรี ทานอาหาร และมีภาพคนถืออาวุธนั่งบนหลังสัตว์ ลักษณะคล้ายกำลังล่าสัตว์ จึงสันนิษฐานกันว่าสถานที่นี้ในอดีตคงเป็นที่อยู่ของมนุษย์ถ้ำนั่นเอง ถัดมาคือ “เขาเหล็กโคน” ตั้งอยู่บริเวณแนวเชื่อมต่อกับจังหวัดพังงา จุดนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กของแหลมสักเลยก็ว่าได้ ใครมาก็ต้องเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก คำว่า “เหล็กโคน” เป็นภาษาใต้แปลว่า “ตะปู” เขาเหล็กโคน จึงหมายถึง ภูเขาที่มีลักษณะคล้ายตะปูตอกอยู่กลางทะเลนั่นเอง มาชมภาพสีเขียนโบราณอีกจุดหนึ่งคือที่ “แหลมไฟไหม้” มีภาพที่โดดเด่นคือ ภาพคน 2 คนยืนอยู่ติดกัน (สังเกตได้ว่ามี 2 แขน 4 ขา) จนดูคล้ายกำลังกอดกันด้วยความรักอันเปี่ยมล้น นักท่องเที่ยวสามารถมาอธิษฐานขอให้ความรักมั่นคงดั่ง “คนคู่” ได้ ใกล้ๆ กับภาพ “คนคู่” ก็มี “หัวใจแห่งขุนเขา” เป็นช่องเขาทะลุรูปหัวใจดวงน้อยๆ แหม บริเวณนี้ช่างเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรัก เหมาะสำหรับคู่รัก เพื่อน และครอบครัวที่จะมาเติมเต็มความรักให้แก่กันจริงๆ ถัดมาคือ “อ่าวเหนา” เป็นเวิ้งอ่าวที่น้ำทะเลค่อนข้างนิ่ง เหมาะแก่การเลี้ยงปลาและสาหร่าย จะเห็นได้ว่าที่นี่เต็มไปด้วยกระชังเลี้ยงปลาของชาวบ้านเรียงรายเป็นแถวๆ เลย ซึ่งเราจะรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่ด้วย จุดนี้เราจะได้เห็นกระชังสาหร่ายพวงองุ่นกันอย่างใกล้ชิด และชิมสาหร่ายพวงองุ่นกันแบบสดๆ อีกด้วย เห็นยกขึ้นมาแบบนี้บอกเลยว่าหนักมากจ้า กล้ามขึ้นเลยทีเดียว มาดูกันใกล้ๆ นอกจากจะมีหน้าตาคล้ายพวงองุ่นแล้ว สาหร่ายพวงองุ่นยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญหลายอย่าง และที่สำคัญมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย นอกจากสาหร่ายพวงองุ่นแล้ว ที่นี่ยังมีกระชังกุ้ง ซึ่งเราสามารถชมได้อย่างใกล้ชิดเลยล่ะ แต่อย่าเอานิ้วไปจิ้มเชียว เดี๋ยวจะบาดเจ็บได้นะ มื้อกลางวันของเราวันนี้ อร่อยจนต้องบอกต่อ!! “ข้าวคลุกกะปิ” ของที่นี่อร่อยไม่เหมือนใคร ทางชุมชนแยกสำรับข้าวและเครื่องเคียงต่างๆ ไว้ให้เราเลือกตักได้เองเลย ส่วนประกอบก็จะมี ข้าวคลุกกะปิ กุ้ง ไข่เจียว มะม่วงซอย หอมซอย มะนาว พริกซอย กุ้งแห้ง และแตงกวา แถมยังใช้ใบตองกลัดด้วยไม้ทำเป็นกระทง ใช้เป็นภาชนะแทนจานโฟมอีกด้วย ดีมากๆ เลย ฝีมือแอดตักเอง น่าทานมั้ย หลังจากทานข้าวกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว เราก็กลับเข้าฝั่งมาชม “วัดมหาธาตุแหลมสัก” ที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ซึ่งถือเป็นเจดีย์เพียงองค์เดียวที่ตั้งอยู่ริมทะเลอันดามัน เจดีย์องค์นี้ก่อสร้างมากว่า 10 ปีแล้ว แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปยังจุดชมวิวด้านบนได้ ซึ่งจะมองเห็นทัศนียภาพได้แบบ 360 องศาทีเดียว แอดบอกเลยว่าสวยมากๆ ต้องไปดูด้วยตาตัวเองนะ “ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย” เป็นจุดสุดท้ายที่เราจะมาชมกัน ศาลเจ้าเก่าแก่กว่า 100 ปีแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาหันหน้าออกสู่ทะเล สร้างขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหน้าตลาดแหลมสักเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 16 กันยายน 2562
หลง(รัก) แหลมสัก อ่านเพิ่มเติม