สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคัดเลือกพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในแต่ละภาค และเฉลิมนามว่า “จอมเจดีย์” ทรงกล่าวถึงความสำคัญของจอมเจดีย์แต่ละแห่ง ซึ่งเสมือนบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของพุทธศาสนา โบราณสถาน และประวัติศาสตร์
มีหลักฐานที่กล่าวถึงพระธาตุจอมเจดีย์ คือภาพเขียนจอมเจดีย์ ๘ องค์ ในซุ้มคูหาผนัง ๘ ห้อง ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร การกำหนดพระธาตุจอมเจดีย์ให้กระจายในหลายพื้นที่ทำให้เกิดการเดินทางไปสู่หลากหลายภูมิภาคยิ่งขึ้น รวมทั้งแต่ละสถานที่มีตำนานและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
๑. พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
พระปฐมเจดีย์ ได้รับการคัดเลือกเป็นจอมเจดีย์ เนื่องจาก “สร้างขึ้นเมื่อแรกที่พุทธศาสนามาสู่สยามประเทศ” ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูตเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าไว้ภายในองค์เจดีย์ องค์พระปฐมเจดีย์มีรูปทรงเป็นรูประฆังคว่ำ มีการจัด “งานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์” ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ประมาณช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน) รวม ๙ วัน ๙ คืน
- การเดินทาง
- รถยนต์: จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน สู่จังหวัดนครปฐม หรือใช้ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ถึงจังหวัดนครปฐม
- รถไฟ: จากกรุงเทพฯ มีบริการรถไฟไปนครปฐมวันละหลายเที่ยว ลงสถานีนครปฐม สอบถามข้อมูล โทร. ๑๖๙๐ www.railway.co.th
- รถโดยสารประจำทาง: มีทั้งรถบัสและรถตู้ จากสถานีขนส่งกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) ถนนบรมราชชนนี สอบถามข้อมูลได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. ๑๔๙๐ www.transport.co.th
๒. พระปรางค์พระศรีมหาธาตุละโว้
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
พระปรางค์พระศรีมหาธาตุละโว้ ได้รับการคัดเลือกเป็นจอมเจดีย์ด้วยเป็น “สถูปเจดีย์องค์แรกที่ประดิษฐานพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ” องค์ปรางค์เป็นศิลปะเขมรแบบบายน สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น และเป็นแบบอย่างเจดีย์ทรงปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีการขุดค้นพบว่าภายในองค์พระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งต่อมาเป็นพระพิมพ์ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลพบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น.
- การเดินทาง
- พระปรางค์ตั้งอยู่ในตัวเมืองลพบุรี ตรงข้ามสถานีรถไฟลพบุรี ห่างจากพระปรางค์สามยอดและศาลพระกาฬ ๑ กิโลเมตร และห่างจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ๕๐๐ เมตร จากสถานีขนส่งผู้โดยสารมีรถสองแถววิ่งผ่าน หรือนั่งจักรยานยนต์รับจ้างระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร
๓. พระธาตุหริภุญชัย
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย ได้รับเลือกเป็นพระธาตุจอมเจดีย์ ด้วยเป็น “เจดีย์ที่สร้างก่อนเจดีย์องค์อื่นในล้านนา” สร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สถาปัตยกรรมทรงเจดีย์แบบล้านนา ฐานเจดีย์ประกอบด้วยฐานปัทม์เป็นลูกบัวแก้ว ย่อเก็จ องค์เจดีย์ทรงระฆังกลม และตำนานกล่าวว่าประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหลายส่วน ได้แก่ พระบรมธาตุส่วนกระหม่อม พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) พระบรมธาตุส่วนนิ้วพระหัตถ์ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนย่อยเต็มหนึ่งบาตร
มีการจัด “งานประเพณีแปดเป็ง สรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (เดือน ๘ เหนือ จึงเรียก “แปดเป็ง”) โดยนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์จากยอดดอยขะม้อ ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน มาเป็นน้ำสรงพระธาตุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ
- การเดินทาง
- ตัวเมืองลำพูน มาตามถนนเจริญราษฎร์ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรอบเมืองนอก ๒๐๐ เมตร ถึงวงเวียน เข้าซอยสันป่ายาง ๔๕ เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรอบเมืองใน ๔๕๐ เมตร ผ่านประตูเมืองท่านาง เลี้ยวขวา ๒๐ เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑๕๐ เมตร
๔. พระธาตุพนม
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระธาตุพนม ได้รับเลือกให้เป็นจอมเจดีย์ เนื่องจากเป็น “เจดีย์ที่สร้างก่อนเจดีย์องค์อื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” สร้างสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ในราวปี พ.ศ. ๘ โดยกษัตริย์ ๕ พระองค์ เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาอย่างยิ่งของชาวอีสานและชาวลาว เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขง
ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่ประดิษฐาน พระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า มีการจัด “งานนมัสการพระธาตุพนม” ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) กล่าวกันว่าผู้ที่ได้มาสักการะพระธาตุพนมครบ ๗ ครั้ง ถือเป็น “ลูกพระธาตุ”
- การเดินทาง
- รถยนต์: จากตัวเมืองนครพนม ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ (นครพนม-มุกดาหาร) ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร จะพบวัดตั้งอยู่ทางขวามือในตัวอำเภอธาตุพนม
- รถโดยสารประจำทาง: มีรถตู้โดยสารสายนครพนม-มุกดาหาร วิ่งผ่านหน้าวัด ต้นทางสามารถขึ้นได้จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครพนมและมุกดาหาร
๕. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
พระธาตุศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง หรือ “วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง” เป็นโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ มีโบราณสถานที่สำคัญของวัด คือ “ปรางค์ประธาน” ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน เรือนธาตุด้านหน้าเป็นซุ้มโถง มีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกว่า “หัวใจพระพุทธเจ้า” มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ลบเลือนไปมากด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาหลายร้อยปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๗.๐๐ น.
- การเดินทาง
- รถยนต์: จากตัวเมืองสุโขทัย ระยะทาง ๖๘ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ (สุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย) เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานแม่น้ำยม ลงสะพานมีทางแยกขวาเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ ตรงเข้าไป ๑.๕ กิโลเมตร
- รถโดยสารประจำทาง: จากท่ารถที่ตลาดเทศบาล มีรถโดยสารเส้นทางสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย
๖. พระธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช คือสถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของภาคใต้ การเป็นพระธาตุจอมเจดีย์จากความสำคัญที่ “เจดีย์สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ” เจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำสีขาว ยอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำแท้ ภายในมีสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นทองรูปพรรณและอัญมณี
พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ซึ่ง ททท. ระบุให้เป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ด้วยองค์พระธาตุเจดีย์ไม่มีเงาตกทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด และมีเจดีย์บริวารถึง ๑๔๙ องค์ จะมีการจัด “งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชา (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชา (ประมาณเดือนพฤษภาคมหรือกรกฎาคม)
- การเดินทาง
- ตัวเมืองนครศรีธรรมราช จากกองทัพภาคที่ ๔ เข้าถนนราชดำเนิน บริเวณหน้าสนามกีฬานครศรีธรรมราช ผ่านสี่แยกท่าวัง ศาลากลางจังหวัด หอนาฬิกา ตรงไป วัดพระมหาธาตุฯ อยู่ด้านขวามือ หรือตัวเมืองนครศรีธรรมราช จากสี่แยกหัวถนน เข้าถนนราชดำเนิน ถึงสี่แยกประตูชัย ตรงไป วัดพระมหาธาตุอยู่ซ้ายมือ
๗. พระเจดีย์วัดช้างล้อม
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
พระเจดีย์ช้างล้อม อยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เจดีย์ทรงลังกา และกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ เจดีย์อยู่บนฐานประทักษิณ มีช้างปูนปั้นรายรอบทั้งสี่ด้าน จำนวน ๓๙ เชือก สันนิษฐานว่าอาจเป็นวัดเดียวกับที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งกล่าวไว้ว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้โปรดฯ ให้ขุดนำพระธาตุขึ้นมาทำพิธีบูชาและเฉลิมฉลอง จากนั้นฝังลงดินและสร้างเจดีย์ครอบไว้
- การเดินทาง
- จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ (สุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย) ถึงกิโลเมตรที่ ๑๘-๑๙ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำยม มีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า รวมระยะทาง ๖๘ กิโลเมตร หรือจากอำเภอสวรรคโลก ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๑ ถึงเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยม เลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ ๒ กิโลเมตร รวมระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร
๘. พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล
ตำบลคลองสวนพลู อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ความสำคัญในการเป็น จอมเจดีย์ คือ “เจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติในการทรงกระทำยุทธถหัตถีได้รับชัยชนะ” โดยในสมัยสมเด็จพระนเรศวร วัดใหญ่เป็นที่จำพรรษาของพระพนรัตน์ พระเถระที่พระนเรศวรเคารพศรัทธา และพระพนรัตน์เป็นผู้ถวายการแนะนำให้พระนเรศวรสร้างเจดีย์นี้ขึ้นเป็นพุทธบูชา และเป็นสัญลักษณ์แห่งการได้รับชัยชนะในครั้งนั้น
ปัจจุบันมีการจัดงาน “ประเพณีห่มผ้าพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล” ในวันวิสาขบูชา งานจะเริ่มตั้งแต่เช้าด้วยการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ ต่อจากนั้นแห่ผ้าห่มองค์พระเจดีย์เวียนรอบเกาะเมืองอยุธยา และทำพิธีห่มผ้าพระเจดีย์ ส่วนในช่วงค่ำเวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์
- การเดินทาง
- รถยนต์: ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ถึงวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) เลี้ยวซ้ายไป ๑ กิโลเมตร วัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ซ้ายมือ
- รถโดยสารประจำทาง: ริมถนนบริเวณวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างหรือรถสามล้อไปยังวัด