ตักบาตรรับอรุณที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย

วัดตระพังทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย

คำว่า ตระพัง มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมรว่า “ตรฺพำง” (อ่านว่า ตรอ-เปียง) แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้น และเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้

คติการสร้างวัดบนเกาะกลางน้ำ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งแพร่หลายในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
.
เจดีย์ประธาน
.
เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง มีลักษณะเฉพาะหรือที่เรียกว่าเจดีย์ทรงระฆังสมัยสุโขทัย สังเกตได้จาก ฐานบัวคว่ำ-บัวหงายที่ไม่สูงมาก มีบัวถลา 3 ฐานรองรับองค์ระฆัง และมีบัลลังก์อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ไม่มีก้านฉัตรรองรับปล้องไฉน ซึ่งเจดีย์ลักษณะนี้เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมและพบได้มากในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
.
ในปี พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จเยือนวัดแห่งนี้ และในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จ ฯ เยือนเมืองสุโขทัย พบซากปรักหักพังของเจดีย์รายจำนวน 8 องค์ แต่ในปัจจุบันไม่พบร่องรอยของเจดีย์รายเหล่านั้นแล้ว

พระอุโบสถ
.
ตั้งอยู่ด้านหลังของเจดีย์ประธาน ซึ่งพระอุโบสถหลังนี้สร้างบนฐานพระอุโบสถหลังเก่าสมัยสุโขทัย สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาและเงินบริจาคของชาวบ้าน ภายใต้การนำของ พระยารณไชยชาญยุทธ (ครุธ หงสนันทน์) อดีตจางวางกำกับราชการเมืองสุโขทัยในสมัยนั้น
.
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวปางมารวิชัย นามว่า หลวงพ่อขาว เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา
.
ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปจัตุรมุขด้านหน้าเจดีย์ประธาน ซึ่งรอยพระพุทธบาทนั้น สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ราวปี พ.ศ. 1902 จำหลักหินสีเทาดำเป็นลายมงคลหนึ่งร้อยแปด โดยจำลองแบบจากศรีลังกา
.
เดิมประดิษฐานอยู่ ณ ภูเขาทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย เรียกว่า เขาสุมนกูฎ ชื่อเดียวกับภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในลังกาทวีป ปัจจุบันเรียกเขาลูกนี้ว่า เขาพระบาทใหญ่ ต่อมาได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดตระพังทองแห่งนี้

อนุสรณ์ตำนานพระร่วง ขอมดำดิน
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จ ฯ เยือนเมืองสุโขทัย และทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงตำนานพระร่วงไว้ว่า
.
“…วัดมหาธาตุนี้ราษฎรนับถือกันว่าเป็นที่สำคัญนัก เพราะกล่าวว่าเป็นที่พระร่วง (นายส่วยน้ำ) ได้มาทรงผนวชอยู่ ยังมีสิ่งที่ชี้เป็นพยานกันอยู่ คือขอมดำดิน ซึ่งตามนิทานว่าดำดินมาแต่นครธม มาโผล่ขึ้นในลานวัดกลางเมืองสุโขทัยเพียงแค่อก เห็นพระร่วงซึ่งผนวชเป็นภิกษุกวาดลานวัดอยู่ ขอมไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงก็บอกว่าให้ขอมคอยอยู่ก่อน จะไปตามพระร่วงมาให้ กายขุนขอมก็เลยกลายเป็นศิลาติดอยู่ที่ลานวัดนั้นเอง…” (ที่มา : Facebook มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 )
.
ในอดีต พบก้อนศิลาแลง ที่เชื่อกันว่าเป็นร่างของขอมซึ่งถูกพระร่วงสาปบริเวณวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์และช่วยรักษาโรค จึงมักจะต่อยออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำไปทำยา ทำให้หินมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ
.
ปัจจุบัน ศิลาแลงก้อนดังกล่าวถูกนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย 

นอกจากนั้น ช่วงเช้าของทุกวันยังมี “กิจกรรมตักบาตรวิถีไทย รับรุ่งอรุณแห่งความสุข” ที่วัดตระพังทองแห่งนี้ สถานที่จัดก็คือสะพานไม้หน้าวัดนั่นเอง
.
สามารถทำบุญได้ทุกวัน แอดแนะนำให้ไปถึงบริเวณสะพานประมาณ 06.00 น. 

หากใครไม่ได้เตรียมของสำหรับใส่บาตรมา ฝั่งตรงข้ามวัดมีตลาดสด สามารถเลือกซื้ออาหารมาทำบุญตักบาตรก็ได้เหมือนกัน 
.
วัดตระพังทอง
ที่ตั้ง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 085 052 3797

Scroll to Top