บุหงาบูดะ ขนมพื้นบ้านจากชาววัง

ขนมบุหงาบูดะ

“ขนมบุหงาบูดะ” เป็นขนมพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของสตูล มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 170 ปี ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมาเลเซีย และในอดีตเป็นขนมที่ทำกันเฉพาะในวังเจ้าเมืองเท่านั้น

แม้บุหงาบูดะจะดูคล้ายกับขนมเกสรลำเจียก ทั้งหน้าตาและวัตถุดิบที่ใช้ในการทำ แต่ถ้าดูกันในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของแป้ง หรือวิธีการทำไส้

ขนมบุหงาบุดะ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายหมอน มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ แผ่นแป้งที่ใช้ห่อภายนอก และไส้หวานๆ ที่อยู่ภายในนั่นเองค่ะ

โดยไส้ทำจากเนื้อมะพร้าวขูดผสมกับน้ำตาลทราย ใส่สีผสมอาหารเพื่อเพิ่มสีสัน เติมเกลือลงไปเล็กน้อย หลังจากนั้นใส่น้ำใบเตยหอมและกวนจนส่วนผสมแห้งสนิทค่ะ

ส่วนแผ่นแป้งที่ใช้ห่อไส้นั้นทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำเกลือนวดพอหมาดๆ จากนั้นตั้งกระทะโดยใช้ไฟอ่อนถึงไฟกลาง นำแป้งที่เตรียมไว้ไปใส่กระชอน ค่อยๆ ร่อนลงบนกระทะจนได้ความหนาตามที่ต้องการ พอแป้งสุกจึงนำไส้ที่เตรียมไว้มาใส่ลงไป ห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดพอดีคำแล้วพักไว้ให้เย็น มักทานคู่กับน้ำชาค่ะ

ในอดีตชาวมุสลิมในจังหวัดสตูล จะทำขนมชนิดนี้รับประทานกันเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาหรือพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เพราะเป็นขนมที่ทำยาก ต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก เช่น เทศกาลเฉลิมฉลองหลังจากถือศีลอด หรือที่เรียกว่า ฮารีรายอ พิธีแต่งงาน และเทศกาลอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นขนมต้อนรับแขกที่มาเยือนอีกด้วยค่ะ

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอช่วงเทศกาลแล้ว เพราะเราสามารถหาขนมบุหงาบูดะทานได้ทั่วไปในจังหวัดสตูลค่า

ถ้าเพื่อนๆ คนไหนมีโอกาสแวะไปเที่ยวจังหวัดสตูล ก็อย่าลืมไปลองทาน และซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่เพื่อนๆ รักกันด้วยนะคะ

Scroll to Top