เผยแพร่บน Facebook : ศูนย์ข้อมูลโควิดจังหวัดภูเก็ต วันที่ 25 มิถุนายน 2564
คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3491/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต รองรับการเปิดเมือง Phuket Sandbox
.
มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
.
เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นระยะจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และจังหวัดภูเก็ตได้มีคำสั่ง ที่ 2920/2564 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปแล้ว นั้น
.
เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 รับทราบและเห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยจะรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรอง ครบโดสตามจำนวนที่กำหนด และได้ผ่านขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ให้สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่มีการกักตัว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ตจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุม ติดตาม เฝ้าระวัง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศและบุคคลทั่วไปที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพื่อป้องกันมิให้มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 40/๒๕๖4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 จึงยกเลิกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2920/2564 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 และออกคำสั่งกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังต่อไปนี้
.
ข้อ 1 มาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ของคนต่างประเทศและคนไทย ผู้เดินทางต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ กรณีเดินทางจากประเทศอื่น ต้องพำนักอยู่ในประเทศที่กำหนดข้างต้นอย่างน้อย 21 วัน ก่อนการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต
(2) ต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE)
(3) ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนด 2 เข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) กรณีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สามารถเดินทางเข้ามาพร้อมกับผู้ปกครองได้
(4) มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID – 19 is not detected) โดยวิธีการ RT – PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
(5) กรณีเคยติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนตามกำหนด 2 เข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
(6) มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล หรือหลักประกันอื่นใด ซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด – 19 ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
(7) ให้มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (day 0) ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตโดยพักรอในห้องพัก 1 คืน เพื่อรอรับแจ้งผลการตรวจผ่านทางผู้จัดการ (COVID-19 Manager) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 – 7 ณ โรงแรมที่พักอาศัย หรือห้องปฏิบัติการ (Lab นอก) โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12 – 13 ณ โรงแรมที่พักอาศัยหรือห้องปฏิบัติการ (Lab นอก) โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา
(8) ต้องเข้าพำนัก ณ สถานประกอบการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ต เป็นระยะเวลา 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกนอกจังหวัดภูเก็ตเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นได้ กรณีพำนักไม่ถึง 14 คืน ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
(9) ผู้เดินทางสามารถเดินทางในจังหวัดภูเก็ตและดำเนินกิจกรรมทางการท่องเที่ยว และใช้บริการสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A
(10) ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และ Tracing Application : Morchana และยินยอมให้ระบบติดตามพิกัดตามภูมิศาสตร์ (GPS) ผ่านแอปพลิเคชัน ตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย
.
ข้อ 2 ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต เพื่อเดินทางไปยังจังหวัดอื่น หรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทางอากาศ (ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต)
ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
นักท่องเที่ยวที่พำนักในจังหวัดภูเก็ตครบกำหนด 14 คืน และประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต ให้แสดงเอกสารหลักฐาน ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจช่องทางขาออก ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศหรืออาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(1) หนังสือเดินทางและวีซ่าที่ตรวจลงตราโดย ตม.ท่าอากาศยานภูเก็ตขาเข้า (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย)
(2) หลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด 19 แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 ตลอดระยะเวลา 14 คืน ที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งออกโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข
(3) หลักฐานการเข้าพักในโรงแรมหรือที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus)
.
ข้อ 3 ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต เพื่อเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ทางบกและทางเรือ
ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
ทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย)
ผู้ที่ประสงค์เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ต้องมีเอกสารยืนยันการผ่านวิธีการที่ทางราชการกำหนด โดยมีการลงตราในใบเอกสารแนบในหนังสือเดินทางแสดงถึงระยะเวลาที่ต้องพำนักในจังหวัดภูเก็ต หลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 ตลอดระยะเวลา 14 วัน ที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งออกโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหลักฐานยืนยันการพำนักในสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ตมาแล้วเป็นระยะเวลา 14 คืน
.
ทางเรือ (ท่าเทียบเรือ)
1. ให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ตตามกำหนด 14 คืน ที่ประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตทางเรือ สามารถเดินทางโดยเรือโดยสารออกจากท่าเทียบเรือที่กำหนด ดังนี้
(1) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
(2) ท่าเทียบเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
(3) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
.
ในกรณีที่จะเดินทางโดยเรือยอร์ชให้เดินทางออกจากท่าเรือที่กำหนด ดังนี้
(1) ท่าเทียบเรือยอร์ช เฮเว่น มารีน่า ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
(2) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
(3) ท่าเทียบเรือภูเก็ต โบ๊ทลากูน ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
(4) ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
(5) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
โดยต้องแจ้งเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต หรือศูนย์ปฏิบัติการติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต (ศปก.Phuket Sandbox) ก่อนออกเดินทางไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
.
2. ผู้เดินทางต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(1) หนังสือเดินทางและวีซ่าที่ตรวจลงตราโดย ตม.ท่าอากาศยานภูเก็ตขาเข้า (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย)
(2) หลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด 19 แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 ตลอดระยะเวลา 14 คืน ที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งออกโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข
(3) หลักฐานการเข้าพักในโรงแรมหรือที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus)
.
3. กรณีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต จะต้องเดินทางออกจากท่าเรือที่กำหนด คือ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ, ท่าเทียบเรือรัษฎา, ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง, ท่าเทียบเรือ ยอร์ช เฮเว่น มารีน่า, ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า, ท่าเทียบเรือภูเก็ต โบ๊ทลากูน, ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ผู้เดินทางจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
(1) ลงทะเบียนระบบติดตามตัวโดยการรายงานตัวผ่านแอปพลิเคชัน ตามที่ทางราชการกำหนด
(2) เรือโดยสารจะต้องติดตั้งระบบแสดงตนอัตโนมัติ ( AIS ไม่ต่ำกว่า Type B ) และติดตั้งวิทยุสื่อสาร VHF พร้อมเปิดใช้งานตลอดเวลาและให้เป็นไปตามกฎหมายกรมเจ้าท่า
(3) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือ ต้องแจ้งเรือเข้า – ออกท่าเรือ ตามแบบรายงานพร้อมเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตามข้อ 2 ตรวจสอบก่อนปล่อยเรือออกจากท่า หรือเมื่อเรือเข้าเทียบท่าเสร็จเรียบร้อย ซึ่งประกอบด้วยเอกสาร ดังต่อไปนี้
3.1 แบบรายงานเรือเข้า – ออกท่าเทียบเรือ
3.2 บัญชีรายชื่อผู้โดยสารและคนประจำเรือ
3.3 บัญชีผู้เอาประกันภัยหรือกรมธรรม์และความถูกต้องตรงกันของผู้โดยสารที่ลงเรือ (ถ้ามี)
.
4.ให้ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ ลูกเรือ พนักงานในเรือ และผู้โดยสาร ถือปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 8/2564 ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือและผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในข้อที่มิได้กำหนดไว้ในประกาศนี้อย่างเคร่งครัด
.
กรณีที่ผู้เดินทางต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต ไม่สามารถแสดงหลักฐาน ณ ด่านตรวจทางบก (ท่าฉัตรไชย) ด่านตรวจทางเรือ (ท่าเรือที่กำหนด) จะไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตจังหวัดภูเก็ตได้ทุกกรณี ยกเว้นจะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตเพื่อออกจากราชอาณาจักรไทยทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตเท่านั้น
.
ข้อ 4 การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตของคนไทยจากต่างจังหวัด หรือคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย ทางด่านตรวจท่าฉัตรไชย ช่องทางน้ำ (ท่าเรือ) ทุกท่า ในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผู้เดินทาง ยกเว้นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และต้องถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือ
(2) เป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด 19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน หรือ
(3) ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีการ RT – PCR หรือวิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจ
(4) ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และยินยอมเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต
(5) แสดงเอกสารหลักฐานข้างต้น ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต
(6) ให้สังเกตติดตามอาการตนเอง (Self Monitoring) ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค หากพบอาการป่วยหรือสงสัยว่ามีอาการป่วยด้วยโรคโควิด 19 ให้พบแพทย์โดยด่วน
.
ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย
.
ข้อ 5 จังหวัดภูเก็ตจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว Phuket Tourism Sandbox ทำหน้าที่บริหารจัดการ มอบหมายภารกิจ กำกับติดตามการเดินทางเข้า – ออก จังหวัดภูเก็ต ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ทั้งที่เดินทางจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจนกระทั่งเดินทางออกจากจังหวัด รวมถึงจัดระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้า-ออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อร้องเรียน หรือข้อคิดเห็นของประชาชน ปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติและแนวทางแก้ไข เพื่อรายงานให้ ศปก.ศบค. และผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง
โดยให้จัดระบบการสื่อสารเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญ ได้แก่
(1) ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต
(2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย)
(3) ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำ
(4) ศูนย์ประสานงานโรงพยาบาลรัฐและเอกชน (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด)
(5) ตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจน้ำ และตำรวจท่องเที่ยว
(6) ศูนย์ประสานงานโรงแรม/ที่พัก (SHA Plus Manager)
(7) ศูนย์ประสานงานสถานประกอบการ SHA+ (SHA Plus) (สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด)
(8) ศรชล.จังหวัดภูเก็ต
(9) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคใต้ และ บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ
.
ข้อ 6 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จัดทำแผนรับมือและแผนการชะลอหรือยกเลิกโครงการ กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ มีลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล และมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ของศักยภาพ
โดยจะมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ ดังนี้
1) ปรับลดกิจกรรม
2) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ (Sealed Route)
3) มาตรการกักตัวภายในสถานที่พัก Hotel Quarantine
4) ทบทวนยุติโครงการ Phuket Sandbox
.
ข้อ 7 ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 (D – M – H – T – T – A)
ได้แก่
D – Distancing = เว้นระยะห่างระหว่างกัน
M – Mask Wearing = สวมหน้ากากผ้า / หน้ากากอนามัยเสมอ
H – Hand Washing = ล้างมือบ่อย ๆ
T – Temperature = ตรวจวัดอุณหภูมิ
T – Testing = ตรวจหาเชื้อโควิด 19
A – Application = ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ และหมอชนะ
.
ข้อ 8 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือมาตรการ
1) กรณีคนต่างด้าวผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
1.1 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษ
ตามมาตรา 51 และมาตรา 52
1.2 การฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการซึ่งทางราชการกำหนด เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตก่อนระยะเวลา 14 คืน หรือตามที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการไม่ให้ความร่วมมือเข้ารับการรักษา เป็นต้น อาจเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 36 และอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร
.
2) กรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทย
2.1 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษ
ตามมาตรา 51 และมาตรา 52
.
3) กรณีผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ รวมถึงเจ้าของพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ หรือคนประจำพาหนะที่นำคนต่างด้าวโดยสารไปด้วย
3.1 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษ
ตามมาตรา 51 และมาตรา 52
3.2 การฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการซึ่งทางราชการกำหนด อาจถูกพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 45 หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี หากเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด
.
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
.
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
.
สั่ง ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564
.
ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook : ศูนย์ข้อมูลโควิดจังหวัดภูเก็ต
Link : https://web.facebook.com/phuketinfocenter/posts/332844028370780?_rdc=1&_rdr