เสน่ห์ว่าว เมืองปักษ์ใต้ (ว่าวเบอร์อามัสและว่าวหัวควาย)

เบอร์อามัส ว่าวทองแห่งมลายู 

ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ศิลปะการทำว่าวแบบมลายูถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตว่าวเบอร์อามัสใช้เพื่อพยากรณ์อากาศสำหรับการทำเกษตรกรรม โดยก่อนจะทำการขึ้นว่าว เจ้าเมืองมลายูแต่ละหัวเมืองจะต้องทำพิธีปิดทองที่หัวว่าว จนกลายเป็นที่มาของชื่อ “เบอร์อามัส” (อามัส แปลว่าทอง) เมื่อขึ้นว่าวแล้วพ่อหมอจะเป็นผู้ทำนายโดยสังเกตจากทิศทางของลม แล้วนำคำทำนายมาวางแผนการทำนา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต

(จากภาพจะเห็นว่าลวดลายของว่าวเบอร์อามัส จะมีลักษณะคล้ายกับลวดลายของเรือกอและ ที่ได้รับอิทธิมาจากวัฒนธรรมมลายูเช่นกัน)

ว่าวในยุคแรกเริ่มได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงได้ทำเป็นรูปเทวดามีแขนขา มีเครื่องทรงครบครัน เมื่อศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายเข้ามาในพื้นที่จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของว่าวให้ตรงกับหลักการทางศาสนา โดยลดทอนสัดส่วนของแขนขาหรือรูปลักษณ์การเป็นเทวดาให้น้อยลง และเพิ่มลวดลายดอกไม้ให้มากขึ้น

หลายๆจังหวัดในภาคใต้ มีการจัดประเพณีแข่งว่าวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแห้งหรือช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวบ้านนั้นเอง

ว่าวหัวควาย ว่าวพื้นบ้านประจำจังหวัดสตูล

หลังจากที่องค์การยูเนสโกประกาศให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของอาเซียนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว 

ทำให้หลายคนคงอยากจะไปเที่ยวสตูล เมืองมรดกโลกกันดูสักครั้ง พวกเราทีมงานไม่รอช้า ขอนำเสนอว่าวหัวควาย ว่าวพื้นบ้านประจำจังหวัดสตูล กิจกรรมที่เหมาะกับฤดูร้อนมากถึงมากสุดๆ แบบบ้านเรา

ว่าวที่มีสัญลักษณ์ตรงปลายเป็นรูปหัวควาย หรือที่ชาวสตูลเรียกกันว่า “ว่าวหัวควาย” นั้น เกิดจากการผสมผสานระหว่างว่าวหลา (จุฬา) กับว่าววงเดือน แต่ได้เปลี่ยนส่วนที่เป็นรูปดวงจันทร์ให้เป็นรูปหัวควายแทน สำหรับว่าวหัวควายเมื่อตกแต่งติดกระดาษว่าวแล้ว จะเติมสีสันให้สวยงามด้วยลวดลายไทย

นอกจากนี้ความพิเศษของว่าวควาย จะมีไม้ไผ่เหลาจนเป็นโครงและติดสายเอ็นบางๆ อยู่ที่ปลายด้านหลังตัวว่าว เวลาว่าวควายขึ้นสูงเล่นกับลม สายเอ็นจะตีกระทบกับตัวว่าวทำให้เกิดเสียงดังแอ็กๆ ที่ตัวว่าวควาย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

Scroll to Top