ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ นับเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์
ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (หรือเดือนบุษยมาส) ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู และเป็นวันรอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย
คำว่านางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือแม่พระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า
เชื่อกันว่าประเพณีโล้ชิงช้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ นับตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช จนเมื่อพราหมณ์ได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา จึงได้นำเรื่องราวการโล้ชิงช้าไปเผยแพร่ พิธีโล้ชิงช้าจึงปฏิบัติสืบต่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งได้ยกเลิกไปในรัชกาลที่ 7
ตำนานหรือความเชื่อเกี่ยวกับการโล้ชิงช้านั้นกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพรหมได้สร้างโลกแล้ว พระอิศวรต้องการทดสอบความแข็งแรงของโลก โดยเปรียบเสาชิงช้าทั้งสองข้างกับยอดเขาไกรลาศและเขาพระสุเมรุ ถ้าโล้ชิงช้าเสร็จเรียบร้อยแล้วเสาไม่มั่นคงจะต้องทำเสาใหม่ แต่ถ้าเสาแข็งแรงไม่หักโค่นเป็นที่พอใจ พระอิศวรจะประทานพรให้ผู้มาเข้าเฝ้า และบรรดานาลิวัน ซึ่งล้วนเป็นชายหนุ่ม ออกมาร่ายรำโดยใช้เขาสัตว์วักน้ำเทพมนตร์ขึ้นจากขันสาคร แล้วปล่อยให้สายน้ำกระจายพร่างพรมไปยังผู้ที่มาเฝ้าชมให้ชุ่มฉ่ำกันถ้วนหน้า เรียกการร่ายรำในพิธีนี้ว่า “รำเสน่ง”
ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี โดยมีขบวนแห่นางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร การแสดงแสง สี เสียง ตำนานนางดานและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง การจำลองพิธีแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทย
กำหนดการจัดงาน
วันที่ 11 เมษายน 2561 พิธีถวายเครื่องสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
วันที่ 12 เมษายน 2561 พิธีบวงสรวงเทวาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แห่ง ณ สนามหน้าเมือง
วันที่ 13 เมษายน 2561 งานวันมหาสงกรานต์ ณ สนามหน้าเมือง และสวนศรีธรรมาโศกราช
.
วันที่ 14 เมษายน 2561 พิธีแห่นางดาน ชมการแสดง แสงเสียงสื่อผสม อลังการนางดานเมืองนครฯ
“ที่สำคัญ…นักท่องเที่ยวยังได้อิ่มอร่อยกับมหกรรมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองได้ทุกวันที่มีการจัดงานอีกด้วย”