ทะเลที่แอดพาไปเที่ยวนี้คราวนี้อยู่ที่จังหวัดชุมพร แอดเลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งสนามบินก็อยู่ที่ อ.ปะทิวนี่แหละ จากนั้นใช้บริการเช่ารถยนต์จากสนามบินไปท่าเรือ (ช่วงที่แอดไป มีเคาน์เตอร์ให้บริการอยู่ 2-3 เจ้า) ใช้เวลาเดินทางไปท่าเรือประมาณ 15 นาทีเท่านั้นเอง
.
แต่ถ้าไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน เราก็สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ รถประจำทาง และรถไฟได้นะ
.
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางพุทธมณฑล นครปฐม-เพชรบุรี หรือ เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงสี่แยกปฐมพร จากนั้นแยกซ้ายเข้าตัวเมืองชุมพร
.
รถประจำทาง
มีทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ชุมพร ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง (แนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ล่วงหน้า) สอบถามรายละเอียดเที่ยวรถได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 (เนื่องจากเที่ยวรถอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด-19)
.
รถไฟ
มีรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งรถเร็วและรถด่วนไปจังหวัดชุมพรทุกวัน สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โทร. 1690
วันที่ 1
1. เกาะร้านเป็ด-เกาะร้านไก่
2. วัดแก้วประเสริฐ
.
วันที่ 2
3. เขาดินสอ
4. บ้านไม้ชายคลอง โฮมสเตย์
วันที่ 1
.
เริ่มทริปกันที่เกาะร้านเป็ด-เกาะร้านไก่
.
ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการดำน้ำตื้นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เกาะร้านเป็ด-เกาะร้านไก่ เป็นเกาะที่อยู่ห่างกันนิดเดียว (นั่งเรือประมาณ 10 นาที) ทั้ง 2 เกาะมีระบบนิเวศใต้ทะเลที่จัดว่าสมบูรณ์มาก แต่ไม่มีที่พักนะ ใครอยากดำน้ำต้องจองแพ็กเกจทัวร์ จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ให้ความรู้ เตรียมอาหาร อุปกรณ์ดำน้ำ รวมถึงดูแลความปลอดภัยให้ด้วย การเดินทางไปเกาะ ต้องนั่งเรือสปีดโบ๊ทจากท่าเรือบ้านปากคลอง ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาทีแล้วแต่สภาพอากาศ (บางบริษัททัวร์อาจจะนัดจุดขึ้นเรืออื่น อย่าลืมสอบถามจุดขึ้นเรือให้ดี)
.
ว่ากันว่า คนชิคต้องไปชมทุ่งดอกไม้ แต่ถ้าอยากชิคกว่า…จะรออะไร ลงไปชมทุ่งดอกไม้ทะเลหลากสีใต้น้ำกัน … Let’s Dive Right In!!!!
ตู้ม!!! ข้ามผิวน้ำปุ๊บ เหมือนข้ามประตูมิติมาที่โลกอีกใบเลยล่ะ ทุกอย่างสวยงามแบบไม่มีทางได้เห็นในชีวิตประจำวัน เพื่อน ๆ จะเห็นภาพลำแสงของแดดใต้น้ำ ภาพสีสันของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แม้แต่ฟองอากาศจากตัวเรา หรือสีเข้มอ่อนของน้ำทะเลรอบตัวก็ดูสวยไปหมด
หากใครโชคดี อาจได้เจอยักษ์ใหญ่ใจดีลายจุด ฉลามวาฬตัวใหญ่ หรือบางวันก็อาจได้เจอกระเบนราหูที่ว่ายน้ำมาอวดโฉมทักทาย แต่อย่าไปแตะตัวเขานะ พึงระลึกไว้เสมอว่าเราอาจนำเชื้อโรคไปแพร่ให้สัตว์น้ำได้ทุกเวลา ดูแต่ตาแล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำก็พอเนอะ
แต่ถ้าไม่เจอ 2 เซเลปใต้ทะเลก็ไม่ต้องเสียใจ เพื่อน ๆ สามารถชมถ้ำลอดบริเวณเกาะร้านเป็ด หรือชมถ้ำใต้น้ำรูปหัวใจที่เกาะร้านไก่ที่สวยงามและสร้างความฟินได้ไม่แพ้กัน
โลกใต้น้ำหลากสีของทั้งเกาะร้านเป็ด-เกาะร้านไก่ สวยงามน่าประทับใจชนิดกินกันไม่ลง อย่างที่บอกไปแล้วว่าที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นจุดดำน้ำตื้นที่สวยงามอันดับต้น ๆ แต่สำหรับเพื่อน ๆ ที่มีทักษะการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ แอดก็แนะนำให้ดำแบบฟรีไดฟ์นะ เพราะใต้ทะเลที่นี่สวยงามมากจริง ๆ
.
หลังจากดำน้ำเสร็จ (โดยทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) ก็ถึงเวลากิน!! มื้ออร่อยของเราคือ กินปูห้อยขาที่ธนาคารปูเกาะยอ ซึ่งใช้เวลานั่งเรือไปประมาณ 15-20 นาที
กินปูห้อยขาที่ว่านี้ก็คือ มื้ออร่อยที่จัดมาบนโต๊ะกระจกบนกระชังกลางทะเล มองลงไปเห็นทะเลใส ๆ ข้างล่าง ส่วนตรงม้านั่งมีเจาะช่องบนพื้นให้ห้อยขาลงไปได้ กินปูสด ๆ ไป ชมวิวทะเลไป อร่อยเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่าทีเดียว
.
ปัจจุบัน บนเกาะยอ นอกจากจะเป็นจุดแวะกินปูห้อยขา ที่นี่ยังมีส่วนวิจัยค้นคว้า และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รวมทั้งธนาคารปูเกาะยอของชาวบ้าน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สจล ที่ใช้แนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติมากกว่าเดิม ไม่จับปูม้าด้วยอวนลากทราย แถมส่งเสริมให้มีการปล่อยปูสู่ทะเล เพื่อที่ชาวบ้านจะมีปูมาขายตลอดทั้งปีอีกด้วย
อาหารมาแล้ว ต้องรีบกินให้สมกับพลังงานที่เสียไป แอดบอกไว้เลยว่าปูสดและตัวใหญ่มาก ถูกใจสุด ๆ
หลังจากกินอิ่มแล้ว สามารถเดินเที่ยวชมวิวรอบเกาะยอเพื่อย่อยอาหารและถ่ายรูปสวย ๆ ได้
* ส่วนใหญ่ โปรแกรมดำน้ำจะเริ่มเวลาประมาณ 8.00-14.00 น. หากเพื่อน ๆ มาจาก อ.เมือง จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการเดินทางมาท่าเรือ อย่าลืมเผื่อเวลากันด้วยนะ
** หากเป็นทริปพาผู้ใหญ่มาเที่ยว ไม่สะดวกดำน้ำ สามารถซื้อแพ็กเกจทัวร์ไปกินปูห้อยขาที่เกาะยอ และชมธนาคารปูได้ โปรแกรมนี้ขึ้นเรือจากชายหาดบ้านเกาะเตียบมายังเกาะยอได้โดยตรง
*** สำหรับเพื่อน ๆ สายดำน้ำที่ใช้ครีมกันแดด แอดอยากขอให้ลองดูฉลากกันสักนิดว่าครีมกันแดดที่ใช้มีส่วนผสมของ Oxybenzone ไหม ถ้ามี ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยง เพราะสารตัวนี้สามารถละลายในน้ำทะเล และมีผลทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ขอแนะนำให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการัง (Reef Safe) หรือครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแบรนด์ให้เลือกใช้
**** แอดโทรสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของทริปกับทาง ททท.สำนักงานชุมพร-ระนอง ได้คำแนะนำดี ๆ เยอะเลย หากเพื่อน ๆ สนใจ ติดต่อไปโลดดดด
.
ที่ตั้ง : ตำบลปากคลอง, อำเภอปะทิว,จังหวัดชุมพร 86210
โทร. : 0 7750 2775 (ททท.สำนักงานชุมพร-ระนอง)
วัดแก้วประเสริฐ
.
หลังจากดำน้ำแล้ว ยังเหลือเวลาอยู่ แอดตัดสินใจไปเที่ยวต่อที่วัด ….ใช่แล้ว เพื่อน ๆ อ่านไม่ผิดหรอก ไปวัด!!
.
วัดที่ว่านี้ก็คือ “วัดแก้วประเสริฐ” ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือบ้านปากคลองประมาณ 30 นาที เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย-จีน ตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นอ่าวทุ่งมหา แหลมสน และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลชุมพร เช่น เกาะเวียง เกาะพระ และเกาะรังนก ที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างจุใจ
วัดแก้วประเสริฐเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ คือ “พระพุทธมหารัตนมณีเศวตพิสุทธิ์” หรือ “หลวงพ่อองค์ขาว” พระพิฆเนศ รูปหล่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และไฮไลท์สำคัญของวัดก็คือ พระนาคปรก 9 เศียร สูง 9.99 เมตร และพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้ สูง 9.99 เมตร
.
ที่ตั้ง : ตำบลปากคลอง, อำเภอปะทิว, จังหวัดชุมพร 86210
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 17.00 น.
โทร. : 0 8955 11950
วันที่ 2
.
เขาดินสอ
.
เพื่อน ๆ ชอบทะเลหรือภูเขา?
ถ้าเลือกไม่ได้ แอดจะพาไปที่ ๆ มีทั้งภูเขาและมองเห็นทะเล นั่นก็คือ “เขาดินสอ” ที่นี่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน อ.ปะทิว มีลานกว้างปกคลุมด้วยทุ่งหญ้า มองเห็นวิวทะเลในมุมกว้างได้สุดสายตาเลย
.
อ้อ…อย่าลืมเตรียมร่างกายกันให้พร้อมล่ะ
เพราะที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ได้เดินเล่น ระยะทางเดินไปจนถึงจุดชมวิวสูงสุด ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทางเดินขึ้นเขา ระหว่างทางจะมีราวจับ และจุดนั่งพักเป็นระยะ ๆ
วิวด้านทิศตะวันออกจะเป็นทะเล ส่วนด้านทิศตะวันตกจะมองเห็นทางรถไฟไป จ.ประจวบคีรีขันธ์ สวนผลไม้ สวนยางพารา และทิวเขาสลับซับซ้อน ถ้าวันไหนมีหมอก วิวจะยิ่งสวยยิ่งฟิน บนเขามีศาลาชมวิวทั้งหมด 3 จุด แต่ละจุดรับน้ำหนักได้จำกัด เพื่อน ๆ ต้องระวังด้วย เวลาถ่ายรูป ไม่ควรไปถ่ายพร้อมกันหลายคน
หากเพื่อน ๆ มาในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน จะมีฝูงเหยี่ยวอพยพหนีอากาศหนาวเย็นมาจากไซบีเรีย ญี่ปุ่น และจีน เพื่อผ่านประเทศไทยไปหาอาหารในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย เขาดินสอเป็นหนึ่งในจุดชมเหยี่ยวอพยพที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก
.
** บนเขาไม่มีห้องน้ำ ควรทำธุระส่วนตัวให้เรียบ
ร้อยก่อนเดินทาง
.
ที่ตั้ง : ตำบล สะพลี อำเภอปะทิว ชุมพร 86160
เวลาเปิด-ปิด : 06:00 – 18:00 น.
โทร. : 0 7759 1167, 0 7759 1207
บ้านไม้ชายคลอง โฮมสเตย์
.
จากเขาดินสอ เราจะไปต่อกันที่บ้านไม้ชายคลอง โฮมสเตย์ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 20 นาที ที่นี่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่แอดได้ยินมาว่า ใครมาแล้วก็ต้องอยากกลับมาอีก เพราะขึ้นชื่อเรื่องความชิลล์ มีกิจกรรมสนุก อาหารอร่อย และมีพื้นที่ให้เราได้สูดกลิ่นธรรมชาติได้เต็มปอด
ปกติเวลานักท่องเที่ยวมาพักที่นี่ จะจองแพ็กเกจทัวร์แบบ 3 วัน 2 คืน แต่ถ้ามีเวลาน้อยเหมือนแอดก็สามารถสอบถามเพื่อเลือกทำเฉพาะกิจกรรมที่สนใจได้จ้าา
กิจกรรมหลัก ๆ ของที่นี่ก็คือ เก็บหอยพู่กัน ทำน้ำตาลจากลูกจาก นั่งเรือเที่ยวชมป่าโกงกาง ไปเที่ยวชมโรงรับจำนำปู ปล่อยปู และนั่งแพ PVC ไปรับประทานอาหารบริเวณสันทรายกลางทะเล (หากช่วงไหนไม่มีสันทราย ก็จะเป็นการกินข้าวกลางน้ำแทน)
สำหรับแอด แอดประทับใจที่นี่มาก นอกจากธรรมชาติ และบรรยากาศที่เป็นกันเองระหว่างเจ้าบ้านกับเราที่เป็นนักท่องเที่ยวแล้ว แอดยังประทับใจธนาคารปูม้าของที่นี่อีกด้วย เพราะเป็นทั้งการเพิ่มประชากรปูม้าและเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านไปพร้อมกัน
จริง ๆ แล้ว การทําธนาคารปูม้ามีหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ไอเดียเริ่มต้นของที่นี่ คือการคิดว่าจะทำยังไง ไม่ให้มีคนจับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองไปขาย เพราะเหมือนเป็นการตัดวงจรชีวิตปูไปเป็นจำนวนมหาศาลในคราวเดียว
.
ทางธนาคารปูม้าจึงนำแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาพักไว้ รอจนกว่าแม่ปูจะเขี่ยไข่ออกมาเป็นระยะตัวอ่อนที่เรียกว่า ซูเอีย(Zoea) แล้วนำซูเอียนี่แหละ ไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ลูกปูม้ามีโอกาสรอดชีวิตและเติบโตเป็นทรัพยากรทางทะเลให้ชาวประมงได้จับขายดำรงชีวิตต่อไป
.
ปล.แอดอาจจะดูอินหน่อยนะ เพราะประทับใจและทึ่งในแนวคิดนี้จริง ๆ
แอดสารภาพตามตรงว่ามีเวลาไม่มากพอที่จะทำทุกกิจกรรม เพราะแต่ละจุดค่อนข้างใช้เวลา นี่ยังไม่รวมนั่งเรือดูหิ่งห้อยตามคลอง ดำน้ำที่เกาะไข่ และนั่งเรือไปชมถ้ำนะ พูดแล้วก็เสียดาย ถ้ามีโอกาส แอดต้องกลับมาที่นี่อีกรอบแน่ ๆ
.
ที่ตั้ง : ตำบล บางสน อำเภอปะทิว ชุมพร 86160
เวลาเปิด-ปิด : ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เลือก
โทร. : 08 0779 1650, 09 5793 1957