เวลาไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมากจะน้อยเราเป็นต้องได้เห็นเหล่าชนเผ่าที่มีเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า ในแม่ฮ่องสอนมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ถึง 12 กลุ่มด้วยกัน คือ ไทใหญ่ ปกาเกอะญอ ลาหู่แชแล ลาหู่แดง เลอเวือะ ม้ง ลูซู จีนยูนนาน โปว์ กะยัน (กระเหรี่ยงคอยาว) กะยา และปะโอ
.
แน่นอนว่ากลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์และแตกต่าง ถ้าไม่ศึกษาคงไม่รู้ วันนี้แอดมีเกร็ดความรู้เบื้องต้นในการทำความรู้จักกับกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่มที่เพื่อน ๆ น่าจะพอคุ้นหูมาฝากค่ะ
.
1. ชาวไทใหญ่ อาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนมานานกว่า 150 ปี เราพบชาวไทใหญ่ได้ในทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอสบเมย
จุดเด่น
– ประเพณีปอยส่างลอง ปอยเหลินสิบเอ็ด บูชาจองพารา
– ชาวไทใหญ่มักใส่กุ๊บไต หรือหมวกสาน
– อาหารไทใหญ่แสนอร่อย เช่น น้ำพริกถั่วเน่า ข้าวส้ม ข้าวกั๊นจั๊น แกงอุ๊บ ขนมส่วยทะมิน เป็นต้น
.
2. ชาวปกาเกอะญอ เป็นชนกลุ่มหนึ่งในตระกูลกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด อาศัยกระจายตัวอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จุดเด่น
– ผ้าทอกะเหรี่ยง เป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงของชาวปกาเกอะญอ
.
3. ชาวม้ง แต่เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน ต่อมาอพยพมาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย รวมถึงแม่ฮ่องสอน เราพบชาวม้งได้ที่บ้านห้วยมะเขือส้ม อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
จุดเด่น
– ผ้าปักชาวม้งที่มีลวดลายสวยงามและประดับประดาด้วยเครื่องเงิน
– การละเล่นโยนลูกช่วงหรือ “จุเป๊าะ” ของหนุ่มสาวในช่วงงานปีใหม่ม้ง เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน เพื่อมิตรภาพ และยังเป็นการหาคู่ของหนุ่มสาวอีกด้วย
.
4. ชาวจีนยูนนาน โดยทั่วไปเราจะนึกถึงชาวจีนที่มาจากมณฑลยูนนานของประเทศจีน แต่ชาวจีนยูนนานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นชาวจีนยูนนานที่สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวของอดีต “กองกำลังทหารจีนคณะชาติ” ซึ่งเคยเข้ามาตั้งฐานที่มั่นอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย
จุดเด่น
– ชาจีน และอาหารจีนยูนนาน เช่น ขาหมูยูนนาน ทานคู่กับหมั่นโถวร้อนๆ ผัดยอดลันเตา หมูพันปี และลาบยูนนาน เป็นต้น ใครอยากรู้ว่าอาหารจีนยูนนานจะอร่อยแค่ไหน ต้องไปเที่ยวที่หมู่บ้านสันติชล อำเภอปาย
.
5. ลาหู่แชแล หรือลาหู่ดำ เป็นชนกลุ่มหนึ่งในตระกูลลาหู่ เราจะพบชาวลาหู่แชแลได้ที่บ้านจ่าโบ่ บ้านบ่อไคร้ และบ้านลุกข้าวหลาม ในอำเภอปางมะผ้า
จุดเด่น
– การเต้นจะคึ ชาวลาหู่แชแลนับถือจิตวิญญาณและผีบรรพบุรุษ มีประเพณีทำบุญ ไหว้ผีบรรพบุรุษ และประเพณีปีใหม่ลาหู่ ซึ่งในพิธีต่างๆ จะมีการเต้นจะคึ เพื่อสร้างขวัญกำลัง
– เครื่องดนตรี “แคนน้ำเต้า” ชาวลาหู่เชื่อว่าตัวเองถือกำเนิดมาจากน้ำเต้า เครื่องดนตรีอย่างแคนจึงมีน้ำเต้าเป็นองค์ประกอบหลัก
.
แอดหวังว่าเพื่อนๆ จะรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และถ้ามีโอกาสไปเที่ยวจังหวัด #แม่ฮ่องสอน ลองไปเที่ยวชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดูนะคะ จะได้เที่ยวแม่ฮ่องสอนได้อย่างสนุกและมีความรู้มากยิ่งขึ้นค่ะ