สาย Unseen – นั่งเรือพายไปไหว้พระโบราณ กลางกว๊านพะเยา
.
บางคนอาจไม่เคยรู้ว่ากว๊านพะเยามีวัดเก่าแก่ตั้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งเป็นอันซีนติดอันดับต้นๆ ของประเทศ! ชื่อของวัดกลางน้ำแห่งนี้ก็คือวัดติโลกอาราม วัดแห่งนี้ถูกค้นพบซากและหลักฐานจากการสำรวจน้ำในปี พ.ศ. 2550 ทางจังหวัดจึงอัญเชิญพระพุทธรูปหินทราย หลวงพ่อศิลากว๊านพะเยา ซึ่งเป็นพระพุทธโบราณปางมารวิชัยที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 มาประดิษฐานไว้คู่กัน
.
ความสนุกของการไปไหว้พระที่วัดติโลกอาราม คือต้องข้ามเรือแจวกับคุณลุง ราคาคนละ 30 บาท ชมวิวกว๊านแบบใกล้ชิดไปพลาง ฟังประวัติเมืองจากลุงไปพลาง ไปถึงตรงกลางก็จะได้สักการะ ได้ปล่อยปลา และพอหันกลับมาจากเกาะเล็กๆ แห่งนี้จะเจอกับวิวเมืองพะเยาจากอีกด้านหนึ่งที่ได้อารมณ์น่ารักไปอีกแบบ
.
กระซิบก่อนว่าถ้าอยากไปตอนโฮไลต์ ให้ไปช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะจะมีการเวียนเทียนทางน้ำ (พายเรือเวียนเทียน) ที่เดียวในโลกด้วยนะ
สายความเชื่อ – ไปสักการะพญานาค ที่กว๊านพะเยา
.
กว๊านพะเยาอาจจะเป็นแลนด์มาร์กชื่อดังในสายตาของนักท่องเที่ยว แต่สำหรับคนพะเยาเองนั้นผูกพันกับกว๊านแห่งนี้ เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำสำคัญ เป็นพื้นที่หย่อนใจ และยังมีความเชื่อเรื่องพญานาคอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อกันว่าที่กว๊านแห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่ของพญานาคจอมกร่างตนหนึ่งชื่อว่า พญาธุมะสิกขี ซึ่งภายหลังยอมกำราบลงเมื่อได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า จึงกลายมาเป็นผู้มอบทองคำให้สร้างพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งก็คือ ‘พระเจ้าตนหลวง’ ในวัดศรีโคมคำ ที่อยู่ไม่ไกลจากกว๊านพะเยานั่นเอง ด้วยตำนานความเชื่อนี้ทำให้มีการสร้างรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่เป็นจุดเด่นกลางกว๊านพะเยาอย่างที่เราเห็น และก็มีการทำพิธีสืบชะตากว๊านพะเยา (พิธีแบบล้านนา) ทุกปีเพราะเชื่อว่าพญานาคเป็นผู้ปกปักรักษากว๊าน
.
สำหรับนักท่องเที่ยวสายความเชื่อ การได้ไปสักการะและถ่ายภาพพญานาคกลางกว๊านพะเยานั้นเป็นอะไรที่คุ้มค่า หรือจะลองขอโชคกับปู่พญานาคตามชาวบ้านที่นี่ดู โดยเฉพาะในช่วงใกล้หวยออก ชาวบ้านก็จะพากันไปขอโชคกับปู่พญานาคที่ตั้งอยู่ตรงท่าเรือโบราณไม่ไกลจากรูปปั้น โชคดีอาจเป็นของคุณก็ได้นะ
สายลองของ – ลองกินกุ้งเต้น ริมกว๊านพะเยา
.
ถ้ามากว๊านพะเยาแล้วไม่ได้กิน ‘กุ้งเต้น’ ก็เท่ากับมาไม่ถึง!
.
กุ้งเต้น คือเมนูที่ต้องมีของเหล่าแม่ค้าพ่อค้าไปจนถึงร้านอาหารริมกว๊าน จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากเดิมที่ผู้คนรอบกว๊านทำการประมงเพื่อเลี้ยงปากท้องและค้าขาย จับปลาจับกุ้ง รวมไปถึงกุ้งฝอยตัวจิ๋วๆ ซึ่งกลายมาเป็นเมนูประจำกว๊าน แม้ปัจจุบันจะไม่มีการจับกุ้งฝอยจากกว๊านแล้ว เปลี่ยนไปรับจากแหล่งน้ำจืดไหลนิ่งในละแวกแทน แต่ก็ยังเป็นเมนูฮิตที่ไปถึงยังไงก็ต้องเจอ และต้องลองให้ได้สักครั้งในชีวิต
.
ความพีคของเมนูนี้ คือการเอากุ้งเป็นๆ มาปรุงด้วยพริกป่น มะนาว ข้าวคั่ว น้ำปลา คลุกเคล้ากับผักสมุนไพร แล้วปิดฝาเสิร์ฟเลยทันที นั่นแปลว่ากุ้งที่มาในชามนั้นยังกระโดดอยู่ เวลาจะกินเข้าไปก็ต้องรีบตักใส่ปากให้ทันก่อนกุ้งน้อยจะกระโดดหนี ใครเป็นนักเที่ยวสายลองของ ถ้าไปทั้งทีก็ต้องไปลองให้รู้!
สายศิลป์ – ไปชมศิลปะวิถีพุทธบนเขา ที่วัดอนาลโย
.
เวลาเข้าวัดเมืองเหนือ เรามักนึกภาพวัดแบบล้านนา แต่ที่วัดอนาลโยแห่งนี้กลับแตกต่างไป เพราะเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปยุคสุโขทัยที่งดงาม รวมถึงพระพุทธรูปอีกหลากหลายปาง และยังเป็นสำนักสงฆ์ที่ร่มรื่น บวกกับการที่ตัววัดตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม ระหว่างทางเดินขึ้นไปมีจุดให้แวะชมและสักการะท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยต้นไม้และแสงแดดส่องเป็นระยะ ยิ่งทำให้เกิดความสงบใจอย่างประหลาด
.
ด้านบนสุดเป็นหอพระแก้วมรกตจำลองและยังมีจุดชมวิวของเมืองพะเยาที่สวยงาม เรียกว่างานนี้นักเที่ยวสายศิลป์ถ้าเดินขึ้นไปถึงยอดก็จะได้ชมความงามถึงสองต่อ ขอบอกว่าฟินแน่นอน
สายเขียว – เก็บผักกิน+นอนโฮมสเตย์ชุมชน ที่บ้านต้นเต๊า
.
มองเผินๆ บ้านต้นเต๊าอาจจะเหมือนคาเฟ่น่ารักทั่วไป แต่ที่จริงแล้วที่นี่เป็นทั้งร้านอาหารและโฮมสเตย์ที่มีแนวคิดดีๆ แฝงอยู่ จุดเริ่มต้นจากการที่เจ้าของบ้านเป็นสถาปนิกชาวพะเยาที่สนใจชุมชนบ้านบัว ซึ่งปลูกข้าวอินทรีย์และมีวิถีพอเพียงเป็นทุนเดิม พอได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำโฮมสเตย์จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านบัว วัตถุดิบในคาเฟ่จึงเป็นการนำผลิตผลในหมู่บ้านมาปรุงอาหาร แถมยังสนับสนุนให้เข้าไปสัมผัสวิถีการทำเกษตรพอเพียงของชุมชนอีกด้วย ทุกวันนี้บ้านต้นเต๊าจึงเปรียบเสมือนห้องรับแขกของชุมชนบ้านบัวไปโดยปริยาย
.
ใครที่เป็นนักเที่ยวสายออร์แกนิกและวิถีชุมชน ต้องไม่พลาดการมาพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้ แม้จะมีห้องพักมีอยู่ 2 ห้อง แต่ที่นี่ก็ยินดีแนะนำโฮมสเตย์อื่นๆ ในชุมชนจริงๆ ให้เราได้เข้าพัก หรือจะแวะมาสนับสนุนอาหารอร่อยจากวัตถุดิบชุมชนก็เชื่อว่าจะได้ความสุขกลับไปไม่แพ้กัน