ใช่…เลย : 10 ที่ต้องห้ามพลาดจังหวัดเลย

10 ที่ต้องห้ามพลาดจังหวัดเลย

 บ้านผีบุ้งเต้า
 พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน
 ต้นเซียงใหญ่ รุกขมรดกเมืองเลย
 พระใหญ่ภูคกงิ้ว
 ภูบ่อบิด
 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
 อำเภอเชียงคาน
 วัดเนรมิตวิปัสสนา
 พระธาตุศรีสองรัก
 อ่างเก็บน้ำห้วยกระทิง

บ้านผีบุ้งเต้า
.
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแอดเอาหน้ากากอะไรมาใส่? สิ่งนี้เค้าเรียกว่า “ผีบุ้งเต้า” เป็นหน้ากากรูปยักษ์ที่ทำจากน้ำเต้านั่นเอง มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ปกติจะใช้แขวนบนหัวทุง (หรือตุง) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธนาวาบรรพต พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่บนยอดภูเรือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
.
น้ำเต้า หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความร่ำรวย
ยักษ์ หมายถึง ทวารบาล ผู้ป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในเขตพุทธสถาน 
ทุง หรือ ตุง หมายถึง ความสำเร็จและชัยชนะ
.
ซึ่งหน้ากากผีบุ้งเต้านี้เกิดจากความคิดของครูวัชรินทร์ อาจสมบาล ครูหนุ่มชาวบ้านไฮตาก ที่นำลูกน้ำเต้ามาประยุกต์ทำเป็นหน้ากากนั่นเอง นอกจากจะใช้แขวนบนหัวทุงแล้ว ยังนำมาใส่เล่นน่ารักๆ ได้อีกด้วย

ที่นี่มีกิจกรรมให้ลองวาดหน้ากากผีบุ้งเต้าด้วยนะ อันใหญ่ 250 บาท อันเล็ก (โมบายแขวน) 100 บาท ใช้เวลาทำประมาณ 2 ชั่วโมง เหมือนจะนาน แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ทำงานศิลปะแบบแอด 2 ชั่วโมงนี่แหละ กำลังดี 
.
ถ้าใครไม่ถนัดวาดหน้ากากเอง ที่นี่เขาก็มีขาย อันใหญ่ 350 บาท อันเล็ก 150 บาท
.
ที่ตั้ง : บ้านไฮตาก ต.ลาดค่าง อ.ภูเรือ จ.เลย
โทร. 088 300 8048 (คุณจุ๋ม), 098 6616 764

พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน
.
ผีตาโขน เป็นการละเล่นประจำจังหวัดเลยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถ้าอยากรู้ประวัติของผีตาโขน ต้องไปที่ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย ที่นี่จะมีน้องๆ มัคคุเทศก์คอยนำชมและให้ความรู้เกี่ยวกับผีตาโขน รวมทั้งเรื่องราวในหลายๆ แง่มุมของจังหวัดเลย ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือวัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังสามารถลองวาดหน้ากากผีตาโขนจิ๋วตามสไตล์ที่เราชอบได้ด้วยนะ โดยวัสดุที่นำมาใช้ เป็นผ้ากาวที่หาซื้อได้ไม่ยาก นำมาตัดให้เป็นรูปหน้ากาก แล้วใช้สีโปสเตอร์ระบาย ใช้เวลาทำประมาณ 45 นาทีก็เสร็จแล้ว 
.
ค่าใช้จ่ายในการวาดหน้ากากผีตาโขน ราคากลุ่มละประมาณ 200 บาท (ราคาจะแตกต่างกันไปตามจำนวนคน แนะนำให้โทรสอบถามล่วงหน้า)
.
ที่ตั้ง : วัดโพนชัย ถ.แก้วอาสา ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
โทร. 042 891 094 (กศน.ด่านซ้าย)

ต้นเซียงใหญ่ รุกขมรดกเมืองเลย
.
เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองเลย มีอายุประมาณ 200 ปี ตั้งอยู่ในป่าชุมชนของวัดสีลธราราม มีเส้นรอบวงประมาณ 22 เมตร หรือขนาด 17 คนโอบเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังได้รับการขึ้นบัญชีให้เป็น “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” อีกด้วย
.
ที่ตั้ง : วัดป่าวิเวกบำเพ็ญ ต.ชัยพฤกษ์ อ.เมือง จ.เลย
พิกัด : https://goo.gl/maps/KUpfHLn9dizk7epb8

พระใหญ่ภูคกงิ้ว หรือ พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์
.
เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาภูคกงิ้ว ซึ่งเป็นบริเวณที่ปากลำน้ำเหืองจรดกับแม่น้ำโขง และยังเป็นจุดแรกของภาคอีสานที่แม่น้ำโขงไหลผ่านอีกด้วย
.
จากจุดนี้เราสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ ซึ่งปัจจุบันมีการสร้าง sky walk เป็นทางเดินกระจกสำหรับชมวิว คาดว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการได้ปลายปีนี้ 
.
ที่ตั้ง : บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย

ภูบ่อบิด
.
เป็นจุดชมวิวที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเลยเพียง 5 กิโลเมตร เดินทางไปง่าย และใช้เวลาไม่นานในการขึ้นไปถึงยอดภู แม้เส้นทางเดินขึ้นจะค่อนข้างลาดชัน แต่ก็มีราวจับให้ตลอดแนว และถ้าใครกลัวเหนื่อย ระหว่างทางขึ้นยอดภูยังมีถ้ำให้แวะชมและแวะพักด้วย
.
การขึ้นภูบ่อบิดมี 2 วิธี คือ

1. เดินขึ้น ระยะทาง 670 เมตร

2. ใช้บริการรถกระบะ ซึ่งจะจอดบริเวณจุดชมวิวที่ 1 จากนั้นต้องเดินขึ้นไปอีก 200 เมตร (ค่าบริการรถกระบะ ไป-กลับ คนละ 40 บาท)

บนยอดภูมีจุดชมวิว 2 จุด คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งจุดชมวิวทิศตะวันตกนอกจากจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกแล้ว ยังสามารถมองเห็นวิวภูป่าเปาะ ภูกระดึง ภูหลวง และถ้ามาหน้าหนาวยังจะได้เห็นทะเลหมอกสุดอลังการด้วย
.
ที่ตั้ง : ถ.เลย-นาด้วง ต.ชัยพฤกษ์ อ.เมือง จ.เลย
เปิดทุกวัน เวลา 05.00 – 18.00 น.
โทร. 089 620 1373 (ลุงแว่น รถกระบะขึ้นภู)

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
.
ภูสุดฮิตที่ใครๆ ก็อยากมาพิชิต ถือเป็นภูสำหรับคนที่เริ่มเดินป่าเลยก็ว่าได้ ที่นี่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศและภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งทุ่งหญ้า ป่าดิบ ป่าสนเขา มีต้นเมเปิ้ลที่สวยงามหลายชนิด น้ำตก และหน้าผาชมวิว
.
ภูกระดึงเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นสำรวจธรรมชาติระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคมของทุกปี และจะปิดช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู
.
ที่ตั้ง : บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย
เปิดให้ขึ้นภูกระดึง เวลา 07.00 – 14.00 น.
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทร. 042 810 833

อำเภอเชียงคาน
.
อำเภอเล็กๆ เงียบสงบริมฝั่งโขง มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย เช่น แก่งคุดคู้ วัดศรีคุณเมือง พระพุทธบาทภูควายเงิน ภูทอก หาดนางคอย ถนนคนเดินเชียงคาน ฯลฯ
.
ถ้าใครมีโอกาสต้องลองมาพักผ่อนที่เชียงคาน และชมพระอาทิตย์ตกริมฝั่งโขง บอกเลยว่าฟินสุดๆ
.
อ่านรีวิว “เชียงคานเที่ยวยาวๆ เช้ายันค่ำ” ได้ที่ >> https://www.facebook.com/TATContactcenter/posts/2892305994174795

วัดเนรมิตวิปัสสนา
.
ตั้งอยู่ในอำเภอด่านซ้าย สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดล้วนแล้วแต่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งสิ้น ที่สำคัญได้แก่
.
มณฑปพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ ภายในมีหุ่นขี้ผึ้งของพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ หรือหลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ ผู้ริเริ่มสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น และยังมีสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อ ให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้อีกด้วย

พระอุโบสถ ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม มีภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ และมีพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานเป็นพระประธาน
.
ที่ตั้ง : 20 หมู่ 14 บ้านหัวนายูง ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เปิดทุกวัน เวลา 07.00 – 18.00 น.
โทร. 042 891 226, 086 852 5950

พระธาตุศรีสองรัก
.
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหมัน อ.ด่านซ้าย องค์พระธาตุเป็นศิลปะแบบล้านช้าง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นมิตรไมตรีกันระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะทิเบตประดิษฐานอยู่อีกด้วย
.
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมาสักการะพระธาตุศรีสองรักก็คือ ห้ามนำทุกอย่างที่เป็นสีแดงขึ้นไปบนพระธาตุ เพราะพระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี แต่สีแดงนั้นเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง
.
ที่ตั้ง : ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.30 น.

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานตอนบน และห้วยกระทิง
.
เป็นอ่างเก็บน้ำสันเขื่อนดิน สร้างขึ้นเพื่อการชลประทาน อยู่ในความดูแลของวนอุทยานหริรักษ์
.
กิจกรรมสุดฮิตของที่นี่ก็คือ การมาล่องแพพักผ่อนพร้อมรับประทานอาหาร ซึ่งที่นี่มีแพของชาวบ้านให้บริการกว่า 200 แพ ค่าบริการล่องแพอยู่ที่ 200-400 บาท
.
ที่ตั้ง : ต.กกทอง อ.เมือง จ.เลย
เปิดทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น.
กลุ่มแพแม่บ้านห้วยกระทิง โทร. 087 2230 785, 080 7600 374
แพเพื่อนพ้อง โทร. 089 964 3938

เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 30 สิงหาคม 2562

Scroll to Top