ปูทูลกระหม่อม..ปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยที่สุดของประเทศไทย
ป่าดูนลำพัน มีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ เมื่อครั้งอดีตเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนละแวกใกล้เคียง จนกระทั่งมีการค้นพบปูทูลกระหม่อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมมือกับจังหวัดมหาสารคาม ประกาศให้พื้นที่ป่าดูนลำพัน แหล่งที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวของปูทูลกระหม่อม เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาระบบนิเวศของปูทูลกระหม่อม
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและดูปูทูลกระหม่อม
ปูทูลกระหม่อมจะขุดรูอยู่ในที่ชื้น บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมและมีแสงแดดรำไร ความลึกของรูขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน ปูจะออกหากินในเวลากลางคืน และจะออกมาดักเหยื่อที่บริเวณรอบๆ ปากรูในรัศมีไม่เกิน 1 เมตร โดยอาหารจะเป็นพืชและสัตว์ เช่น เศษใบไม้ ไส้เดือน แมลงชนิดต่างๆ
ปูทูลกระหม่อมจะเริ่มมีการผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ในช่วงฤดูฝน เเละในฤดูผสมพันธุ์สีสันของปูทูลกระหม่อมจะเห็นได้เด่นชัดและสวยงามยิ่งขึ้นอีกด้วย
หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 4 เดือน ในช่วงต้นเดือนมกราคม-เมษายน จะเริ่มออกไข่มีสีเหลืองอมส้มคล้ายๆ ไข่ปลาแซลมอน เมื่อไข่แก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเทาจนเกือบดำ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ประมาณปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตัวอ่อนจะติดอยู่ที่หน้าท้องแม่ระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝน ลูกปูถึงจะออกจากท้องแม่และไปขุดรูใหม่อยู่เอง
รูปูทูลกระหม่อม..เคล็ดลับสำหรับคนที่อยากชมปูทูลกระหม่อม ต้องห้ามส่งเสียงดังเพราะปูชอบความเงียบ สามารถนำยอดหญ้ามาแกว่งที่บริเวณปากรูปู ให้เหมือนมีแมลงมาที่ปากรู ปูก็จะออกมาให้ชม แต่ก็ขึ้นอยู่กับดวงด้วยนะจ๊ะ
ปูทูลกระหม่อม ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2536 และในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ และได้รับพระราชทานอนุญาตให้เรียกชื่อปูชนิดนี้ว่า “ปูทูลกระหม่อม” จนถึงปัจจุบัน
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เปิดให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ นอกจากปูทูลกระหม่อมแล้วก็ยังมีสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้อีกด้วย เช่น เพียงพอน กระรอก นกนานาชนิด เป็นต้น