ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาใหญ่” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีความสูงประมาณ 350 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ซึ่งได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น
จากทางเข้าปราสาท จะเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสวรรค์
ถัดเข้ามาคือ สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท
ปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมอยู่ด้านหน้า
จุดเด่นของปราสาทประธาน คือ หน้าบันซึ่งสลักเป็นรูปศิวนาฏราช และทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
หน้าบันรูปศิวนาฏราช (พระศิวะทรงฟ้อนรำ)
ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ (พระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราช)
ภายในปราสาทประธานเป็นห้องโถงเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญที่สุดของปราสาท คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น
ในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี จะเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้ง และในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็จะตกส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน
มีความเชื่อกันว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดผ่านประตูนี้เป็นปรากฏการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นการเสริมพลังชีวิตและความเป็นสิริมงคลของผู้ที่พบเห็น
กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมา แล้วทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนทั้งหมดกลับไปก่อใหม่ที่เดิม
ปราสาทหินพนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4466 6251-2
การเดินทางมายังปราสาทหินพนมรุ้ง : จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) ระยะทาง 50 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 24 ไปอีก 14 กิโลเมตร จนถึงบ้านตะโก จากนั้นเลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2177 ทางไปบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตรงไปอีก 12 กิโลเมตร ถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ระยะทางจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 63 กิโลเมตร