TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ร่วมกับ The Cloud ขอนำเสนอคอลัมน์ Take Me Out ชวนพิสูจน์ความเก๋ไก๋ของ ‘บึงกาฬ’ จังหวัดน้องใหม่ ที่แฝงความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ไม่แพ้จังหวัดพี่ ๆ อย่างแน่นอน ตั้งแต่ล่องเรือผ่านลุ่มแม่น้ำโขง สัมผัสเมืองบึงกาฬเก่า-ใหม่ กิน เที่ยว พัก และเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างครบรส รับรองว่าจะฮักที่นี่หล้ายหลาย
บึงกาฬ คือจังหวัดน้องใหม่ เกิดจากการมัดรวมบรรดา 8 อำเภอน้อยใหญ่ในจังหวัดหนองคาย และยกสถานะขึ้นเป็นจังหวัดลำดับที่ 77 ของประเทศไทย
เวลาเอ่ยถึงจังหวัดนี้คนส่วนใหญ่คงคิดว่ามีอะไร ๆ คล้ายหนองคายไปเสียหมด ตั้งแต่วิถีชุมชน สัมพันธ์ไทย-ลาวเลาะริมโขง อาหารการกิน วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาค ไปจนถึงเกาะแก่งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
หากปรับจูนโฟกัสให้แคบลงเข้าหาบึงกาฬสักนิด แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งหินสามวาฬ ในเขตพื้นที่อนุรักษ์เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ ป่าดงสีชมพู และถ้ำนาคา ในอุทยานแห่งชาติภูลังกา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ก็ฟังดูคุ้นหูผู้คนในปัจจุบันนี้มากขึ้นหน่อย
แต่บึงกาฬที่เรารู้จักไม่ใช่แบบนั้น…
นอกเหนือจากความดีงามที่ว่ามาแล้ว บึงกาฬยังเป็นเมืองซึ่งสอดแทรกความใหม่ร่วมสมัยเข้ากับความเก่าแก่เก๋ไก๋ได้อย่างแนบเนียน เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่โยกย้ายกลับแดนเกิด เปิดกิจการห้างร้านเจ๋ง ๆ เลียบเคียงไปกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบึงกาฬ ชุบชีวิตให้จังหวัดกลับมาคึกคัก เคียงคู่กับวัฒนธรรมดั้งเดิมทรงคุณค่าได้อีกครั้ง
สถานีต่อไป ‘บึงกาฬ’ เก็บสัมภาระให้พร้อมแล้วไปเที่ยวให้ม่วนซื่นนำกันโลด เพราะเราพามาตกหลุมรักจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของไทย ดูทั้งเมืองบึงกาฬเก่า-กาฬใหม่ ที่สอดแทรกความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว เราคัดมาแล้วว่าม้วนแท้แน่นอน
1 พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
พิพิธภัณฑ์บ้านอีสานโบราณอายุ 60 ปีที่พลิกจาก Local สู่เลอค่า
ก้าวแรกที่ย่างกรายเข้าเขตบ้านเก่า ที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ก็หวนให้คิดถึงความทรงจำเมื่อครั้งวัยเยาว์ ผู้เฒ่าผู้แก่ และกลิ่นถ่านไม้ยามนึ่งข้าวเหนียว
พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของ ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังผู้ประสบความสำเร็จในระดับโลก เขาเปลี่ยนบ้านเก่าที่ตัวเองเติบใหญ่มาเป็นพิพิธภัณฑ์กึ่งศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน ต่อยอดความดีงามทุกด้านในหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม อาหารการกิน วิถีชีวิต และความเชื่อเรื่องพญานาค ปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบที่หวือหวาน่าสนใจ สมกับคอนเซ็ปต์ ‘จาก Local สู่เลอค่า’
ห้องหับยังคงจัดวางข้าวของดั้งเดิมไว้อยู่กับที่ ราวกับใช้งานอยู่เป็นนิตย์ สะท้อนชีวิตชาวบึงกาฬขนานแท้
พื้นที่จัดสรรปันส่วนให้เป็นระเบียบน่าชมสมกับเป็นพิพิธภัณฑ์ มีบริเวณกว้างโดยรอบสำหรับทำกิจกรรมที่จะสับเปลี่ยนเวียนหมุนไปตามโอกาส แถมด้วยพญานาค 4 ตระกูลสุดป๊อป สีเขียวตัดม่วงชวนมอง
มื้ออาหารท้องถิ่นเสิร์ฟแบบทันสมัย เครื่องจักสานสะท้อนวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้คือการปรับตัวที่ฟู้ดสไตลิสต์คนเก่งประสานมือกับน้องพี่ในชุมชน
- ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/ac8nDK7i6PpsfNXbA
- เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
- 08 6229 7626
- พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ
2 สตรีทอาร์ตชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่
คืนชีพชุมชนทางผ่านด้วยสตรีตอาร์พญานาคสุดจ๊าบ
มาเพลิดเพลินเจริญตาไปกับสตรีทอาร์ตแห่งหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ เป็นการรวมพลังของคนในชุมชน
นำคติความเชื่อเรื่องพญานาคมาดัดแปลงเป็นตัวการ์ตูนน่ารัก เพนต์ลงบนผนังเหย้าเรือนของพี่น้องชาวขี้เหล็กใหญ่ เพื่อสร้างบรรยากาศชุมชนให้มีชีวิตชีวา อบอวลด้วยมวลแห่งความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนแนวคิดการปรับตัวให้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนไป โดยใช้สตรีทอาร์ตเป็นเครื่องมือสร้างสุข
แนะนำให้เดินทอดน่องลัดเลาะทั่วชุมชนทักทายแม่ป้า ด้วยรอยยิ้มบ้าง เสียงหัวเราะบ้าง คำโอภาปราศรัยจากใจบ้าง และอย่าลืมตามหา Easter Egg ที่ซุกซ่อนอยู่ตามซอกมุมทั่วหมู่บ้านนี้ล่ะ
- ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/ac8nDK7i6PpsfNXbA
3 ศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลโซ่พิสัย
ศิลปะสุดคิวต์แต่งแต้มโรงหมอ ชุบชูจิตใจทั้งคนไข้และญาติ
ถ้าเบื่อบรรยากาศโรงพยาบาลรัฐแบบเดิม ๆ ลองเปลี่ยนมาใช้เวลาที่ ‘โรงพยาบาลโซ่พิสัย’ กันไหม เพราะที่นี่มีงานศิลปะสุดคิวต์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ลบภาพจำโรงพยาบาลรัฐแบบเดิม ๆ จนสิ้น
จากวิสัยทัศน์ของ นายแพทย์สุรพงษ์ ลักษวุธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโซ่พิสัย ที่ตั้งใจเปลี่ยนโรงหมอแห่งนี้เป็นบ้านหลังอบอุ่น ไม่ว่าผู้ป่วยมากน้อยรายไหนได้เข้าเขตแดนนี้มา ล้วนต้องแข็งแรงทั้งกายและใจกลับไป ญาติพี่น้องมาเฝ้าไข้ก็ต้องมีกำลังใจดี
มุมมองนี้เปิดโอกาสให้ โบ-อิสรีย์ ฉัตรดอกไม้ไพร นักเรียนจิตอาสาผู้มาฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ร่วมมือกับขาบ ฟู้ดสไตลิสต์เจ้าถิ่น มาผัดแป้งแปลงโฉม แต่งแต้มสีสันเรื่องราวลงบนผืนผนังทั่วทั้งสถานพยาบาลประจำอำเภออายุ 30 ปี ให้มีชีวิตชีวา
- 143 หมู่ที่ 2 ตำบลโซ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/w59LsSevzHSssuTp9
- เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
- 0 4248 5100
- โรงพยาบาลโซ่พิสัย
4 วัดพระแม่ถวายพระกุมารในวิหาร
โบสถ์คริสต์ริมโขงอายุ 200 ปี ศูนย์รวมจิตใจชาวคริสต์บุ่งคล้า
สองข้างทางในอำเภอบุ่งคล้าเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์สลับกับวัดไทย ผู้คนที่นี่ต่างศาสนาแต่อยู่ร่วมกันด้วยความเคารพอย่างน่าประทับใจ ริมแม่น้ำโขง ใจกลางตัวอำเภอ คือที่ตั้งของโบสถ์คริสต์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี
อาจารย์โชคดี คุณโดน เล่าตำนานว่า ที่นี่เกิดขึ้นจากนักบุญชาวคริสต์ไถ่ตัวข้าไทจากเมืองลาว แล้วข้ามฟากมาตั้งรกรากที่บ้านภูสวาท ทำให้ชาวบ้านศรัทธา พร้อมเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา และกระจายความเชื่อออกไปทั่วบริเวณหมู่บ้าน ประจักษ์หลักฐานคือโบสถ์ตรงหน้า
ลำพังสถาปัตยกรรมอาจบอกเล่าเรื่องราวได้ไม่ชัดเจน แต่หากมาถูกช่วง ตรงกับหน้าเทศกาล จะได้สัมผัสประเพณีชาวคริสต์ โดยเฉพาะเทศกาลอีสเตอร์ ที่จะแห่กันขึ้นเขาไปทำพิธี หรือเทศกาลแห่ดาวในวันคริสต์มาสอีฟ
ไม่ไกลกันมี ‘คักแท๊ะ แสนพันโฮมสเตย์’ ที่พร้อมนำเที่ยวชุมชนบุ่งคล้าระดับมืออาชีพ สัมผัสสินค้าโอทอปท้องถิ่น พร้อมฟังประวัติศาสตร์เล่าขานที่ไม่ได้จดจารึกไว้ที่ไหน แต่มาจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
- วัดพระแม่ถวายพระกุมารในวิหาร
- ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/4wWW1XWhmdUZPLir6
5 กว้างคูณยาว
คาเฟ่ของลูกหลานบึงกาฬที่ตั้งใจให้เป็นแลนด์มาร์กจังหวัด
เขาว่ากันว่า หากคนรุ่นใหม่บึงกาฬกลับมาทุ่มทุนลงมือทำกิจการสักแห่ง ต้องเป็นเพราะความรักล้วน ๆ
กว้างคูณยาว คาเฟ่ของ ธี-พิพัฒน์พงศ์ นาใจปัด ชาวบึงกาฬรุ่นใหม่คือเครื่องยืนยัน อดีตนักเรียนเบเกอรี่จากเลอ กอร์ดอง เบลอ ผู้เริ่มต้นทำร้านกาแฟและขนมหวานที่จังหวัดชลบุรีด้วยความรัก ประสบความสำเร็จมากมายจนต้องขยายสาขา สู่หัวเรี่ยวหัวแรงสร้างสรรค์คาเฟ่แห่งนี้ให้เป็นแลนด์มาร์กท้องถิ่น ให้พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ฝากท้องยามหิว และเติมคาเฟอีนเข้ากระแสเลือดยามบ่าย
ความเด็ดดวงของกว้างคูณยาว นอกจากใช้เมล็ดกาแฟจากโรงคั่วเฉพาะที่ดอยช้าง ซึ่งธีซื้อไว้เพราะหลงใหลกาแฟและใส่ใจวัตถุดิบ ขนมนมเนยทุกชิ้นในร้านก็ล้วนมาจากสูตรลับเฉพาะของธีที่พัฒนาต่อยอดจากสมัยเรียน
หลังจากได้สัมผัสกว้างคูณยาวและสนทนากับธี สัมผัสได้ทันทีว่าความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของกำไรอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของความสุขที่ได้ทำอะไรเพื่อถิ่นเกิดเมืองนอน พร้อมส่งต่อความสุขนั้นผ่านเมนูอาหารที่ทำขึ้นอย่างตั้งใจ
ยุคของบึงกาฬฉบับใหม่น่ารักอุ่นใจไม่แพ้บึงกาฬเวอร์ชันเก่า ๆ เลย
- 220 หมู่ 2 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/vzGPyT3tz3rdoDXn8
- เปิดทุกวัน เวลา 07.00 – 19.00 น.
- 06 2495 3366
- กว้างคูณยาว คาเฟ่
6 กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ (ผ้าขาวม้าดารานาคี)
ผ้าขาวม้าหมักโคลนแม่น้ำโขง ฝีมือแม่ป้าชุมชนบ้านสะง้อ
ดารานาคี ขึ้นชื่อลือชาว่าเด่นดังเรื่องผ้าขาวม้าหมักโคลนย้อมสีธรรมชาติ ช่างงามเฉพาะตัว มาบึงกาฬคราวนี้ หากไม่แวะมาสัมผัสวิถีการทำผ้าขาวม้าแบบดั้งเดิมฉบับชุมชนบ้านสะง้อ แห่งตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ คงน่าเสียดายแย่
แยม-สุพัตรา แสงกอมี ทายาทรุ่นสองผู้เชื่อมสัมพันธ์ชุมชนผ่านแบรนด์ดารานาคี หยิบเอาคำว่า ‘ดารา’ ซึ่งแปลว่าดวงดาว จงใจเปรียบเทียบถึงผ้าขาวม้าที่ลูกอีสานมักพกติดตัวไปที่ไหน ๆ เสมือนดวงดาวที่มองจากที่ใดก็เห็นเด่นชัด รวมกับคำว่า ‘นาคี’ หมายถึงพญานาคศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อร่วมกันของชุมชนริมโขง
ได้ภูมิปัญญาจากรุ่นหนึ่ง แม่สมพร แสงกองมี ประกอบกับแหล่งโคลนเก่าแก่ประจำชุมชน หมักผ้าขาวม้าจนนุ่มนิ่มน่าสัมผัส ย้อมสีธรรมชาติจากวัตถุดิบใกล้ตัว ดอกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ได้ออกมาเป็นเส้นใยคุณภาพดี นำมาถักทอด้วยเทคนิคเฉพาะ เป็นลวดลายทันสมัย 12 รูปแบบ ตั้งแต่ลายเก๋ไก๋ไปจนถึงลายสองฝั่งโขง สวยทนครบจบในผืนเดียว
ปัจจุบันดารานาคีขยับขยายสู่วงกว้าง ต่อยอดผ้าขาวม้าเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์เรียบโก้ น้อยแต่มากที่แท้จริง กระจายรายได้ กระจายรอยยิ้มสู่ชุมชนอย่างถ้วนทั่ว ปรับวิถีบึงกาฬเก่าสู่วงการบึงกาฬใหม่ได้อย่างเฉียบคมแยบคาย
เมื่อใดที่ฤดูฝนสิ้นสุดลง ต้นฝ้ายต่างพร้อมใจผลิดอกออกฝัก ส่งความรักจากผืนดินสู่แม่ป้ามากประสบการณ์ เมื่อนั้น สายใยแห่งการถักทอแปรรูปฝ้ายธรรมชาติเป็นผ้าขาวม้าดารานาคีจึงเริ่มต้นขึ้น
- ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/rYsr5JCYo4PoiWkVA
- เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
- 08 3357 3456
- ดารานาคี
7 Roo-Seuk-Dee cafe&studio
ร้านถ่ายรูปที่ผันตัวเป็นคาเฟ่ แหล่งพลังงานบวกใจกลางบึงกาฬ
Roo-Seuk-Dee cafe&studio คาเฟ่ขนาด 1 คูหาที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยอีก 1 คูหาติดกันกับร้านถ่ายภาพ เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ขลุ่ย-ศิวรักษ์ ปิยจิตรไพรัช ลูกหลานบึงกาฬ
ขลุ่ยเดินทางบนถนนสายวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาได้ไม่นานก็กลับมารับไม้ต่อ แต่วงการถ่ายภาพถูก Disrupt อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขลุ่ยตัดสินใจแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งเปิดบาร์กาแฟขนาดกะทัดรัด
แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ แต่เพราะหลงใหลได้ปลื้ม ขายไปขายมาจนรู้สึกดีเข้าอย่างจัง จึงพัฒนาเป็น Roo-Seuk-Dee cafe&studio คาเฟ่ใจกลางเมืองบึงกาฬ
ขลุ่ยเล่าว่า เขาไม่หยุดพัฒนาร้าน ตั้งใจออกเมนูใหม่ ๆ รายเดือนมาเอาใจลูกค้าเสมอ พิถีพิถันตั้งแต่กระบวนการเลือกวัตถุดิบ หยิบเอาของดีประจำฤดูกาลมาทำเครื่องดื่มแก้วโปรด
อย่างเดือนนี้ ขลุ่ยเสิร์ฟ Bitter Mint อเมริกาโน่สีเข้มผสมความเปรี้ยวหอมจากเปปเปอร์มินต์ไซรัป คมเข้ม เย็นลึก ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
- 312 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
- https://g.page/rooseukdeecafe?share
- เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 08.00 – 18.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00 – 18.00 น.
- 08 7708 1480
- Roo-Seuk-Dee cafe&studio
8 ฮกฟาร์มสเตย์
ฟาร์มของสาวไอทีที่กลับบ้านเกิดมาเป็นเกษตรกร
“ทำไมคนรุ่นก่อนอยู่กันได้โดยไม่ใช้เงิน”
การกลับมาอยู่บ้านใกล้ชิดพ่อแม่ เป็นเหตุผลไม่กี่ข้อที่มีน้ำหนักมากพอจะทำให้ มณ-สุมณฑา สาขาคำ อดีตพนักงานไอทีผู้มีคำถามนี้คาใจ ยูเทิร์นกลับมาสู่แดนดินถิ่นเกิด ลาออกจากงานประจำผันตัวเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่แบบฟูลไทม์
สวนรกชัฏราวกับไม่ได้ตั้งใจปลูก พืชพันธุ์นานาชนิดกระจายตัวอย่างไร้ระเบียบอยู่ทั่วบริเวณ ‘ฮก ฟาร์มสเตย์’ อำเภอเซกา คือเสน่ห์ของฟาร์มชาวบ้านแห่งนี้ มณปล่อยให้ผลหมากรากไม้เติบโตและอยู่ร่วมกันตามธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ปลอดสารเคมี ใครมาเยี่ยมเยือนเดินเด็ดยอดผัก ผลไม้ ได้ตามอิสระไร้กังวล (ระวังก็เพียงหนอนเท่านั้น)
มณเปิดฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับใครที่อยากสัมผัสวิถีเกษตรกรชาวบ้าน มีห้องหับสำหรับอำนวยความสะดวกหากใครต้องการพักค้างอ้างแรม ถ้าอยากเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง มณก็พร้อมบริการจัดหา
- 61 หมู่ 2 อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
- https://g.page/HOK-Farm?share
- เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
- 08 7343 5041
- H OK Farm Stay
9 เกลือบ่อหัวแฮด
บ่อเกลือสินเธาว์อายุ 200 ปีที่ดังไกลระดับโลก
“บึงกาฬมีเกลือสินเธาว์คุณภาพเยี่ยมที่เชฟทั้งไทยเทศต่างยอมรับ”
บ่อเกลือหัวแฮด แหล่งเกลือสินเธาว์ริมแม่น้ำสงคราม เขตรอยต่อบึงกาฬ-สกลนคร ขอชิมลิ้มรสกับลิ้นตัวเอง รสชาติแปลกแตกต่างจนต้องซูฮกให้!
ฤทธิ์-สมฤทธิ์ เจริญชัย ประธานกลุ่มบ่อเกลือหัวแฮดเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนมีโรงต้มเกลือนับร้อย แต่ราคาเกลือสวนทางกับความโลกาภิวัตน์ของโลก ขยับช้าราวกับทากวิ่งตามกระต่าย กิจการตามฤดูกาลอย่างอาชีพต้มเกลือจึงค่อย ๆ บางตาจนน่าใจหาย แม้ไม่วิกฤตถึงขั้นต้องปิดตัวลงทุกราย แต่รายได้ไม่มากพอจะทำให้อยู่ได้ในโลกปัจจุบัน
โรงต้มบ่อเกลือหัวแฮดแต่ละเจ้ายังคงทำงานสเกลเล็กระดับครอบครัว หลังจากดูดขึ้นจากลำน้ำสงคราม พักไว้ คนหนึ่งต้มจนได้ผลึกเม็ดละเอียด คนหนึ่งขมีขมันกรอกลงถุง ช่วยกันขันแข็ง แลกมาด้วยความรักและเอาใจใส่ล้วน ๆ
เราเร่งผลิตสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติไม่ได้ ในเมื่อธรรมชาติให้คุณแก่เรา ก็ไม่ควรนำระบบอุตสาหกรรมมาเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่โบราณ
ฤทธิ์ยืนยันว่าแนวทางของบ่อเกลือหัวแฮดคือพัฒนาขยับขยายตามกำลัง ขับเคลื่อนด้วยความสุขและความหวัง
พลังงานความสุขที่แผ่ถึงผลึกเกลือ สร้างรสกลมกล่อมราวปาฏิหาริย์ที่ผีปู่ผีย่าดลบันดาล ให้รสชาติเกลือดังไกลไปต่างแดน ความพิเศษนี้ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งจากโลกอุตสาหกรรม แต่เป็นไปด้วยความใส่ใจของคนต้มเกลือ
- ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/rFhPc7MNfQ14dQQv9
- เปิดทุกวัน
- 09 8180 7342
10 เซาโฮมสเตย์ เฮือนไทญ้อ
เฮือนไม้โบราณที่ชวนนอนดื่มด่ำวิถีชาวไทญ้อริมโขง
เฮือน แปลว่าบ้าน ไทญ้อ คือชาวลาวเวียงจันทน์ที่อพยพข้ามฟากมาไทย แต่เฮือนไทญ้อแห่งนี้ คือบ้านโบราณที่ พ่อจุล ดอนโสม และ แม่บุญล้ำ ดอนโสม พยายามคงลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะกลุ่มไทยญ้อเอาไว้อย่างครบถ้วน เปิดเป็นโฮมสเตย์ให้แขกได้มาสเตย์โฮมอย่างอบอุ่น นอนสัมผัสวิถีชีวิตไทญ้อ ชุมชนบึงกาฬดั้งเดิมได้เต็มตื่น
นอกจากเรือนไม้สองชั้น อาคารหลักของบริเวณ ยังมียุ้งข้าวโบราณที่ถูกซื้อยกมาทั้งหลัง ทรง ‘ช้างโย้ขี้’ อธิบายลักษณาการลาดเอียงของเสาและอาคารได้เห็นภาพแจ่มแจ้ง อนาคตหมายมาดไว้ให้เป็นนิทรรศการไซส์มินิสำหรับแสดงผลงานศิลปะ
ที่นี่อบอุ่น เป็นกันเอง เราสัมผัสข้อนี้ได้ชัดเจนจนรู้ซึ้ง ไม่ว่าจะทุนต่ำสูงมากน้อยแค่ไหน แต่หากสร้างขึ้นด้วยความสุข และมอบให้ด้วยความสุข ผู้รับก็ยิ่งสุขทวีขึ้นไป ส่งเสน่ห์อันหอมหวานของบึงกาฬฉบับเก่าเข้าเต็มจมูก
- ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
- https://goo.gl/maps/mMfHJMJFk4Y3R9vC9
- เปิดทุกวัน
- 08 2363 331 8
- https://www.facebook.com/บ้านพักเฮือนไทญ้อ-113204640094544
……………………………………
สามารถอ่านทาง Facebook ได้ที่ : https://web.facebook.com/TATContactcenter/posts/5765762426829123