บั้งไฟตะไลล้าน กาฬสินธุ์
.
ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก นับเป็นประเพณีบุญทางอีสานที่โดดเด่นเป็นลำดับต้น ๆ นิยมจัดก่อนเริ่มฤดูทำนา เพื่อบูชาเทวดาและขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ปัจจุบันชาวอีสานก็ยังคงอนุรักษ์ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้สืบกันมา
.
วันนี้แอดมีเรื่องราวของบั้งไฟที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครมาฝากเป็นความรู้ นั่นคือ “บั้งไฟตะไลล้าน” ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บอกเลยว่าชมได้ที่นี่ที่เดียวในเมืองไทยค่ะ
ความแตกต่างระหว่างบั้งไฟตะไลกับบั้งไฟทั่วไป
– บั้งไฟหาง ตัวบั้งไฟใช้ท่อเหล็กแบบตรงยาว เวลาจุดบั้งจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าแบบขึ้นตรง
– บั้งไฟตะไล ใช้ท่อเหล็กเช่นเดียวกับบั้งไฟหาง แต่จะมีรูปทรงเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน ใช้ไม้ไผ่บาง ๆ แบน ๆ ทำเป็นวงกลมครอบหัวท้ายบั้งไฟ เวลาจุด บั้งไฟจะหมุนขึ้นสู่ท้องฟ้า
.
ขนาดของตะไลก็มีหลายขนาด เดิมทีมีเพียงแค่การจุด “บั้งไฟตะไลหมื่น” ต่อมาขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็น “บั้งไฟตะไลแสน” และใหญ่ขึ้นไปอีกคือ “บั้งไฟตะไลล้าน” ไปจนถึงสิบล้านกันเลยทีเดียว ขับเคลื่อนด้วยปริมาณดินปืนจำนวนมาก ยิ่งบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำยากเท่านั้น เพราะจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ
การแข่งขันจุดบั้งไฟตะไลจะวัดกันที่ “ความสูง” โดยจับเวลาตั้งแต่บั้งไฟตะไลลอยขึ้นจากพื้นจนกระทั่งตกลงสู่พื้นอีกครั้ง บั้งไฟตะไลของทีมไหนทำเวลาอยู่ในอากาศได้นานที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ
.
ปกติแล้วงานบั้งไฟตะไลล้าน จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ปีนี้แอดขอแชร์เรื่องราวดี ๆ ของบั้งไฟตะไลล้านให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันก่อน หากสถานการณ์คลี่คลายกลับมาเป็นปกติ หาโอกาสไปเที่ยวชมกันนะคะ