วันนี้แอดจะพาเพื่อนๆ ไปชมความงดงามของพระราชวังทั้ง 3 แห่งในจังหวัดเพชรบุรีกัน
– พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน
– พระนครคีรี (เขาวัง)
– พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน
ที่ตั้ง : ถนนราชดำริห์ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
โทร. 032 242 8506-10 ต่อ 259
.
พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน เป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับแรมในฤดูฝน ออกแบบโดยนายคาร์ล ดอห์ริง ชาวเยอรมัน แต่สร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2459
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่นี่เคยใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นที่ตั้งโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม และโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลด้วย
มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป 2 ชั้น หลังคาด้านเหนือเป็นทรงโดม ส่วนยอดตรงกลางคล้ายหอคอย มีสนาม (court) อยู่ภายใน ซึ่งเดิมเป็นสนามแบดมินตัน แต่ภายหลังได้ปรับปรุงให้เป็นสวนหย่อมที่มีน้ำพุอยู่ตรงกลาง
ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ รวม 44 ห้อง ได้แก่ ท้องพระโรงกลาง ห้องเสวย ห้องบรรทมพระเจ้าอยู่หัว ห้องบรรทมพระราชินี และห้องทรงพระอักษร เป็นต้น
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
ที่ตั้ง : ถนนคีรีรัถยา ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า ค่าบริการไป-กลับ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี) 15 บาท
โทร. 032 425 600, 032 428 539
.
พระนครคีรี หรือ เขาวัง เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอด ที่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาสมน”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนภูเขาแห่งนี้ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2403 พระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “เขาวัง”
พระนครคีรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิคผสมกับสถาปัตยกรรมจีน
สถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่
– วัดมหาสมณาราม ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาด้านทิศตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะขึ้นใหม่ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยนั้น
– วัดพระแก้วน้อย เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านทิศตะวันออก ภายในมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้แก่ อุโบสถขนาดเล็กประดับด้วยหินอ่อน พระสุทธเสลเจดีย์ เจดีย์หินอ่อนสีเทาอมเขียว และพระปรางค์แดง ปรางค์ที่ตั้งแต่ชั้นเรือนธาตุขึ้นไปมีลักษณะโปร่ง ต่างจากปรางค์ทั่วไป
– พระธาตุจอมเพชร ตั้งอยู่บนเขายอดกลาง เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาวขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
– พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านทิศตะวันตก บริเวณพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ และพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จะจัดงาน “พระนครคีรี-เมืองเพชร” ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยจะมีการประดับไฟสวยงามตามสถานที่ต่างๆ บนพระนครคีรี มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้าน มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด รวมทั้งสลากกาชาด และที่พลาดไม่ได้คือ การแสดงพลุสุดยิ่งใหญ่ทุกค่ำคืน
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ที่ตั้ง : ค่ายพระรามหก ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
เปิดวันพฤหัสบดี-วันอังคาร (ปิดวันพุธ) เวลา 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท (ชมได้เฉพาะด้านนอก เนื่องจากอาคารกำลังอยู่ระหว่างบูรณะ)
โทร. 032 508 444-5
.
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก เป็นพระราชวังที่ประทับริมทะเลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักที่หาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2466 ที่นี่ได้รับการขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง”
พระราชวังแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมยุโรป คือเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทอง เน้นความเรียบง่ายและโปร่งโล่ง เพื่อให้เข้ากับสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศของชายทะเล
ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 3 หมู่ ได้แก่ หมู่พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ หมู่พระที่นั่งสมุทพิมาน และหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร รวมทั้งหมด 16 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินมีหลังคา
นอกจากนี้ ในบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันยังมีสวนที่สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ สวนเวนิสวานิช สวนศกุนตลา สวนมัทนะพาธา และสวนวิวาห์พระสมุทร อีกด้วย
เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 22 มิถุนายน 2562