งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 13

หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี

กลุ่มผู้สานต่อลมหายใจ การแสดงหนังใหญ่ที่วัดขนอน ร่วมกันสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ โดยนักแสดงผู้เชิด ผู้เขียนบท ผู้พากย์บท และนักดนตรีไทยทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน ซึ่งมีรุ่นพี่และคุณครูผู้ฝึกสอนเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาและร่วมแสดงด้วย

ปัจจุบันวัดขนอนมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ไว้อยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งหมดยังคงอยู่ในสภาพดี ถึงแม้ว่าแต่ละตัวจะมีอายุกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่แห่งนี้เป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงศิลปะหนังใหญ่ โดยทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยกันอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ และสืบทอดมรดกเหล่านี้เอาไว้

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-17.00 น.

หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงโดยใช้ตัวหนังขนาดใหญ่ที่ทำมาจากหนังวัวหรือหนังควายดิบตากแห้ง จากนั้นนำไปขึงลงในกรอบให้ตึง แล้วฉลุแผ่นหนังเป็นรูปตัวละครต่างๆ มีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้าง เพื่อทำให้ตัวหนังตั้งตรงไม่งอ และทำเป็นด้ามจับสำหรับเชิดในการแสดง ฉากหลังใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ส่วนด้านหลังจอจะก่อกองไฟไว้ แสงจากกองไฟด้านหลังจะส่องผ่านตัวหนังทำให้เห็นลวดลายที่ฉลุเป็นตัวละครต่างๆ ส่วนคนเชิดจะรำและทำท่าทางประกอบกับอารมณ์ของตัวละครในแต่ละฉาก ตามจังหวะดนตรีและบทพากย์

หนังใหญ่เป็นการแสดงที่รวบรวมศิลปะไว้ด้วยกันถึง 5 ประเภท คือ

1. ด้านหัตถศิลป์ การแกะตัวหนังที่ผู้แกะต้องฝึกฝนจนชำนาญในการแกะลายบนแผ่นหนังเป็นตัวละครและฉากต่างๆได้อย่างเหมาะสม

2. ด้านนาฏศิลป์ ผู้เชิดเปรียบเหมือนกับผู้สร้างชีวิตให้กับตัวหนัง ทักษะด้านนาฏศิลป์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เชิดต้องรู้จักดนตรีไทยและผ่านการฝึกฝนท่าทางในการเดิน การเต้น การโยกตัว การเชิดตัวหนังให้เข้ากับจังหวะของดนตรีและเรื่องราวตามบทพากย์ เพื่อเร้าอารมณ์ผู้ชมให้คล้อยตามไปกับการแสดงในแต่ละฉาก

3. ด้านวรรณศิลป์ เป็นบทพากย์ประกอบการแสดง โดยบทพากย์จะมีทั้งในส่วนที่เป็นบทเล่าเรื่อง บทพูดของตัวละครแต่ละตัว และบทสนทนาในแต่ละฉาก

4. ด้านวาทศิลป์ คือน้ำเสียงของผู้พากย์ ที่จะแสดงถึงอารมณ์ของตัวละครในแต่ละฉาก น้ำเสียงของผู้พากย์จะสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

5. ด้านดุริยางคศิลป์ คือดนตรีประกอบการแสดง 

หนังใหญ่ถือเป็นต้นแบบของการแสดงโขน ซึ่งการแสดงโขนได้การพากย์ การขับร้อง และการรำมาจากหนังใหญ่ แต่โขนจะพัฒนาให้คนแสดงแต่งตัวใส่ชุด ใส่หัวโขนเป็นตัวละครต่างๆ และเพิ่มฉากการต่อสู้โดยใช้ศิลปะการต่อสู้แบบกระบี่กระบองเข้ามาประกอบการแสดงด้วย

ในส่วนของการแสดงเชิดหนังใหญ่ ทางวัดจะจัดแสดงทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-11.00 น.

Scroll to Top