พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อยู่ริมถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรี สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกสวยงาม
ภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวเมืองราชบุรีในด้านธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ร่องรอยอารยธรรม และความหลากหลายชาติพันธุ์และกลุ่มชนที่สุดแห่งหนึ่ง เช่น ลาวโซ่ง
กะเหรี่ยง และไทย-ยวน รวมทั้งงานหัตถกรรมศิลปะพื้นบ้าน เช่น เครื่องปั้นดินเผาเครื่องหล่อ ผ้าทอ
ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จัดแสดงเป็นห้องในช่วงยุคสมัยต่าง ๆ ประกอบด้วย
ห้องที่ 1 ธรณีวิทยา แหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภทดิน หิน แร่ และตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ หิน แร่ อัญมณี จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีกำเนิด ในจังหวัดราชบุรี และรูปจำลองภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรี
ห้องที่ 2 ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคแรก ๆ ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในจังหวัดราชบุรี โดยโบราณวัตถุที่พบในจังหวัด เช่น เครื่องมือหิน
ภาชนะดินเผา เครื่องประดับจากหินสี และโลหะ และโครงกระดูกมนุษย์
ห้องที่ 3 สมัยทวารวดี ร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 เมืองโบราณคูบัว และทิวเขางู
ห้องที่ 4 สมัยลพบุรี พบหลักฐานศิลปวัฒนธรรมเขมร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-19 หลักฐานทางด้านโบราณคดี เช่น พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองโบราณโกสินารายณ์ ในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมี เป็นโบราณวัตถุที่โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์ พบที่บริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ อันเป็นจำนวน 1 ใน 5 องค์ ซึ่งพบในดินแดนประเทศไทย
ห้องที่ 5 สมัยอยุธยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-24 ชื่อเมืองราชบุรีมีปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 เป็นเมืองท่าสำคัญด้านตะวันตก และเมืองหน้าด่านปราการชั้นในของกรุงศรีอยุธยา เป็นสมรภูมิรบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในห้องนี้จัดทำฉากจำลองโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่าง ๆ ที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลอง
ห้องที่ 6 สมัยรัตนโกสินทร์ เรื่องราวในช่วง พ.ศ. 2325-2485 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรีซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบรมราชจักรีวงศ์ในด้านต่างๆ เช่น การเมือง การปกครอง สังคมเศรษฐกิจ การพัฒนาท้องถิ่น และกิจการเสือป่า และมีพระแสงราชศาสตราประจำมณฑลราชบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์แก่ราษฎรจังหวัดราชบุรี และภาพถ่ายเก่าจังหวัดราชบุรีสมัยรัชกาลที่ 5-6
ห้องที่ 7 ราชบุรีในวันนี้ จัดแสดงสภาพในปัจจุบันของจังหวัดราชบุรี ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ ประชากร การประกอบอาชีพ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติ งานศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรี
ห้องที่ 8 วัฒนธรรมพื้นบ้าน จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญของชนกลุ่มต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในจังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่ง ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และชาวไทยเชื้อสายไทยวน โดยนำลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนมาจัดแสดง ได้แก่ ภาพถ่ายสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในพิธี เซ่น ผีเฮือน
ของชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่ง หุ่นจำลองบ้านเรือนพักอาศัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เครื่องมือเครื่องใช้ ผ้าซิ่นตีนจก ลวดลายต่างๆ ทอมาแต่โบราณของชาวไทยเชื้อสายไทยวน
ห้องที่ 9 จัดแสดงผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิตโอ่งมังกร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สัญลักษณ์สำคัญ และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของเมืองราชบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ห้องที่ 10 จัดแสดงเรื่องราวของนักกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้จังหวัดราชบุรีและประเทศไทย ในการแข่งขันกีฬาประเภทและระดับต่าง ๆ โดยสื่อในการจัดแสดงเป็นรางวัลที่นักกีฬาได้รับ เช่น โล่และถ้วยเกียรติยศ เหรียญรางวัล และธงกีฬา รวมทั้งภาพถ่ายกิจกรรมการกีฬาและนักกีฬาที่มีชื่อเสียง
พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้บริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-วันอังคาร) ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท เด็กไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 30 บาท
สอบถามข้อมูล โทร. 032 321 513, 032 338 964