5 สะพาน เชื่อมวันวานสู่ปัจจุบัน

1.สะพานมอญ จ.กาญจนบุรี

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สะพานอุตตมานุสรณ์” เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวถึง 850 เมตร สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนฝั่งอำเภอสังขละบุรีและฝั่งหมู่บ้านชาวมอญได้เดินข้ามสัญจรไปมา 

ที่นี่เราจะได้สัมผัสทั้งธรรมชาติอันสวยงาม และบรรยากาศวิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญ บริเวณสะพานแห่งนี้เป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม สามารถมองเห็นลำห้วยสายต่างๆ สามารถไปเที่ยวได้ทั้งปี แต่ถ้าไปหน้าหนาวจะได้สัมผัสกับเมฆหมอกขาวละมุนตลอดเส้นสะพานเลยล่ะ

การเดินทาง
จากตัวเมืองกาญจนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 220 กิโลเมตร ก็จะถึง อ.สังขละบุรี
พิกัด : https://goo.gl/maps/hZT34CPPip42

2. สะพานโยง จ.ลำปาง

หรืออีกชื่อคือ สะพานข้ามแม่น้ำงาว เป็น “สะพานแขวนแห่งแรกของประเทศไทย” ที่มีอายุเกือบ 100 ปี อยู่คู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ เริ่มสร้างในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2469 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2471 ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้รถยนต์วิ่งผ่านแล้ว เนื่องจากเป็นสะพานเก่าแก่ แต่ใช้สำหรับให้ประชาชนเดินสัญจรไปมาเท่านั้น

ในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ชาวอำเภองาวและนักท่องเที่ยวจะร่วมกันทำบุญตักบาตรบริเวณสะพานโยงแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเนื่องในวันขึ้นปีใหม่

สำหรับใครที่ชอบความคลาสสิค หรือวินเทจ ต้องไม่พลาดที่จะไปถ่ายรูปกับสะพานโยงนี้ไว้เป็นที่ระลึกซักหน่อย

การเดินทาง
จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปทาง จ.พะเยา เมื่อถึงแยกบ้านทุ่ง ให้เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงสะพานโยง
พิกัด : https://goo.gl/maps/71hTtHwMRcC2

3. สะพานประวัติศาสตร์ (ท่าปาย) จ.แม่ฮ่องสอน

สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์จากไทยไปยังพม่า เดิมเป็นสะพานไม้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เผาสะพานทิ้ง ทำให้ชาวบ้านได้รับความลำบาก จึงได้ร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ขึ้นมาใหม่ ต่อมา พ.ศ.2516 เกิดอุทกภัยทำให้สะพานพังลง ทางอำเภอปายจึงได้ขอเหล็กจากจากสะพานนวรัฐ (ขัวเหล็ก) จ.เชียงใหม่ มาสร้างเป็นสะพานแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้

ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปายแห่งใหม่ขึ้นมาให้รถสัญจร แทนสะพานเก่าที่ได้อนุรักษ์ไว้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รวมทั้งชมวิวลำน้ำปายได้

การเดินทาง
เริ่มต้นเดินทางมา อ.ปาย ตามทางหลวงหมายเลข 1095 จากสามแยกมาลัย ก่อนถึง อ.ปาย 3 กิโลเมตร ด้านขวามือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปายใหม่ ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำปายเก่า (สะพานท่าปาย) ก็จะอยู่ข้างๆ กัน
พิกัด : https://goo.gl/maps/dhYWkbDZVnK2

4. สะพานซูตองเป้ จ.แม่ฮ่องสอน

คำว่า ซูตองเป้ มาจากภาษาไต หมายถึงความสำเร็จ เป็นสะพานไม้ที่ปูด้วยไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวบ้านกุงไม้สัก ที่ต้องการสร้างสะพานข้ามท้องนาและแม่น้ำสะงาเพื่อไปยังสวนธรรมภูสมะ 

ทุกเช้าพระจะเดินจากธรรมภูสมะมาบิณฑบาตรยังหมู่บ้าน โดยจะผ่านสะพานนี้ราว 06.00 น. และกลับราว 07.00-08.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถรอตักบาตรได้ตลอดแนวสะพาน 

เชื่อกันว่าหากเดินไปกลางสะพานแล้วอธิษฐานจะสมหวังอีกด้วยนะ

การเดินทาง
จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 (แม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า) ขับมาประมาณ 10 กิโลเมตรจะถึงแยกบ้านกุงไม้สัก เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านกุงไม้สักอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าหมู่บ้าน ตรงเข้าไปทางขวามือตามถนนในหมู่บ้าน
พิกัด : https://goo.gl/maps/U7rz8JRJ97u

5.สะพานขัวน้อย จ.อุบลราชธานี

เป็นสะพานเชื่อมระหว่างบ้านหนองแคนกับบ้านชีทวน เดิมเป็นคันดิน ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันนำเอาไม้มาทำเป็นสะพาน เพื่อให้เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น และยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับพระสงฆ์เดินบิณฑบาตรอีกด้วย

ภายหลังชาวบ้านได้จัดผ้าป่าสามัคคีสร้างขัวน้อย จนเกิดเป็นสะพานคอนกรีตดังที่เห็นในปัจจุบัน ใครที่ชอบวิวทุ่งนา ทุ่งหญ้าสีเขียวๆ ช่วงนี้ก็กำลังเขียวเต็มที่เลย อย่าพลาดที่จะแวะไปถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกนะ

การเดินทาง
อยู่ห่างจากอำเภอเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางออกมาทางถนนแจ้งสนิท (เส้นอุบล – ยโสธร) ถึง กม.ที่ 23 บ้านท่าวารี จุดสังเกตทางเข้ามาตำบลชีทวน คือ จะอยู่ด้านซ้ายมือ บริเวณทางโค้งพอดี เพราะฉะนั้นแล้วพอขับมาถึงท่าวารี ข้ามสะพานลำเซบายก็ให้ชลอความเร็วแล้วเตรียมตัวเลี้ยวซ้ายได้เลย (ทางลงจะเป็นเนินสูง ถนนลาดยาง) เข้ามาบ้านชีทวน อีก 4.5 กิโลเมตร จะผ่านบ้านหัวดอน บ้านหัวดูน และถึงบ้านชีทวน
พิกัด : https://goo.gl/maps/m29LJPNo49y

Scroll to Top