บ่อยครั้งที่เราเห็นผู้คนทำบุญด้วยความมุ่งหวังพร้อมกับการกราบไหว้บูชา เพื่อให้สมความปราถนา หรือพบกับโชคลาภ ความเจริญรุ่งเรือง และความสำเร็จในทุกๆประการ อันเป็นการเติมเต็มให้ชีวิตกลับมามีความหวัง มีกำลังใจ พร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงอีกครั้ง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก
.
ความเชื่อ ประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางมาสักการะหลวงพ่อใหญ่หรือองค์พระพุทธชินราชด้วยความศรัทธา โดยนับถือกันในด้านความศักดิ์สิทธิ์ และถือกันว่าเป็นมงคลสูงสุดหากได้มากราบชมความงามของหลวงพ่อใหญ่สักครั้งในชีวิต นอกจากนี้ยังนิยมพากันไปไหว้พระเหลือในวิหารเล็ก ด้วยเกร็ดความเชื่อที่มีกันอย่างแพร่หลายว่าจะช่วยส่งเสริมด้านโชคลาภ จะได้มีทรัพย์สินเงินทอง เหลือกินเหลือใช้
.
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหญ่” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปซึ่งได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย นับเป็นศาสนสถานที่สำคัญยิ่ง ทั้งของจังหวัดพิษณุโลกและประเทศไทย
.
นอกจากนี้ยังมีวิหารพระเหลือ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเหลือ” ซึ่งตามประวัตินั้นกล่าวว่าพระยาลิไททรงรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา มารวมกันแล้วหล่อไว้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็กและพระสาวกอีก 2 องค์
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานคร
.
ความเชื่อ เชื่อในหมู่พ่อค้า คหบดี และประชาชนว่า หากมาสักการะพระแก้วมรกตด้วยดอกบัวคู่และธูปเทียนแล้ว ชีวิตจะมีแต่ความรุ่งเรืองมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ เงินทองไหลมาเทมา
.
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เป็นพระอารามประจำพระบรมหาราชวังที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดหลวงที่ไม่มีพระจำพรรษา และยังเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่พระมหากษัตรย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเสด็จมาประกอบพระราชพิธีสำคัญ และบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณีนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
.
ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย นอกจากพระแก้วมรกตแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายที่ทรงคุณค่าความงดงามทั้งทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ให้เราได้เข้าไปสักการะบูชา และชื่นชมในฝีมือของครูแห่งช่างโบราณที่อุทิศผลงานไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาสืบทอดกันมาเป็นมรดกแห่งแผ่นดิน
.
วันและเวลาเปิด-ปิด
เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 – 16.00 น. ผู้ที่จะเข้าไปยังวัด ผู้ชายต้องแต่งกายสุภาพห้ามใส่เสื้อไม่มีแขนและงดใส่กางเกงขาสั้นเหนือเข่า ผู้หญิง ให้ใส่กางเกงหรือกระโปรงทรงสุภาพ กระโปรงต้องยาวคลุมเข่า งดเสื้อแขนกุด
วัดลาดขาม (หลวงพ่อแสนเหรีญ) ต.พนมทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
.
ความเชื่อ กล่าวกันว่า เมื่อได้มากราบไว้อธิษฐานหลวงพ่อแสนเหรียญซึ่งสร้างจากเงินเหรียญที่เป็นมงคล เหมือนกับได้อธิษฐานขอพรแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่ง ร่ำรวยสืบไป
พระพุทธเบญจนวมงคลกาญจน์แห่งวัดลาดขามนั้น เป็นพระพุทธรูปที่เลื่องลือในด้านของความศักดิ์สิทธิ์และความแปลกมหัศจรรย์ เนื่องจากองค์พระปฏิมากรนี้ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากเหรียญเงินตราต่างๆ จำนวนนับแสนเหรีญ ชาวบ้านจึงพากันเรียกท่านว่า “หลวงพ่อแสนเหรียญ” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับ อ.พนมทวน และเป็นที่นับถือศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
.
วัดลาดขาม เป็นวัดที่ก่อสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุนับร้อยปี หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก วัดลาดขามก็กลายเป็นวัดร้างยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัด ต่อมาพระครูปลัดเพลิน เตชธมโม ได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และลงมือบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นมาด้วยแรงสนับสนุนจากผู้มีศรัทธาและชาวบ้านจนกลับมาเป็นศูนย์รวมแห่งพุทธศาสนิกชนใน อ.พนมทวนอีกครั้ง
พระราหู วัดศีรษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
.
ความเชื่อ เชื่อว่าการกราบไหว้ขอพรพระราหูนั้น เป็นการขอพรให้พ้นเคราะห์ต่างๆ และยังดลบันกาลให้เกิดโชคลาภ ช่วยให้การงานเจริญก้าวหน้า และเชื่อว่าพระราหูยังเป็นเทพบูชาประจำตัวเพื่อเสริมบารมีของคนที่เกิดวันพุธกลางคืนอีกด้วย สามารถไหว้พระราหูได้ทุกวัน ยกเว้นวันพระ
.
นับว่าเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในอำเภอนครชัยศรี และวัดแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมของชาวลาวเวียงจันทน์และชุมชนใกล้เคียง เดิมเป็นป่ารกร้าง ต่อมาได้มีชาวลาวจากเวียงจันทร์อพยพมาตั้งถิ่นฐาน แล้วจึงสร้างวัด และได้พบเศียรพระพุทธรูปทองจมดินอยู่ จึงตั้งชื่อว่า “วัดหัวทอง” ภายหลังมีการขุดคลองเจดีย์บูชา ไปยังองค์พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านจึงย้ายมาอยู่ริมคลองเจดีย์บูชา ในการนี้ได้ย้ายวัดมาด้วยเพื่อสะดวกต่อการสัญจร และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศีรษะทอง” จนถึงปัจจุบัน
.
วัดศีรษะทองได้พัฒนาและมีความรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากในสมัยของหลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ อดีตเจ้าอาวาส ท่านเป็นที่รู้จักเพราะเป็นต้นตำรับของการสร้างพระราหูอมจันทร์จากกะลาตาเดียว เครื่องลางที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และได้สร้างชื่อเสียงให้วัดศรีษะทองจนถึงทุกวันนี้
.
ปัจจุบันวัดศีรษะทองได้จัดสร้างพระราหูขนาดใหญ่ไว้ให้ประชาชนได้มาสักการะบูชาตามความเชื่อและความศรัทธาส่วนบุคคล
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี
.
ความเชื่อ เชื่อกันว่าเจ้าแม่นั้นมีอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลาย ดวงวิญญาณของเจ้าแม่จะช่วยดลบันดาลให้การค้าขายนั้น มีอต่ความร่ำรวยละเจริญรุ่งเรือง มีโชคมีลาภ ทำให้มีบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปนิยมมาบวงสรวงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
.
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ในตัวเมืองปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นที่สักการะไม่แต่ชาวปัตตานี รวมถึงชาวจังหวัดใกล้เคียง เช่น สงขลา-ยะลา-นราธิวาส ก็มีความศรัทธาในองค์เจ้าแม่อย่างมาก เนื่องจากมีผู้มาขอพรให้มีโชคลาภก็ได้ผลหรือแม้แต่เรื่องการค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้น จนทำให้เกิดความนับถือศรัทธาอย่างมาก