![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607057923_118973653_4347861491952564_2862907083523423098_o.jpg)
เส้นทางท่องเที่ยวน่าน-แพร่ 3 วัน 2 คืน
วันที่ 1
วัดภูมินทร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ซุ้มลีลาวดี
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
วันที่ 2
วัดพระธาตุแช่แห้ง
วัดหนองบัว
กาแฟบ้านไทลื้อ
ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ
วันที่ 3
พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง
คุ้มวงศ์บุรี
วัดพระธาตุช่อแฮ
วัดพระธาตุดอยเล็ง
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607057969_118935545_4348328725239174_6062881567215665392_o.jpg)
วันที่ 1
สำหรับวันแรกเราเริ่มต้นกันที่จังหวัดน่าน ชวนมาอิ่มบุญ ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตกันก่อน
.
เริ่มที่ “วัดภูมินทร์” วัดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนี่งของจังหวัดน่าน วัดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่เป็นอาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยรวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ไว้ในอาคารเดียวกัน เป็นการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อทางพุทธศาสนา
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607057988_118951178_4353061338099246_6587006861090310459_o.jpg)
ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกัน เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศแล้ว จะเป็นสิริมงคล บุญกุศลจะส่งให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและแคล้วคลาดปลอดภัย
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058002_118987934_4343105472428166_4368960486113882957_o.jpg)
ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ซึ่งเป็นภาพของปู่ม่านย่าม่านหรือสามีภรรยาชาวพม่ากำลังกระซิบสนทนากัน นับเป็นจิตรกรรมที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงที่สุดของวัดภูมินทร์ ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรชาวไทลื้อ
.
ที่ตั้ง : ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-19.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058033_118957375_4343320582406655_7390439867075556879_o.jpg)
ถัดไปไม่ไกลเราแวะชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน” ซึ่งเดิมเป็นหอคำ ที่ประทับและออกว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2446
ถ้าเพื่อน ๆ ยังจำได้ เมื่อก่อนตัวอาคารจะเป็นสีขาว มุงด้วยกระเบื้องสีเขียว แต่ภายหลังได้รับการบูรณะใหม่ ให้ใกล้เคียงกับในสมัยก่อนมากที่สุด ซึ่งจะสังเกตได้ว่านอกจากจะทาสีใหม่แล้ว ส่วนประดับตกแต่งอาคารหลายส่วนก็ยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จัดแสดงเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058085_118996148_4353090894762957_5873015748531676335_o.jpg)
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีมุมยอดฮิตที่ไม่ว่าใครก็ต้องมาแวะถ่ายรูปให้ได้นั่นก็คือ “ซุ้มลีลาวดี” นั่นเอง ซึ่งแอดก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพมาอวดเพื่อน ๆ ด้วย
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058098_118948878_4353230704748976_7616929008817310960_o.jpg)
จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ข้ามถนนมาก็จะเจอกับ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมเรียกว่า “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” เป็นวัดซึ่งเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058113_119003911_4353230768082303_8221372680758129301_o.jpg)
ภายในวัดมีพระวิหารขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน สกุลช่างน่าน
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607058126_119048947_4353230658082314_7721130099566069827_o.jpg)
วัดพระธาตุช้างค้ำ ยังมีสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย นั่นก็คือเจดีย์ช้างล้อม มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีช้างปูนปั้นครึ่งตัวประดับอยู่รอบฐาน ซึ่งคำว่า “ช้างค้ำ” ก็หมายถึงการค้ำจุนพุทธศาสนานั่นเอง
.
ที่ตั้ง : ถนนสุริยพงษ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607062464_119095179_4353299308075449_8770264960303681029_o.jpg)
วันที่ 2
วันนี้เราจะไปสักการะพระธาตุแช่แห้ง ออกเดินทางไปชมภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัว และไปชมวิวทุ่งนาสีเขียวที่อำเภอปัวกัน
“วัดพระธาตุแช่แห้ง” เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นบริเวณศูนย์กลางเมืองน่านเดิม ภายในวัดมีพระธาตุแช่แห้งซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเถาะอีกด้วย เชื่อกันว่าผู้ที่ได้บูชาพระธาตุแช่แห้ง จะได้รับการอุดหนุนค้ำชู มีชื่อเสียง ลาภยศ สรรเสริญ
.
ที่ตั้ง : ตำบลม่วงตื้ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
โทร. 054 601 146
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066108_119053516_4343104845761562_7888212240743053532_o.jpg)
ที่ต่อไปเราไปกันที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา อีกหนึ่งวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว โดดเด่นด้วยวิหารแบบไทลื้อที่ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066135_119066399_4343105512428162_8201677428545491754_o.jpg)
สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวนั้น สันนิษฐานว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานก็คือ หนานบัวผัน เจ้าของภาพปู่ม่านย่าม่านอันเลื่องชื่อที่วัดภูมินทร์นั่นเอง
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066151_119005901_4348328738572506_7647711836179114531_o.jpg)
นอกจากความสวยงามของวัดและภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังมีเรือนไทลื้ออายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน” บริเวณใต้ถุนบ้านจะมีคุณยายมานั่งปั่นฝ้ายและสาธิตการทอผ้าให้ชม เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066165_119100893_4343323345739712_3039218004261447584_o.jpg)
เพื่อน ๆ สามารถมาลองรีดเมล็ดฝ้ายและปั่นฝ้ายได้ด้วยนะคะ มีคุณยายคอยช่วยสอนอยู่อย่างใกล้ชิดเลย
.
ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
เปิดทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066189_119063431_4343105202428193_2216928625318180633_o.jpg)
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066205_119035836_4343337249071655_6109471679496710225_o.jpg)
จากวัดหนองบัวเราเดินทางไปต่อกันที่ “ร้านกาแฟบ้านไทลื้อ” ซึ่งบริการทั้งอาหารพื้นเมืองและเครื่องดื่มเย็น ๆ ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดธรรมชาติสุด ๆ เพราะโดยรอบจะเป็นวิวภูเขาและทุ่งนาสีเขียว ถ่ายรูปมุมไหนก็สวย
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066231_119078648_4343336695738377_2009933153882061300_o.jpg)
มีทางเดินไม้ทอดยาวให้เดินเล่นชมวิวได้รอบเลยแนะนำว่าให้มาตอนเช้าหรือไม่ก็ตอนเย็น ๆ เพราะอากาศจะได้ไม่ร้อนเกินไป
.
ที่ตั้ง : ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
เปิดทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066252_119103261_4343319995740047_5938661213311350684_o.jpg)
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066261_118917362_4343104839094896_4383461657091453131_o.jpg)
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066323_119066408_4343336799071700_5181749457013179086_o.jpg)
หากใครแวะมาอำเภอปัวต้องมาลิ้มลองรสชาติเมนูสารพัดเห็ดที่ “ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ”
ที่นี่เป็นทั้งฟาร์มเห็ดและร้านอาหาร มีที่นั่งให้เลือก 2 โซน โซนร้านอาหารมี 2 ชั้น จะนั่งชั้นล่างหรือชั้นบนก็บอกเลยว่าวิวสวยไม่แพ้กัน
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066340_118867183_4343104832428230_8860217497092662633_o.jpg)
นอกจากนี้ยังมีโซนที่เป็นห้องส่วนตัวด้วย โดยรอบจะเป็นทุ่งนาสีเขียวมีภูเขาล้อมรอบและยังมีหมอกจาง ๆ เรียกว่าบรรยากาศดี๊ดีเลยละ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066362_119140923_4343321879073192_956053248195744312_o.jpg)
นอกจากจะได้ชมวิวสวย ๆ แล้วในเรื่องของอาหารก็ห้ามพลาด เพราะเมนูของที่นี่จะนำเห็ดชนิดต่าง ๆ มาเป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่าเห็ด ยำเห็ด ไข่ป่ามเห็ด เป็นต้น ได้ทั้งความอร่อยแถมยังดีต่อสุขภาพด้วยนะ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066384_119114335_4343321755739871_5111797798958904080_o.jpg)
ยำเห็ด
.
ทานอาหารเสร็จเราก็เดินทางไปยังจังหวัดแพร่และพักค้างคืนกัน เพื่อที่พรุ่งนี้จะได้เริ่มเที่ยวตั้งแต่เช้าเลยค่ะ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066405_119117714_4343321765739870_5603353398238484744_o.jpg)
ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ
ที่ตั้ง : 129 บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
โทร. 081 005 1533
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066444_119087274_4353383991400314_7268734240816549774_o.jpg)
วันที่ 3
วันสุดท้ายเราเริ่มกันที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง” ที่นี่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมยุโรป มีการประดับส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วยไม้ฉลุงดงาม
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066480_119139996_4353423354729711_2193066778841957311_o.jpg)
ตัวอาคารมี 3 ชั้น โดย 2 ชั้นบนจำลองเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องจัดเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งแต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ ส่วนชั้นล่างสุดหรือที่เรียกกันว่าชั้นใต้ดินนั้นแบ่งเป็น 3 ห้อง ได้แก่ ห้องขังผู้ที่ถูกจับกุมเพื่อรอการไต่สวนและลงอาญา ห้องบ่าวไพร่ และห้องเก็บของ ซึ่งบนเพดานของห้องนี้มีช่องที่สามารถเปิดเพื่อใช้ส่งของขึ้นไปด้านบนได้ด้วย
.
ที่ตั้ง : ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
โทร. 054 524 158
เปิดทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066899_119010045_4353417358063644_2080351893229181468_o.jpg)
สถานที่ถัดมาคือ “บ้านวงศ์บุรี” หรือ “คุ้มวงศ์บุรี” สร้างเมื่อ พ.ศ.2440 โดยแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เพื่อใช้เป็นเรือนหอของเจ้าสุนันตาและหลวงพงษ์พิบูลย์ ลักษณะเป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้น รูปแบบไทยล้านนาผสมยุโรป ทาด้วยสีชมพูอ่อน ตกแต่งลวดลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิงโดยรอบอาคาร
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066918_119122942_4353352694736777_6451441870965621395_o.jpg)
ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนให้เราได้ชม ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่นี่ยังรับจัดงานเลี้ยงขันโตกด้วย แต่ต้องติดต่อล่วงหน้านะคะ
.
ที่ตั้ง : ถนนคำลือ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ (ถนนหลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือ ใกล้กับวัดพงษ์สุนันท์)
โทร. 081 883 0546, 054 620 153
เปิดทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม 30 บาท
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066951_119149584_4372500209488692_5499245423537956052_o.jpg)
มาเมืองแพร่ก็ต้องมาสักการะ “พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาลอีกด้วย เชื่อกันว่าอานิสงส์ของการบูชาพระธาตุช่อแฮ จะทำให้ชีวิตมีความผาสุก เจริญรุ่งเรืองในชีวิตและหน้าที่การงาน
สำหรับที่มาของชื่อ “พระธาตุช่อแฮ” นั้น มีหลายตำนานด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่กล่าวว่ามาจากผ้าแพรที่นำมาบูชาพระธาตุ โดยคำว่า “ช่อแฮ” นั้นก็เพี้ยนมาจาก “ช่อแพร” นั่นเอง
องค์พระธาตุเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ศิลปะล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607066976_119168523_4353497958055584_1769649827447163502_o.jpg)
ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อช่อแฮ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดับด้วยเรือนแก้ว ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย
.
ที่ตั้ง : 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607067006_119037957_4353498071388906_8767312709450458236_o.jpg)
ปิดท้ายทริป เราไปกันที่ “วัดพระธาตุดอยเล็ง” ซึ่งอยู่ตั้งอยู่บนดอยเล็ง ห่างจากวัดพระธาตุช่อแฮไปไม่ไกล ภายในวัดมีอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามว่า “หลวงพ่อดอยเล็งศักดิ์สิทธิ์”
นอกจากนี้ยังมีพระธาตุดอยเล็ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่สูงที่สุดของจังหวัดแพร่เลยทีเดียว ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีขึ้นดอยเล็ง เพื่อสักการะองค์พระธาตุและระลึกถึงพระพุทธเจ้า
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/820/1607067022_119005704_4353574871381226_7873342610896569809_o.jpg)
ด้านบนมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นภูมิประเทศของจังหวัดแพร่ได้ถึงสามอำเภอ ได้แก่ อำเภอสูงเม่น อำเภอร้องกวาง และอำเภอเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังเห็นเจดีย์สีทองของพระธาตุช่อแฮได้อีกด้วย
.
ที่ตั้ง : ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ (ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 15 กิโลเมตร)
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.