พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
Life Community Museum Buengkan
.
ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดบึงกาฬ เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวเล็กๆ แต่มีแนวคิดสุดยิ่งใหญ่ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” โดยคุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังของเมืองไทย
.
ด้วยความที่คุณขาบเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะและการออกแบบ จึงได้นำเอาศิลปะร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชน ทั้งยังให้คำแนะนำในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ในอนาคต
.
บรรยากาศภายในชุมชนจะเป็นยังไง ตามแอดมาดูกันเลย!!
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608968772_71599883_3079310588807667_5306917618785976320_o.jpg)
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
ที่ตั้ง: ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
พิกัด: https://goo.gl/maps/nBxfdciSLnAPHjyt9
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
Facebook : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ
โทร. 086 229 7626, 081 612 8853
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608968855_72254050_3079310525474340_4953787967509364736_o.jpg)
กิจกรรมต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
– พักค้างคืนที่โฮมสเตย์ ราคา 300 บาท/คน (พักได้ 20 คน มีแอร์ทุกห้อง)
– ท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬแบบ One day trip ราคา 599 บาท/คน (รับตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป)
– เช่าจักรยานปั่นชมภาพวาดพญานาคภายในชุมชน ราคา 20 บาท/คัน
– เช่าชุดพื้นบ้านอีสานใส่เที่ยวเก๋ๆ (โสร่งสำหรับผู้ชาย และผ้าซิ่นสำหรับผู้หญิง) ราคา 100 บาท/คน
– ชมศูนย์อาชีพชุมชนยั่งยืน ได้แก่ เครื่องจักสาน ลูกประคบสมุนไพร และยาหม่องกลิ่นตะไคร้หอม
– นอกจากนี้ยังมีบริการให้เช่าสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งศึกษาดูงานด้วย
เงื่อนไขการเข้าชม
– จ่ายเงินก่อนเข้าชม (คนละ 50 บาท)
– ไม่หยิบจับเคลื่อนย้ายสิ่งของ
– ถ่ายภาพให้เต็มที่
– สำรวมกายใจเมื่ออยู่ในห้องพระ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608968887_72298919_3079310582141001_3140157487546630144_o.jpg)
เมื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน เราจะเห็นภาพวาดพญานาคตามผนังบ้านหลายหลังตลอดสองข้างทาง เมื่อเข้าไปจนสุดทาง ก็จะพบกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัด บึงกาฬ ซึ่งเป็นบ้านไม้ทรงไทยอีสานหลังเก่าแก่กว่า 60 ปี ของคุณขาบ ที่ได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์
บริเวณด้านข้างของตัวบ้านที่ต่อเติมออกมาเป็นลานอเนกประสงค์นั้น ก็มีผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านในชุมชนมาวางจำหน่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ กระติ๊บข้าวเหนียว เสื้อผ้า ฯลฯ รวมทั้งยังมีเวทีให้ศิลปิน นักออกแบบ และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาจัดแสดงผลงานอีกด้วย
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608968934_71578795_3079310805474312_8147251857534746624_o.jpg)
หากเพื่อนๆ ลองสังเกตดูตามตัวบ้าน จะเห็นบันไดและประตูหน้าต่างทาด้วยสีเขียว “ตั้งแช” ซึ่งเป็นสีเขียวน้ำทะเลที่สบายตา สื่อความหมายถึงต้นไม้และธรรมชาติ เพิ่มสีสันให้บ้านหลังนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
ชั้นบนของบ้านมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประดับอยู่ทุกห้อง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีมุมจัดแสดงเครื่องแต่งกายเวลาไปวัดของชาวอีสานในสมัยก่อนให้ชมด้วย โดยชาวบ้านนิยมสวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นไหมและผู้ชายนุ่งโสร่ง
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608968978_72113918_3079310795474313_2696630757647974400_o.jpg)
อีกด้านของตัวบ้าน มีห้องครัวพื้นบ้านแบบอีสาน ที่มีเครื่องครัวต่างๆ ที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงไว้ให้ชมด้วย ที่สำคัญมีไหปลาร้าที่คุณขาบบอกให้แอดลองเปิดดมดูด้วยนะ ถ้าอยากรู้ว่ากลิ่นเป็นยังไง เพื่อนๆ ต้องไปลองดมเอง
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969011_71742440_3079310848807641_2910692271277998080_o.jpg)
พื้นที่ด้านนอกตรงข้ามบ้านเป็นลานวัฒนธรรมกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น มีแคร่ไม้ให้นั่งพัก ด้านบนมีโคมไฟสุ่มไก่สุดเก๋ไก๋ และยังมีภาพวาดสีสันสดใสบนกำแพงสังกะสีด้วย สายถ่ายรูปห้ามพลาดเลย เพราะมีพร็อพของจริงให้ถ่ายได้อย่างเต็มที่ ทั้งสุ่มไก่ สุ่มปลา เชือกจูงควาย ใครไปแล้วได้ภาพสวยๆ มาโพสอวดแอดได้เลยนะ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969060_71012108_3079311345474258_653248282155286528_o.jpg)
ใกล้ๆ กับบ้านมียุ้งข้าว ซึ่ง “Alex Face” ศิลปิน Graffiti Street Art ชื่อดังระดับโลก เพิ่งมาสร้างสรรค์ผลงานสุดเจ๋งเอาไว้!! คราวนี้มาในธีม “น้องมาร์ดี กับ พี่นาค” น่ารักน่าชังมาก ใครชอบน้องมาร์ดีต้องมาให้ได้นะ
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969097_71171333_3079350235470369_6472702120947613696_o.jpg)
หากเพื่อนๆ มีเวลา แอดแนะนำให้เดินชมภาพพญานาคที่กระจายอยู่รอบชุมชนให้ทั่วเลยนะ ภาพวาดมากมายเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้ปรับให้มีความทันสมัยแต่ก็ยังสะท้อนความเป็นชุมชนได้เป็นอย่างดี
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969122_71709971_3079311428807583_8054622289271980032_o.jpg)
ภาพพญานาคส่วนใหญ่ที่ปรากฏจะเกี่ยวข้องกับอาชีพและความชอบของเจ้าของบ้านหลังนั้นๆ เช่น พญานาคกับไอศกรีมซันเดย์ พญานาคตำส้มตำ พญานาคกำลังตัดผม พญานาคกับจักรยาน เป็นต้น
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969174_71858852_3079311542140905_5249044201487728640_o.jpg)
ถ้าเดินกันเหนื่อยแล้ว สามารถมาแวะเติมพลังกันได้ที่พิพิธภัณฑ์ (แต่ต้องจองล่วงหน้านะ) ที่นี่เค้ามี “พาแลง” ที่นำเอาอาหารถิ่นมาจัดรวมกันเป็นชุด สำหรับแอดแล้วไม่มีคำไหนที่ไม่อร่อยเลย รสมือแม่ครัวนัวและวัตถุดิบดีมาก ที่สำคัญได้รับรางวัลเกียรติยศชนะเลิศของโลก Local Table จากเวที Gourmand Awards ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วด้วย
.
หากเพื่อนๆ มาตรงกับวันเสาร์ สามารถมาเดินเล่นที่ตลาดชุมชนพอเพียง บริเวณลานวัฒนธรรมตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ มาอุดหนุนอาหารและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้ด้วย
![](https://archived.tatcontactcenter.com/assets/data/blog/942/1608969247_72053859_3078881532183906_5355153202486444032_o.jpg)
การเดินทาง
เครื่องบิน: จากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี มีบริการรถเช่าทั้งรถยนต์และรถตู้
รถยนต์ : จากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 สู่จังหวัดหนองคาย จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ไปจนถึงแยกโพนพิสัย เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2267 ไปจนถึงแยกบ้านตูม เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 4022 ขับไปตามทางเรื่อยๆ จะเห็นป้ายบอกทางไป อ.โซ่พิสัย ทางขวามือ ระยะทางรวม 146 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงนิดๆ
– จาก อ.เมืองบึงกาฬ ใช้เส้นทางลัดผ่านวัดป่าดานวิเวก (ทางหลวงชนบทหมายเลข 3013) และทางหลวงหมายเลข 2095 ระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที
– จากสถานีรถไฟหนองคาย นั่งรถขนส่งประจำจังหวัดไปยัง อ.โซ่พิสัย ระยะทาง 80 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 9 ตุลาคม 2562